แวดวงวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งวงการที่ไม่ค่อยได้เห็นภาพการเปิดกว้างให้กับผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยระดับโลกมากนัก โดยข้อมูลจากยูเนสโกที่ปรากฏให้เห็นว่า ที่ผ่านมาในเวทีโลก มีนักวิจัยหญิงเพียง 33.3% เท่านั้น ที่ได้รับการระบุชื่อในผลงานวิจัย ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้ว นั่นอาจเกิดมากจากปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ ที่เกิดขึ้นจากการปิดกั้นความรู้ ความสามารถของสตรี ที่อาจจะนำไปสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ และเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชากรโลกก็เป็นได้ จึงเป็นที่มาของการส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนงานวิจัยของนักวิจัยสตรีเพิ่มมากขึ้น
สังคมประเทศไทยในปัจจุบัน ให้ความสนใจกับเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศอย่างเห็นได้ชัด หลายหน่วยงาน มุ่งแก้ปัญหาทั้งในเชิงนโยบาย และการปฏิบัติ เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่ง ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในนั้น
นายแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ตอกย้ำบทบาทของ ลอรีอัล ในฐานะบริษัทความงามระดับโลกที่มองเห็นศักยภาพของนักวิจัยสตรีเสมอมา โดยคุณแพทริค กล่าวว่า “ลอรีอัล กรุ๊ป มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ให้เกิดขึ้นในแวดวงวิทยาศาสตร์”
แพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา
ในแต่ละปี มีนักวิจัยหญิงรุ่นใหม่กว่า 250 คน ทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก ที่ได้รับการสนับสนุนและได้รับมอบทุนจากลอรีอัล โดยมีถึง 7 คนที่ได้รับรางวัลโนเบล สำหรับในประเทศไทยตลอด 21 ปี ได้มอบทุนให้กับนักวิจัยสตรีไทยที่มีผลงานโดดเด่นไปแล้วมากกว่า 80 คน ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ส่งผลให้นักวิจัยสตรีในแวดวงวิทยาศาสตร์ให้ทวีความเด่นชัดยิ่งขึ้น
ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในองค์กรที่เพิ่มขีดความสามารถให้ผู้หญิง ได้โชว์ศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยในปีนี้มีนักวิจัยสตรีในแวดวงวิทยาศาสตร์ 4 คนได้รับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Woman In Science เชิดชูผลงานของนักวิจัยสตรีทั่วโลก โดยมีประเด็นหลักคือ การลดช่องว่างของความเท่าเทียมในวงการวิทยาศาสตร์
ดร. สุญาณี ทองโชติ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รพ.ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ดร.สุญาณี ทองโชตินักวิจัยหญิงจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับทุนวิจัย ที่จะนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดของผู้ป่วย ที่เอามาพัฒนานำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และมุ่งมั่นจะพัฒนางานวิจัยของตัวเองอย่างเต็มกำลัง
“รู้สึกภูมิใจมาก ทุนวิจัยนี้เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดัน ที่จะช่วยพัฒนาแล้วก็ผลักดันให้เรามีแรงบันดาลใจมีความมั่นใจในการที่จะทำงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น เหมือนกับมีคนเห็นค่าของงานเรายิ่งขึ้น แล้วก็รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้วน่าจะพัฒนางานของเราได้ยิ่งขึ้นต่อไป” ดร.สุญาณี กล่าว
ดร.ปิยฉัฏร ช่วยสีนวล จากห้องปฏิบัติการอินทรีย์เคมีสังเคราะห์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ดร.ปิยฉัฏร ช่วยสีนวล จากห้องปฏิบัติการอินทรีย์เคมีสังเคราะห์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นักวิจัยสตรีเจ้าของงานวิจัย ที่จะนำไปสู่การช่วยให้ผู้ป่วย ผู้สูงอายุเข้าถึงการรักษารากฟันเทียมอย่างทั่วถึง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และอยากให้ผลงานวิจัยของตัวเอง เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์หญิงคนอื่นๆ
“ผู้หญิงจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การตั้งครรภ์ ต้องขยัน อดทน ก็จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ รางวัลนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์หญิงทั่วโลกเลยค่ะ” ดร.ปิยฉัฏร กล่าว
รศ.ดร. พรนภา เกษมศิริ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ
ไม่เพียงแต่นักวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพเท่านั้น นักวิจัยสตรีไทยในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ยังเป็นบุคลากรที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะ รศ.ดร.พรนภา เกษมศิริคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น งานวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุทางการแพทย์ ที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น ที่อยากให้ทุกคนมองถึงข้อดีของการนักวิจัยผู้หญิง
“นักวิจัยที่เป็นผู้หญิงสามารถทำงานได้ดีเช่นกัน เรามีความละเอียดรอบคอบ มีมนุษยสัมพันธ์หรือการเข้าถึงข้อมูลที่ดี และก็มีความสดใสในที่ทำงาน เรียกว่าเป็นข้อดีหลักของการเป็นผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์” รศ.ดร.พรนภา กล่าว
รศ.ดร. ธีรนันท์ ศิริตานนท์ จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ
รศ.ดร.ธีรนันท์ ศิริตานนท์จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับงานวิจัยที่นำไปใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ได้ เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ให้คนและธรรมชาติอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างยั่งยืน มองว่าความสามารถของผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคนมากกว่า
“เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่อาจจะไปสนใจศาสตร์ทางอื่น ก็เลยไม่ได้มีคนเข้ามาในวงการวิทยาศาสตร์นี้ จึงขอฝากถึงน้องๆ ผู้หญิง ถ้าเราสนใจก็คือทำเลยค่ะ ประเทศไทยค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องนี้” รศ.ดร.ธีรนันท์ กล่าว
หัวใจสำคัญของผลงานวิจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลกในหลากหลายมิติ ทั้งในมิติของการรักษาทางการแพทย์ มิติของการลดต้นทุนวัสดุ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากพลังนักวิจัยสตรี ที่ทำการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น ไม่เพียงสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคมเท่านั้น แต่ยังควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในแวดวงวิทยาศาสตร์
ลอรีอัล ในฐานะองค์กรด้านความงามชั้นนำของโลก ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 110 ปี มีผลิตภัณฑ์มากถึง 36 แบรนด์ชั้นนำที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยนักวิทยาศาสตร์ บริษัทจึงให้ความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์และมองนักวิจัยสตรีเป็นบุคลากรที่สำคัญ ในการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรม ฉะนั้น การมอบรางวัลในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจเท่านั้น แต่จะช่วยดึงศักยภาพนักวิจัยสตรีออกมาได้อย่างเต็มกำลัง นอกจากจะช่วยส่งเสริมลดช่องว่างของความเท่าเทียมทางเพศ ยังถือเป็นการดึงศักยภาพและความสามารถ พร้อมผลักดันให้นักวิจัยสตรีไทย ได้มีโอกาสเจิดจรัสบนเวทีงานวิจัยในระดับสากลต่อไป