ทั่วไป

Half the World Away บทเพลงที่พูดถึงการออกเดินทาง เพื่อตามหาตัวของเราเอง

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 05 ต.ค. 2566 เวลา 02.01 น. • เผยแพร่ 05 ต.ค. 2566 เวลา 02.01 น.

บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์

Half the World Away

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บทเพลงที่พูดถึงการออกเดินทาง

เพื่อตามหาตัวของเราเอง

ครั้งหนึ่งผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ โนล กัลลาเกอร์ มือกีตาร์และนักแต่งเพลงแห่งวง Oasis เมื่อสักประมาณ 17 ปีที่แล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ช่วงนั้นวง Oasis เดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตที่เทศกาลดนตรี Bangkok 100 Rock Festival ที่เมืองทองธานีในปี 2006

คำถามหนึ่งที่ผมถามโนล คือ “คุณคิดอะไรอยู่ตอนแต่งเพลง Half the World Away” ซึ่งเป็นเพลงที่ผมชอบมากเพลงหนึ่งของวง Oasis

คำตอบของโนล ค่อนข้างสั้นและดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญอะไรเลยด้วยซ้ำ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เขาตอบมาแบบนี้ครับว่า “คุณคงต้องรอให้โตกว่านี้หน่อย อีกสัก 20 ปีข้างหน้าแล้วค่อยมาถามตัวเองว่าผมจะตอบคำถามนี้ว่ายังไง”

นี่คือคำตอบที่ถือว่ามีสาระมากที่สุดท่ามกลางคำตอบที่แทบจะไม่มีแก่นสารอะไรให้จับต้องได้เลยในระหว่างการสัมภาษณ์วง Oasis แบบกลุ่มในช่วงเวลานั้น

จริงๆ แล้วนักข่าวต่างก็ถามคำถามด้วยประเด็นที่น่าสนใจทั้งนั้น แต่โนลและเลียม กัลลาเกอร์ ที่รับหน้าที่ตอบคำถามเป็นหลัก ให้คำตอบที่แทบจะไม่ตรงกับหัวข้อที่ได้ถามไปเลย

จนในที่สุดการสัมภาษณ์ลงเอยด้วยการพูดจาเหน็บแนมทีมฟุตบอลบางทีมและผู้เล่นบางคนในวงการฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก ในช่วงเวลานั้นไปเสียอย่างนั้น

นับได้ว่าเป็น Press Conference ของศิลปินระดับโลกที่แปลกประหลาดที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่ผมเคยเจอมา

ผมคิดว่ามาตั้งแต่นั้นว่า โนลสร้างพฤติกรรมกวนบาทาขึ้นมาเพราะว่าเขาไม่อยากอยู่ในสปอตไลต์

เขาอาจคิดว่าการตอบคำถามแบบเรียกแขกจะทำให้สื่อเลิกให้ความสนใจในตัวเขา

แต่สิ่งที่ได้รับกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าหากพิจารณาจากบางคำตอบที่เขาตอบจากการให้สัมภาษณ์ (อย่างเช่น คำตอบเชิงตั้งคำถามเกี่ยวกับเพลง Half the World Away)

การครุ่นคิดถึงเนื้อเพลงที่เขาแต่ง บอกได้ตรงนี้เลยว่า โนล กัลลาเกอร์ คือเพชรเม็ดงามของวงการนักแต่งเพลง ทั้งการใช้คำ ทั้งการเรียบเรียงประโยค และการแฝงปรัชญาในเชิงการตั้งคำถามเอาไว้ในแทบจะทุกๆ เพลงที่เขาแต่งนั้นลึกซึ้งมาก

และเพลง Half the World Away คือหนึ่งในนั้น

เพลงเพลงนี้บรรจุอยู่ในแผ่นบี-ไซด์ ของเพลง Whatever มีอีก 2 เพลงที่อยู่ในแผ่นนี้ หนึ่งในนั้นคือ Slide Away ซึ่งก็เป็นเพลงที่ดีมากเช่นกัน

