ทั่วไป

17 มหาลัย เปิดหลักสูตร Non degree พัฒนาทักษะ รองรับงานอนาคต

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 02 ก.พ. 2565 เวลา 06.18 น. • เผยแพร่ 01 ก.พ. 2565 เวลา 11.51 น.

อว.ลงนามร่วม 17 มหา’ลัย เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) ภายใต้ “โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ เตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคต”

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมเพื่อลงนามในบันทึกข้อตกลงการสนับสนุนการดำเนินการหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/ Upskill/ Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคต ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันอุดมศึกษา 17 แห่ง สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting)

ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงการดำเนินการในครั้งนี้เป็นการลงนามระหว่างกระทรวง อว. กับมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 17 แห่ง ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคต ซึ่งตรงกับทิศทางการพัฒนาระบบการอุดมศึกษาของประเทศเพื่อตอบสนองและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บริบทสำคัญ 3 ประการของโครงการนี้ ได้แก่ บริบทในการพัฒนาคนที่จะนำไปสู่การสร้างอาชีพ ปัจจัยสำคัญคือบุคลากรที่จะสร้างขึ้นมานั้นต้องตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน และที่สำคัญคือ ผู้ใช้ผลผลิตนั้นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาในทุกกระบวนการตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตร การสอนและการใช้ บริบทในการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่ทำให้ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย

แต่ในขณะเดียวกันแต่ละคนจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทักษะที่มีอยู่ต้องถูกปรับเปลี่ยนต่อไปเรื่อย ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

และบริบทประการที่สามคือ ระบบของการผลิตคนของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่จะต้องปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมให้เข้ากับยุคปัจจุบัน ทิศทางการ Reskill/Upskill/Newskill อาจจะไม่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเหมือน degree program บทบาทของหลักสูตรที่เรียกว่าหลักสูตร non degree ก็จะมีความสำคัญมากขึ้นไปด้วย บริบททั้ง 3 ประการนี้ จะนำไปสู่สิ่งที่ได้ร่วมมือกันในครั้งนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาร่วมในโครงการนี้ เรามาทำงานด้วยกันเพื่อที่จะทำให้เห็นภาพว่ากลไกของประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้ดีโดยอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน”

อย่างไรก็ตาม สถาบันอุดมศึกษาที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ในครั้งนี้ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ,มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยแม่โจ้

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี,มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม

ดูข่าวต้นฉบับ