ทั่วไป

ม.มหิดล แนะปรับวิธีคิดสู่การเป็น "คนมีคุณค่า" สู้วิกฤติ COVID-19

สวพ.FM91
อัพเดต 19 เม.ย. 2564 เวลา 12.40 น. • เผยแพร่ 19 เม.ย. 2564 เวลา 12.39 น.

การทำงานก่อให้เกิดการเรียนรู้ และชีวิตที่มีคุณค่า แม้ในยามวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้ทุกชีวิตต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกวิถีใหม่ เช่นเดียวกับที่ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization - ILO) ได้มีการกำหนดหัวข้อรณรงค์เนื่องในวันแห่งความปลอดภัยและสุขภาพในการทำงานของโลก (World Day for Safety and Health at Work) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 เมษายน ที่จะถึงนี้ เพื่อการเฝ้าระวังและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อมาถึงจุดที่ต้องหยุดพักจากการทำงานเพื่อตั้งหลักและทบทวนในยามที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์ และนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวแนะนำว่า เมื่อยามใดที่เกิดวิกฤติให้หยุดคิด และพิจารณาว่าเรากำลังกลัวอะไร ซึ่งการมีสติอยู่เสมอ คือ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

 

การมีสตินั้นสามารถฝึกได้ในทุกขณะจิต เพียงแค่ได้หยุดอยู่กับตัวเอง แม้ตอนหายใจ โดยการฝึกเป่าลมเข้าปากช้าๆ นับ 1-2-3 ในใจ แล้วเป่าลมออกยาวๆ ประมาณ 1-2 นาที หรือดื่มน้ำช้าๆ โดยรับรู้รส กลิ่น และสัมผัส ตลอดจนการได้อยู่กับธรรมชาติโดยเอาเท้าสัมผัสพื้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

จากนั้นให้เปิดใจยอมรับว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วมา "จัดห้องใหม่" หรือจัดระเบียบความคิดที่ทำให้เกิดปัญญา ซึ่งทุกปัญหามีทางแก้ไข ถ้าทำอย่างมีสติ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ในชีวิตนี้ เราอยากเป็นคนที่มีคุณค่าแบบใด" ซึ่งไม่ว่าเราจะจัด "ห้องใหม่" ออกมาเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรมีอยู่ในห้อง คือ ความอดทน รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ยุติธรรม ช่วยเหลือ แบ่งปัน กตัญญู และให้อภัย เป็นองคาพยพสู่ชีวิตวิถีใหม่

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

"ยิ่งจำ ยิ่งคิด ยิ่งอ่อนแอ ยิ่งตำหนิผู้อื่น" เมื่อให้อภัยตัวเองได้แล้ว อย่าลืมให้อภัย และลองมองสิ่งดีๆ ของผู้ที่อยู่รอบข้าง จะทำให้เราสามารถ "ปลดตะขอ" เพื่อพร้อมรับสิ่งใหม่อย่างมีสติ แม้จะเกิดวิกฤติอีกสักกี่ครั้ง ก็จะสามารถผ่านไปได้อย่างปลอดภัยและมีสุขภาพใจที่แข็งแรงได้ในที่สุด" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง กล่าวทิ้งท้าย

ดูข่าวต้นฉบับ