จะว่าไปแล้วเพลงในแผ่นบี-ไซด์ของวง Oasis หลายเพลงดีกว่าเพลงที่มีอยู่ในสตูดิโออัลบั้มเสียด้วยซ้ำไป

และ The Masterplan ของวง Oasis คือหนึ่งในอัลบั้มรวมเพลงบี-ไซด์ ที่ดีที่สุดชุดหนึ่งเท่าที่วงการเพลงบริต ป๊อป เคยมีมา

โนลเคยบอกว่า Definitely Maybe อัลบั้มชุดแรกของวงที่วางจำหน่ายในปี 1994 เป็น “Escape Record” เพราะทุกเพลงในอัลบั้มชุดนี้มีเนื้อหาที่วนเวียนอยู่กับการก้าวออกจากตำแหน่งแห่งที่อันน่าเบื่อหน่ายไปสู่สถานที่แห่งใหม่

แต่เสรีภาพที่ถูกสาปของมนุษย์ทำให้ธรรมชาติของมนุษย์หวาดกลัวที่จะก้าวเท้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย

โนลเคยให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าเขาเบื่อเหลือทนในการใช้ชีวิตอยู่แต่ในเมืองแมนเชสเตอร์ตั้งแต่เด็กจนโต และอยากจะไปเสียให้พ้นๆ

ซึ่งก็คล้ายกับฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Trainspotting ที่มาร์ก เรนตัน (สวมบทโดย ยวน แม็กเกรเกอร์) ตะโกนใส่ภูเขาอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ในประเทศสกอตแลนด์ว่า ข้าโคตรเกลียดเลยที่เกิดมาเป็นชาวสก็อตติช นั่นแหละครับ

คำว่า Old City หรือเมืองเก่าในเพลง Half the World Away ก็คือเมืองแมนเชสเตอร์

โนลเคยบอกว่า ในเมื่อยังไม่สามารถหาเงินออกไปจากเมืองนี้ได้ เขาก็คงทำได้แค่แต่งเพลงเพื่อที่หลีกหนีไปจากมัน

ในเนื้อเพลงมีหลายท่อนที่พูดถึงสัญญาณบางอย่างที่กระตุ้นให้เขาทิ้งที่เก่าๆ ไปเพื่อที่จะออกเดินทางตามหาที่ที่เป็นเหมือนหลุมหลบภัยในการเยียวยารักษาจิตวิญญาณของตัวเอง

เป็นเรื่องปรกติที่คนเรามักจะเบื่อการทำอะไรที่มันซ้ำซากในกิจวัตรเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เรารักก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานตั้งแต่เช้ายันเย็นหรือมืดค่ำซึ่งถือเป็นเรื่องปรกติของสังคมในระบอบทุนนิยม

จริงอยู่ที่การทำงานทำให้เรามีเงินทองไปทำสิ่งที่อยากทำ ได้ของที่อยากได้ แต่เราต้องตั้งคำถามว่านี่คือสิ่งที่ชีวิตเราต้องการจริงหรือเปล่า

เพราะลึกๆ แล้วเราทุกคนต่างก็มีเสรีภาพในหัวใจ

ร่างกายเราติดอยู่บนผืนโลกก็จริง แต่จิตใจเราต่างก็โบยบินไปยังที่ไกลแสนไกลด้วยกันทั้งนั้น มีท่อนหนึ่งในเพลงที่แต่งออกมาได้ดีมาก และผมก็ชอบมากเช่นกัน

ท่อนนั้นเขียนออกมาเพื่อสื่อให้เห็นว่า “ร่างกายของคนหนุ่มสาวนั้นนุ่มและเรียบเนียน แต่ภายในจิตใจกลับเต็มไปด้วยริ้วรอยและความหยาบกร้าน” (My body feels young but my mind is very old)

