ปภ. แจ้งเตือน 3 ภาค รับมืออากาศหนาวเย็น และ 11 จังหวัดภาคใต้ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เฝ้าระวัง - รับมือ น้ำท่วมและคลื่นลมแรง ช่วง 17 - 20 ธ.ค. 65
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (347/2565) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2565 เวลา 11.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 6-8 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่
ส่วนบริเวณภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีกำลังแรง โดยฝั่งอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนฝั่งอันดามัน มีคลื่นสูง 1–2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 2-3 เมตร รวมถึงกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 57/2565 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ระหว่างวันที่ 17–20 ธันวาคม 2565 ดังนี้
พื้นที่อากาศหนาวถึงหนาวจัด
บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง
ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ กาญจนดิษฐ์ เคียนซา ชัยบุรี ไชยา ดอนสัก ท่าฉาง พระแสง พุนพิน เวียงสระ เกาะสมุย เกาะพะงัน) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม เฉลิมพระเกียรติ ชะอวด เชียรใหญ่ ท่าศาลา ทุ่งสง นบพิตำ ปากพนัง พรหมคีรี พระพรหม ร่อนพิบูลย์ ลานสกา สิชล) พัทลุง (อ.เมืองฯ กงหรา เขาชัยสน ควนขนุน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน ป่าพะยอม ศรีนครินทร์ ศรีบรรพต) สงขลา (อ.เมืองฯ กระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ ระโนด รัตภูมิ สทิงพระ สิงหนคร หาดใหญ่) ปัตตานี (อ.โคกโพธิ์ แม่ลาน หนองจิก) ยะลา (อ.เมืองฯ รามัน ธารโต บันนังสตา กรงปินัง) นราธิวาส (อ.เมืองฯ ตากใบ เจาะไอร้อง บาเจาะ ยี่งอ แว้ง สุไหงโก-ลก สุคิริน รือเสาะ) ภูเก็ต (อ.เมืองฯ) กระบี่ (อ.เกาะลันตา เหนือคลอง) และตรัง (อ.กันตัง หาดสำราญ)
พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง
บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
- ลูกค้าสาว เห็นไรเดอร์ท้องป่อง สงสัยเอาอะไรยัด เปิดออกมาเห็นแล้วจุกอก
- รมว.สุชาติ เข้าแอดมิท รพ. ป่วยปอดติดเชื้อแบคทีเรีย เตือนรักษาสุขภาพ
- นักเรียนม.ปลาย ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมอิแทวอน ถูกพบเสียชีวิต
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
จ.เพชรบุรี (อ.เมืองฯ บ้านแหลม ท่ายาง ชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์ (ทุกอำเภอ) ชุมพร (อ.เมืองฯ ปะทิว สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม) สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ ดอนสัก กาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง เกาะสมุย เกาะพะงัน) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่) สงขลา (อ.เมืองฯ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ เทพา) ปัตตานี (อ.เมืองฯ หนองจิก ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี ไม้แก่น) และนราธิวาส (อ.เมืองฯ ตากใบ)
กอปภ.ก.ได้ประสานจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมืออากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยประชาสัมพันธ์และให้คำแนะนำสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพจากอุณหภูมิที่ลดลง ส่วนจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัดได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ และตรัง เตรียมรับมือสถานการณ์ภัย โดยติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นห้ามเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ส่วนพื้นที่คลื่นลมแรง ให้ประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรง รวมถึงแจ้งให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ หากสถานการณ์ในพื้นที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นลมแรง ให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ ได้สั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) และนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันทีตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์น้ำ พยากรณ์อากาศ และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews