ทั่วไป

ชัยพล พรพิบูลย์ โรจนะทุ่มลงทุน 5 ปี ทุ่ม 10,000 ล้านบาท

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 21 ก.ค. 2562 เวลา 14.01 น. • เผยแพร่ 21 ก.ค. 2562 เวลา 14.00 น.

สัมภาษณ์

นับตั้งแต่เกิดนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมคึกคักไม่น้อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ธุรกิจนี้จะพัฒนาพื้นที่ให้ตรงใจนักลงทุนได้ เพราะองค์ประกอบในการตัดสินใจมาจากหลายด้าน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายชัยพล พรพิบูลย์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท สวนอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ถึงแผนการขยายพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เพื่อดึงดูดการลงทุนใน EEC

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เปิดแผนพัฒนาพื้นที่ 5 ปี

ปัจจุบันมี 3 พื้นที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คือ 1.สวนอุตสาหกรรมชลบุรี บ่อวิน 1 เนื้อที่ 1,000 ไร่ เปิดดำเนินการแล้ว 2 ปี ขายพื้นที่แล้วกว่า 70% ส่วนใหญ่ยังคงเป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ 2.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เนื้อที่ 843.41 ไร่ เตรียมเปิดดำเนินการต้นปี 2563 3.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) จ.ชลบุรี เนื้อที่ 900 ไร่ ลงทุนกว่า 2,100 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะเริ่มเปิดดำเนินการปี 2564 เน้นดึงนักลงทุนจีน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ การแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจร แปรรูปเกษตร เป็นต้น คาดจะดึงเงินลงทุนได้ 6,000 ล้านบาท

และเตรียมขยายพัฒนาโครงการใหม่อีก 3 โครงการ คือ โครงการชลบุรี หนองใหญ่ เนื้อที่ 2,333 ไร่ จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 หากกระบวนการยื่นขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้รับการอนุมัติและเสร็จขั้นตอน EIA และโครงการชลบุรี บ่อวิน 2 เนื้อที่ 1,082.40 ไร่ และโครงการอยุธยาเฟส 10 เนื้อที่ 1,000 ไร่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนตามแผน 5 ปี ที่วางไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ครึ่งปีหลังลุยโรดโชว์จีน

ทิศทางการลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง จะเห็นว่านักลงทุนจีนเข้ามาใน EEC มาก ทั้งด้วยการย้ายฐานการลงทุนเพื่อผลิตส่งออกไปสหรัฐ และด้วยศักยภาพของไทยจากที่พูดคุยกับนักลงทุนจีน พบว่า แต่ละรายมีรูปแบบไม่เหมือนกัน เช่น บางรายจะซื้อโรงงานเก่าลงทุนเครื่องจักรและผลิตได้เลย บางรายจะเช่าพื้นที่สร้างโรงงานเอง ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อรองรับทั้งกลุ่มซัพพลายเชนที่ดึงมาลงทุนทั้งยวง หรือต้องการให้เราดีไซด์ให้ บางรายยังรอโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะศักยภาพพื้นที่เหมาะสมตรงกับเขามากกว่า จึงเป็นเรื่องที่ผู้ทำนิคมอุตสาหกรรมต้องปรับตัว โรจนะก็ต้องศึกษารูปแบบการลงทุนของแต่ละประเทศ เพื่อให้ตรงกับลูกค้ามากที่สุด

ปีนี้จะเดินสายพบนักลงทุน เน้นที่จีนเป็นหลัก โดยพ่วงไปกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป้าหมายยอดขายในปี 2562 ได้ 500 ไร่ รายได้รวมแตะที่ 10,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2561 ที่มียอดขายและโอนแล้วเพียง 400 ไร่เท่านั้น นับว่ายังคงตัวเลขการเติบโตที่ดี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไม่แข่งราคา ชูบริการ

แม้ใน EEC จะมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง แต่การแข่งขันจะไม่ใช่เรื่องของราคา เพราะราคาที่ดินใน EEC นับว่าสูงอยู่แล้ว หากยังแข่งกันด้วยราคาอีกจะไม่ส่งผลดี ดังนั้น ตอนนี้จึงแข่งกันด้วยเรื่องการบริการ และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ ไฟฟ้า น้ำ การบำบัดน้ำเสีย การพัฒนาและดูแลลูกค้าเดิม มันคือหัวใจของการทำธุรกิจนี้

ขยายสิทธิประโยชน์ “ปราจีนฯ”

ใน EEC นักลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ตามพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 5 ปี สำหรับอุตสาหกรรม S-curve ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด แต่ก็หวังว่ารัฐบาลจะขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมไปถึง จ.ปราจีนบุรี เพราะเป็นพื้นที่ที่มีนักลงทุนสนใจเช่นกัน

ดูข่าวต้นฉบับ