สำหรับโนลแล้วเขามองว่าร่างกายของตัวเองยังยืนอยู่ในเมืองแมนเชสเตอร์ก็จริง แต่จิตวิญญาณของเขากลับอยู่ห่างออกไปไกลถึงครึ่งค่อนโลก

เขาจะตามหามันเจอได้อย่างไรถ้าไม่ออกเดินทางและกล้าที่จะเริ่มก้าวแรกในการเดินทางอันแสนยาวไกลที่กำลังรอคอยเขาอยู่ในภายภาคหน้า

Half the World Away เป็นเพลงที่น่าทึ่งมากครับ เพราะเนื้อหาของเพลงแต่งออกมาง่ายๆ แต่มี between the lines อยู่เยอะมาก

เพลงนี้พูดถึงพรมแดนที่กั้นกลางระหว่างความกลัวและความกล้าที่ถึงแม้จะอยู่ใกล้กันมาก แต่ด้วยอะไรบางอย่างทำให้เรากลับไม่ต้องการที่จะก้าวข้ามผ่านมันไป

นี่คือเพลงที่พูดถึงการตามหาเนื้อคู่ที่ไม่ใช่คนรักหรือใครที่ไหน แต่มันคืออิสรภาพของเราเอง

นี่คือเพลงที่พูดถึงความหวังและความฝันที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจให้ยังคงงอกงามอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์อันแสนเลวร้ายที่สุด

มีเรื่องจริงที่อาจจะทำให้เพลง Half the World Away เสื่อมมนต์ขลังไปบ้าง เพราะแท้ที่จริงแล้วทำนองเพลง Half the World Away เป็นการนำทำนองของเพลง This Guy’s in Love with You ของ เฮิร์บ อัลเพิร์ต และเป็นผลงานการแต่งเนื้อเพลงโดย เบิร์ต บาคารัก และ ฮาล เดวิด มาดัดแปลงและเรียบเรียงใหม่

ครั้งหนึ่ง โนลเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ซาวด์ของสองเพลงนี้แทบจะเหมือนกันเลย ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่จนกระทั่งป่านนี้แล้วผมก็ยังไม่ถูกฟ้อง”

แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม ด้วยความชื่นชอบส่วนตัวที่โนลมีต่อเพลงเพลงนี้ เขาเคยนำเพลง This Guy’s in Love with You มาเล่นสดบนเวทีใน เบิร์ต บาคารัก คอนเสิร์ตเมื่อปี 1996 แถม เบิร์ต บาคารัก ก็ยังมาเล่นเปียโนและทำหน้าที่คุมวงออร์เคสตราให้ด้วย

วันเวลาผ่านไปนาน 2 ทศวรรษ ผมกลับมาครุ่นคิดถึงเพลงเพลงนี้อีกครั้งตามคำแนะนำของโนล

และพบว่ามันสอนอะไรเราได้ดี

เพราะเวลาทำให้เราตกผลึก และมันก็ทำให้เราได้รู้ด้วยว่าจริงๆ แล้ว โนลไม่ได้เกลียดเมืองแมนเชสเตอร์หรอก เขารักเมืองนี้จะตายไป

แต่การอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานจนเกินไปมันก็ไม่ต่างจากการถูกจองจำ การออกจากพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่การเดินทางออกจากเมืองเก่า แต่คือการค้นหาให้เจอว่าสิ่งที่เราหลงใหลใฝ่ฝันในชีวิตจริงๆ คืออะไร

เราอาจไม่จำเป็นต้องออกเดินทางเลยก็ได้ถ้าหากเรารู้จักตัวเอง

และท้ายที่สุดแล้วเราก็จะได้เจอกับใครบางคนที่เคยหลงทางอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง

คนที่อยู่ไกลออกไปครึ่งค่อนโลกคนนั้นก็คือตัวเราเอง

ดูข่าวต้นฉบับ