รู้สึกเวียนหัวเมื่อใด หยิบขึ้นมาดมสักหนึ่งฟื้ดก็ชื่นใจ..
สิ่งนี้คือไอเทมที่อยู่คู่กับคนไทยและกลายเป็นพฤติกรรมประจำตัวของหลาย ๆ คนที่ขาด 'ยาดม' ไม่ได้ สัปดาห์นี้ เรื่องใกล้ใกล้ตัว เลยขอพาทุกคนมาเปิดประวัติของของใช้ติดตัวชิ้นนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และจากจุดไหนที่ทำให้ยาดมกลายเป็นขวัญใจของคนจากหลากหลายประเทศทั่วโลก มาหาคำตอบไปพร้อมกันได้ในบทความนี้
ประวัติศาสตร์กว่า 6,000 ปีของศาสตร์แห่งการ 'ดม'
ถ้าย้อนเรื่องเล่าประวัติศาสตร์โลก มีหลักฐานที่พบเรื่องการใช้กลิ่นหอมของสมุนไพรเพื่อสรรพคุณทางการรักษาเมื่อ 6,000 ปีที่แล้ว นอกจากในอารยธรรมอียิปต์ที่ใช้กลิ่นหอมที่เกิดจากการเผาเอาไว้บูชาเทพเจ้าแล้ว ในฝั่งของจักรวรรด์โรมัน ก็มีการใช้กลิ่นในการบำบัดรักษา ส่วนในประเทศจีน ช่วง 2,700 ปีก่อนคริสตกาลก็มีการจดบันทึกถึง 'สารหอมจากพืชธรรมชาติ' ถึง 300 ชนิด
สำหรับการปรากฏตัวของยาดมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ได้มีการกล่าวถึงการใช้กลิ่นเพื่อเพิ่มความสดชื่นในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ ที่แต่งขึ้นจากการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โดยตอน ๆ หนึ่งพูดถึง 'กลิ่นสุคนธ์' และ 'ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา' ซึ่งคอนเฟิร์มว่าเริ่มมีการดมกลิ่นหอมของดอกไม้เพื่อเพิ่มความกระปรี้กระเปร่าและเติมความสดชื่นตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว'
จากยาดมตำรับชาวบ้านสู่ "ยาดมตราโป๊ยเซียน"
สูตรยาดมที่ทำขึ้นใช้เองในครัวเรือนมีอยู่หลากหลายมาก ๆ หากเป็นคนไทยโบราณในภาคกลางจะนิยมนำเอาผิวส้มโอมือกับเครื่องหอมอื่น ๆ มาใช้ อีกสูตรที่นิยมกันก็คือเอาพิมเสนมาทำเป็นยาดม จากตำรับชาวบ้าน ยาดมที่ถูกพัฒนากลายเป็นสินค้าที่ถูกผลิตในสเกลใหญ่ขึ้น ครั้งแรกก็คือเมื่อยาดมตราโป๊ยเซียนได้ถือกำเนิดในปีพ.ศ. 2479 ตอนนั้นเป็นสูตรยาดม Pe-Pex และมีการพัฒนาหลอดยาดมให้สามารถใช้แบบทูอินวัน กลายมาเป็นสโลแกน "ใช้ดมใช้ทาในหลอดเดียวกัน" ที่เราพูดกันติดปาก สร้างต้นแบบของยาดมให้กับท้องตลาด รวมถึงก่อรายได้ให้กับโป๊ยเซียนมากถึง 3,000 ล้าน
ยาดม โกอินเตอร์
ภูมิปัญญาแบบไทย ๆ ตกอยู่ในความสนใจของชาวต่างชาติอย่างเป็นที่สุด โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาเมืองไทยและเห็นอิทธิพลของยาดมที่มีต่อการใช้ชีวิตของพวกเรา อย่างรายการโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่นนี้ก็ได้ทำสกู๊ปเล็ก ๆ เกี่ยวกับยาดมของไทย รวมไปถึงการให้แขกรับเชิญในรายการได้ทดลองใช้กันด้วย
