"สปสช." จับมือ "สภาเภสัชกรรม" เพิ่มบริการทางเลือก เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ รับยาที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเปิดให้บริการเร็วๆนี้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เภสัชกรเป็นหนึ่งในผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่ร่วมดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ส่วนหนึ่งประจำอยู่ในร้านยาที่กระจายอยู่ในชุมชนพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ร้านยาชุมชนอบอุ่น เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) ที่ร่วมเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท โดยปีงบประมาณ 2566 สปสช.ร่วมกับสภาเภสัชกรรมขยายการให้บริการบัตรทอง ที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นเพิ่มเติม
โดยเพิ่มบริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง กรณีมี "อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย" 16 กลุ่มอาการ ตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรม
ได้แก่ อาการปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และ ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู
โดยจะติดตามอาการหลังรับยา 3 วัน หากอาการดีขึ้นก็จะสิ้นสุดการดูแล กรณีอาการแย่ลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีระบบการจัดการเพื่อส่งต่อเข้าสู่การรักษาต่อไป ซึ่งประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
เนื่องจาก สปสช. ได้สนับสนุนการจ่ายชดเชยให้ร้านยา ทั้งค่าบริการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม ค่ายาและเวชภัณฑ์ และค่าติดตามอาการและผลการดูแล โดยเหมาจ่ายในอัตรา 180 บาทต่อครั้ง
ทั้งนี้ บริการเภสัชกรรมปฐมภูมินี้คาดว่าระบบจะมีความพร้อมและให้บริการได้ในเร็วๆ นี้ พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีร้านยาชุมชนอบอุ่นที่ร่วมให้บริการ กว่า 500 แห่งแล้ว
สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการ มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ
1.คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน
2.ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.thหรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ "ร้านยาคุณภาพของฉัน" ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย
หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ว่าจะสามารถรับบริการตามสิทธิบัตรทองได้หรือไม่ หากมีสิทธิก็รับการดูแลโดยเภสัชกร ซึ่งจะให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ หรือแนะนำให้พบแพทย์ในกรณีที่มีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์
กรณีที่รับยาจากร้านยาแล้ว เภสัชกรจะติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการจ่ายยา หากอาการดีขึ้นก็จะสิ้นสุดการดูแล กรณีอาการแย่ลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีระบบการจัดการเพื่อส่งต่อเข้าสู่การรักษาต่อไป
ภาพจาก TNN Online
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ใช้ "บัตรทอง" ต้องรู้! เปิด 5 ช่องทาง ตรวจสอบสิทธิ-หน่วยบริการ
- ขั้นตอน "ย้ายสิทธิบัตรทอง" เปลี่ยนโรงพยาบาลผ่านออนไลน์ รักษาได้ทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน
- "สิทธิบัตรทอง VS สิทธิประกันสังคม" ต่างกันอย่างไร ใครได้รับสิทธิไหน?
- "บัตรทอง 2566" สปสช.อัปเกรดสิทธิประโยชน์ใหม่ ดีเดย์ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
- เช็กสิทธิบัตรทอง ‘โรคข้อเข่าเสื่อม’ ผ่าตัดเปลี่ยนได้ฟรี