สุขภาพ

ไข้เลือดออก อันตรายจากยุงลาย – อาการของไข้เลือดออก

Campus Star
เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 11.04 น.
ไข้เลือดออก อันตรายจากยุงลาย 1. ระยะไข้ ทุกรายจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักเกิน 38.5 องศาเซลเซียส มักมีอาการเบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้

โรคไข้เลือดออก ชื่อนี้ยังได้ยินอยู่บ่อยๆ จนเป็นที่คุ้นหูของคนทั่วไป ในช่วงฤดูฝนแบบนี้ การเพาะพันธุ์ของยุงลายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกที่จะตามมาในที่สุด โดยจากสถิติกรมควบคุมโรค ปี 2562 (ข้อมูลเริ่มต้นจากวันที่ 1 ม.ค. ถึง วันที่ 25 มิ.ย. 62) พบว่า สถิติคนป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน 1.6 เท่า ผู้ป่วยเสียชีวิต 54 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.15

ไข้เลือดออก อันตรายจากยุงลาย วายร้ายตัวเล็ก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พญ.ฉัฐฐิมา เสาวภาคย์ กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาล พระรามเก้า กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี

อาการของไข้เลือดออก

โดยอาการของไข้เลือดออกมีทั้งหมด 3 ระยะ คือ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. ระยะไข้ ทุกรายจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักเกิน 38.5 องศาเซลเซียส มักมีอาการเบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีน้ำมูก หรือไอ อาจพบผื่น จุดเลือดออกตามผิวหนังได้

2.ระยะวิกฤต (ช็อค) เป็นระยะที่มีการรั่วของน้ำออกนอกหลอดเลือดซึ่งอยู่ในช่วง 24-48 ชั่วโมง ที่มีไข้ลงอย่างรวดเร็ว และประมาณ 1/3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง มีการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว มีภาวะน้ำท่วมปอด ตับวาย ภาวะการรู้สติเปลี่ยนไป และจะเสียชีวิตในเวลา 12-24 ชั่วโมง หลังจากเริ่มช็อค แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิด ก็จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

และ3.ระยะฟื้นตัว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อค เมื่อไข้ลดลงส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการดีขึ้น มีปัสสาวะออกมากขึ้น เริ่มมีความอยากอาหาร มีผื่นแดงคันตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยระยะฟื้นตัวใช้เวลา 2-3 วัน ทั้งนี้ ระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออก ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7-10 วัน

เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน

และในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของไข้เลือดออก ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ป่วยเด็ก เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกแล้วป่วยซ้ำด้วยไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ใหม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี่ในบางสายพันธุ์ที่อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น และผู้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือแท้งบุตรได้

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก

ขณะที่การรักษาโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก ฉะนั้นการรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และควรมาพบแพทย์หากมีอาการไข้สูง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย พร้อมช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในบ้านและในชุมชน ด้วยมาตรการ “3 เก็บ 3 โรค คือ

1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถาง หรือแจกันดอกไม้ทุกสัปดาห์

2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

ซึ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลายอีกด้วย

บทความแนะนำ :

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Nakorn
    ขอบคุณครับ สำหรับความรู้ เยี่ยมเลย...
    19 ก.ค. 2562 เวลา 10.15 น.
ดูทั้งหมด