ยาดมกลายเป็นไอเทมที่ฮือฮาในญี่ปุ่นขึ้นมาทันใด ขนาดที่ว่าหากคุณเดินเข้าร้านขายของที่ระลึกในบางเมือง หรือเป็นร้านที่รวมเอาของแปลก ๆ จากหลาย ๆ ประเทศ ก็จะเจอกับป้ายที่เขียนเอาไว้ว่า Ya-dom หรือ Inhaler พร้อมกับแผงยาดมจากบ้านเราวางขาย ซึ่งเมื่อสอบถามเพื่อน ๆ ชาวญี่ปุ่นแล้ว คนที่ติดใจส่วนใหญ่จะชอบใช้ยาดมระหว่างชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเพราะการสูดยาดมแรง ๆ เป็นการเติมพลัง ทำให้พวกเขาเฟรชขึ้นมาได้ทันที
นอกจากการปรากฏตัวในสื่อญี่ปุ่นแล้ว การเผยแพร่วัฒนธรรมของยาดมยังเกิดขึ้นตามงานเทศกาลดนตรี หรือปาร์ตี้ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งหนึ่งในอีเวนต์ที่ทำให้ชาวต่างชาติถึงกับเสพติดการดมยาดมก็คือฟูลมูนปาร์ตี้ บล็อกเกอร์หญิงที่ชื่อว่า Orana Velarde ได้เขียนบนเว็บไซต์ของเธอว่ายาดมนี่ล่ะที่เป็นไอเทมที่ขาดไม่ได้ของสายปาร์ตี้ บางคนเต้นไป เอายาดมเสียบจมูกทิ้งเอาไว้ก็มี และใครที่เคยไปพงันจะต้องรู้จักสิ่งนี้อย่างแน่นอน
ยาดม 4.0
พัฒนาการของวงการยาดมเต็มไปด้วยสีสัน นอกจากการคิดค้นสูตรใหม่ ๆ ทั้งการผสมกลิ่นอโรม่าหรือกลิ่นผลไม้อื่น ๆ เข้าไป หรือการครีเอตยาดมสูตรน้ำสำหรับหยดบนหน้ากากอนามัย รูปโฉมของยาดมก็มีการปรับให้สวยขึ้นด้วย จากแท่งพลาสติกธรรมดา ๆ ตอนนี้เรามียาดมในกระปุกดีไซน์มินิมอล มียาดมแบบหัวลูกกลิ้งเนื้อออยล์ ยาดมสูตรออร์แกนิก รวมไปถึงยาดมแบบเปลี่ยนไส้รีฟิลได้ หน้าตาโฉบเฉี่ยวอย่างชิ้นนี้จากแบรนด์ Arma วางขายอีกด้วย
วิงเวียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลมเมื่อไร คว้ายาดมมาใช้ก็หายพลัน ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไปยาดมก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะยาสามัญประจำทุกบ้าน และของใช้ที่เราพกติดตัวกันเป็นประจำ สิ่งที่น่าสนุกคือการได้รอดูการพัฒนาโปรดักต์แบบใหม่ ๆ ออกมาวางขายในท้องตลาด ในอนาคตอันใกล้นี้ คงมียาดมในรูปแบบเจ๋ง ๆ ออกมาให้เราลองใช้อีกมากมายอย่างแน่นอน
อ้างอิง
Somsak ถ้ำยาดมที่ขายน่าจะยี่ห้อวิค Vics เป็นเจ้าแรกมากกว่า 60 ปี เพราะเคยซื้อให้ผู้ใหญ่สมัยเด็กๆ ครับ
20 ต.ค. 2564 เวลา 14.29 น.
HATHAIKARN ช่วงนี้คาดแมส ติดยาดมมากเลย
วันไหนไม่ได้เอาหยดใส่แมส
รู้สึกจะหายใจไม่ออก 😂😂
20 ต.ค. 2564 เวลา 14.35 น.
jib เค้าจ้างโฆษณา..ชิมิ
20 ต.ค. 2564 เวลา 14.20 น.
Pok อยากได้อันใหญ่ๆ แบบที่ตั้งบนโต๊ะพวกผู้ประกาศข่าว
19 พ.ย. 2564 เวลา 23.49 น.
Kong 69 ทุกคนได้ไง กรุและบ้านกรุไม่มีใช้สักคน
28 ต.ค. 2564 เวลา 19.00 น.
ดูทั้งหมด