เรื่องความขัดแย้ง “คนกับช้างป่า” ในประเทศไทยถือเป็นปัญหาที่มีมานาน หลังการลดลงของพื้นที่ป่า เมื่อมีการขยายพื้นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมส่งผลให้แหล่งอาหารของช้างป่าลดน้อยลง
นำไปสู่การที่ช้างป่าออกมาบุกรุกพื้นที่ชุมชนและก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC)
ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ปัญหา อย่างเร่งด่วนในการหาแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างอย่างยั่งยืน วันนี้ คอลัมน์ “ชีวิตติด TECH” จะพาไปดูการนำเทคโนโลยี มาช่วยแก้ปัญหาผ่าน “กุยบุรีโมเดล” ที่เป็นการทำงานร่วมกันของ ทรู คอร์ปอเรชั่น จับมือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ WWF-ประเทศไทย
โดยได้ดำเนินโครงการ เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า กับโซลูชัน True Smart Early Warning System (TSEWS) ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และขยายผลไปยังพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก (ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด)
จากข้อมูลของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่า ภาพรวมของประเทศไทยประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง โดยพบว่าจำนวนช้างป่ามีอยู่ประมาณ 4,013-4,422 ตัว ซึ่งกระจายอยู่ใน 16 กลุ่มป่า 94 พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ และแนวโน้มมีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่พื้นที่ป่าอนุรักษ์มีขนาดเท่าเดิม ส่งผลให้ช้างออกหากินนอกเขตป่า
ทั้งนี้ สถิติ 3 ปีล่าสุด (2564-2566) พบช้างป่าออกนอกพื้นที่มากกว่า 37,000 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลเกษตรกรรวมกว่า 3,800 ครั้ง และที่น่าวิตกคือในช่วง 12 ปี จนถึงปัจจุบัน (2555-2567) มีผู้เสียชีวิตถึง 227 ราย บาดเจ็บ 198 ราย จากการบุกรุกของช้างป่า
“วีระ ขุนไชยรักษ์ “ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน บริษัทเอกชน และชุมชนในพื้นที่ การพัฒนาโครงการระบบเตือนภัยล่วงหน้า ของโครงการนี้ ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัยร่วมกับกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าในการผลักดันช้างให้กลับสู่ป่าอย่างรวดเร็ว
ความร่วมมือนี้ยังเน้นการปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศ เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อชุมชนและช้างป่า สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ตลอดระยะเวลา 7 ปีของการดำเนินงาน ระบบ TSEWS) ได้พิสูจน์ประสิทธิภาพในการสนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่หน่วยผลักดันช้างป่าอย่างต่อเนื่อง
“สถิติล่าสุดในปี 2566 พบเหตุการณ์ช้างป่าบุกรุกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีถึง 1,104 ครั้ง แต่เกิดความเสียหายต่อพืชผลเพียง 4 ครั้ง หรือคิดเป็น 0.36% เท่านั้น นับเป็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2560 ก่อนการติดตั้งโซลูชันที่มีความเสียหายสูงถึง 74.5% สะท้อนให้เห็นว่าระบบแจ้งเตือน TSEWS นี้ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถผลักดันช้างกลับคืนสู่ป่าและป้องกันความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพเกือบ 100%”
ขณะเดียวทาง “มนัสส์ มานะวุฒิเวช” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า ทรูให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืน สำหรับโซลูชัน TSEWS คือตัวอย่างความสำเร็จของแนวคิด Tech for Good ที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ ซึ่งปัญหาสำคัญของความเสียหายในพื้นที่ที่ถูกช้างป่าบุกรุก คือ การไม่สามารถระบุตำแหน่งและคาดการณ์การเคลื่อนที่ของช้างได้ทันท่วงที ส่งผลให้ช้างป่าบุกรุกเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน โซลูชัน TSEWS ที่พัฒนาขึ้นสามารถเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ พร้อมระบบวิเคราะห์ภาพอัจฉริยะเพื่อระบุตำแหน่งช้างได้แม่นยำ สู่การที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อลงมือแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที
สำหรับการทำงานของโซลูชัน TSEWS สามารถใช้เฝ้าระวังช้างป่ากว่า 400 ตัวในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยนำเครือข่ายอัจฉริยะ 4G, 5G ผสานกับเทคโนโลยี AI และอุปกรณ์ IoT พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า ติดตั้งกล้อง Camera Trap พร้อมซิม เชื่อต่อเครือข่าย เพื่อระบุพิกัด และแจ้งเหตุแบบเรียลไทม์ เมื่อกล้องตรวจจับพบช้างออกนอกบริเวณพื้นที่ป่า เริ่มบุกรุก ระบบส่งภาพช้างพร้อมพิกัดแจ้งเตือนไปยังระบบ Cloud จากนั้นศูนย์ปฏิบัติการควบคุม จะแจ้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพร้อมโดรนเข้าตรวจสอบ และทำการผลักดันช้างกลับเข้าป่า ลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น
ด้านผู้บริหารของพื้นที่ คือ “อรรถพงษ์ เภาอ่อน” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี บอกว่า การออกนอกพื้นที่ของช้างป่า ใน พื้นที่ของอุทยานฯ จะมีพฤติกรรมออกมาทางไหน ก็จะออกประจำ แต่เมื่อถูกเจ้าหน้าที่เข้าไปผลักดัน ช้างป่าจะเรียนรู้ก็จะเปลี่ยนทางออก ซึ่งได้มีการเก็บข้อมูลในแต่ละวันเป็น บิ๊กดาต้า จากโซลูชั่นที่ใช้ในทุกครั้ง และจะมีการย้ายกล้อง ตาม หรือไม่ก็ติดกล้องเพิ่มเมื่ช้างเปลี่ยนเส้นทางออกมา การผลักดันจะใช้เสียง หรือ การใช้ปะทัดไล่นก โดยมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 20 คน ในการออกปฎิบัติการในทุกวันผลัดเวรกัน 24 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่ช้างป่าจะลงมาหากินในพื้นที่ชาวบ้านช่วงกลางคืน
“ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีเจ้าหน้าที่รวมประมาณ 100 คน ต้องดูแลพื้นที่ป่าทั้งหมด 605,625 ไร่ และกำลังจะมีการผนวกพื้นที่รอบๆ ประกาศเป็นพื้นที่ป่า เพิ่มอีก 83,000 ไร่ ซึ่งเป็นป่าในโครงการพระราชดำริ แต่มีช้างป่าออกมาบุกรุก เพื่อให้บริหารจัดการโดยภาพรวมง่ายขึ้นภายใต้กฎหมายเดียวกัน คือ พรบ.อุทยานแห่งชาติ ซึ่งทางกรมฯ ได้มีการเสนอร่าง ไปแล้ว รอประกาศพระราชกฤษฎีกา เพื่อมีผลตามกฎหมาย” อรรถพงษ์ เภาอ่อน กล่าว
ถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อทำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา “คนกับช้างป่า”อย่างยั่งยืน โดยจะมีการนำ “กุยบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบขยายไปใช้แก้ปัญหาช้างป่าบุกรุกออกมานอกป่าในพื้นที่ป่าต่างๆทั่วประเทศต่อไป.
Cyber Daily