ไลฟ์สไตล์

Hajime Isayama | ศิลปินที่วาดความกลัวในแต่ละช่วงชีวิตออกมาเป็นยักษ์ไททัน จากมังงะ Attack on Titan

becommon.co
อัพเดต 10 เม.ย. 2564 เวลา 12.47 น. • เผยแพร่ 01 เม.ย. 2564 เวลา 12.59 น. • common: Knowledge, Attitude, make it Simple

หลายคนรู้จัก Attack on Titan ในรูปแบบมังงะ หลายคนรู้จักจากอนิเมะ

มีคนพูดถึงเรื่องนี้อย่างหนาหู แต่ล่าสุดที่ทำให้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งคงเพราะ รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย บอกว่านี่เป็นอนิเมะที่เธอกำลังติดงอมแงม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มังงะเรื่อง Shingeki no Kyojin หรือ Attack on Titan เป็นเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับไททัน ยักษ์ที่กำลังจะกลืนกินเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้สูญสิ้น โด่งดังไปทั่วโลกจนมียอดขายกว่า 52 ล้านเล่ม ด้วยหลากหลายเหตุผล อาจเพราะนี่ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อแพ้ชนะเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเกมการเมือง เป็นการตั้งคำถามถึงโลกนอกกำแพง พูดถึงสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ที่อยากจะเอาชนะความกลัวที่มาในรูปแบบยักษ์ไททัน เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นส่วนผสมของทั้งชีวิตที่ผ่านมาของ ฮาจิเมะ อิซะยะมะ (Hajime Isayama) นักวาดมังงะชาวญี่ปุ่นวัย 34 ปี

ฮาจิเมะ อิซะยะมะ ในห้องทำงานของเขา (Photo : www.reddit.com/r/titanfolk)

ราวๆ 10 ปีที่แล้ว ยุคที่เรายังมีร้านเช่าการ์ตูนอยู่ในละแวกบ้าน เรื่องที่ฮิตที่สุดคงหนีไม่พ้นวันพีซ (One Piece) ท้ายเล่มจะมีข้อความเล็กๆ จากนักเขียนทักทายคนอ่านในนาม ‘อาจารย์โอดะ’ (เออิจิโร โอดะ : Eiichiro Oda) หน้าจอมือถือไร้สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่โชว์ได้แค่เบอร์โทรในตอนนั้น ทำให้เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าอาจารย์โอดะคนนี้มีหน้าค่าตาเป็นอย่างไร แต่เดาจากลายเส้นและเรื่องที่สนุกราวกับเสกออกมาอย่างนี้ ‘อาจารย์’ คงจะเป็นคุณลุง หนวดสีขาว สวมหมวกเบเรต์ นั่งถือพู่กันวาดภาพบนโต๊ะที่เต็มไปด้วยต้นฉบับหนาปึก กว่าจะได้เห็นหน้าของอาจารย์โอดะเวลาก็ล่วงเลยมาหลายปีให้หลัง ตอนที่พวกเราเริ่มใช้กูเกิลเสิร์ชดูภาพได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
เออิจิโระ โอดะ (Eichiro Oda) หรือ อาจารย์โอดะ ผู้วาดมังงะเรื่องวันพีซ

คำว่า ‘อาจารย์’ หรือ ‘เซนเซย์’ ในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้หมายถึงคนที่สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยเสมอไป แต่ยังใช้เป็นคำเรียกคนที่มีความสามารถ เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง และนักวาดการ์ตูนก็ถูกรวมอยู่ในนั้นด้วย

เช่นเดียวกับอาจารย์ฮาจิเมะ อิซะยะมะ เจ้าของลายเส้นบนกล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็กของยักษ์ไททัน หลังจากที่เสิร์ชชื่อของเขาในกูเกิล เราก็พบว่าเขาไม่ได้สวมหมวกเบเรต์แต่อย่างใด แต่เป็นชายหนุ่มอายุ 34 ปีที่ดูอ่อนกว่าวัย มาในลุคกางเกงขาสั้นสบายๆ พร้อมสเวตเตอร์มีฮู้ดตัวโปรด บนโต๊ะทำงานของเขามีรูป Momoiro Clover Z วงไอดอลที่ชื่นชอบแปะเอาไว้ เขาตั้งรูปโปรไฟล์ทวิตเตอร์เป็นที่รูปที่เขาแชะภาพคู่กับคุมะมง มาสคอตสีดำแก้มแดงประจำจังหวัดคุมาโมโตะ ทั้งภาพและบทสัมภาษณ์ของฮาจิเมะปรากฏอยู่ในสื่อมากมายกว่าที่เราคิด เขาดูเรียบง่ายและสบายๆ ต่างจากเรื่องราวการต่อสู้อันโหดร้ายของมนุษย์กับยักษ์ไททันในมังงะที่เขาวาด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
(Photo : Apple Daily, September 19, 2013)

บ้านเกิดของฮาจิเมะตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในเมืองฮิตะ จังหวัดโอะอิตะ บนเกาะคิวชูทางตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ครอบครัวของเขาปลูกบ๊วยและข้าวเป็นอาชีพหลัก

ฮาจิเมะในวัยเด็กไม่ได้โดดเด่นด้านไหนเป็นพิเศษ ผลการเรียนของเขามักอยู่รั้งท้ายเพื่อนๆ เสมอ ทำให้เขารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมาตลอดว่าหลังเรียนจบตัวเองคงไม่มีโอกาสได้ทำงานดีๆ เหมือนคนอื่น

งานอดิเรกของฮาจิเมะคือการวาดรูปและเล่นของเล่น แม้ในชั้นประถมต้นที่เด็กผู้ชายจะเลิกเล่นของเล่นแล้วพากันออกไปผจญภัย แต่เขากับกลุ่มเพื่อนสนิทก็ยังชอบเล่นของเล่นและวาดรูปสัตว์ประหลาดเป็นชีวิตจิตใจ ตั้งแต่จำความได้ ‘ไดโนเสาร์’ เป็นสิ่งที่เขาวาดบ่อยที่สุด ระหว่างเรียนชั้นมัธยมปลาย เขาลองวาดมังงะส่งประกวดอยู่หลายครั้ง พอเรียนจบจึงเลือกเรียนต่อเฉพาะทางด้านการออกแบบมังงะในวิทยาลัยศิลปะ Kyushu Designer Gakuen

ทั้งชีวิตที่ผ่านมาฮาจิเมะไม่เคยออกนอกอาณาเขตเกาะคิวชูบ้านเกิดเลยสักครั้ง วิวที่เขามองเห็นจากหน้าต่างห้องนอนมีเพียงภูเขาลูกใหญ่ที่โอบทั้งหมู่บ้านไว้ในอ้อมอก ดูคล้ายกับกำแพงเมืองสูงๆ ที่ปกป้องชาวเอลเดียเอาไว้จากยักษ์ไททันในมังงะที่เขาเขียน ฮาจิเมะมักจินตนาการถึงโลกที่อยู่นอกกำแพงภูเขามาเสมอ นั่นทำให้เขาคิดว่าสักวันจะต้องออกไปใช้ชีวิตนอกเงาของภูเขาในบ้านเกิดสักครั้ง

พออายุได้ 20 ปีเต็ม ฮาจิเมะย้ายมาอยู่ในโตเกียว เพราะอยากเป็นนักวาดการ์ตูนเต็มตัว เขาทำงานพาร์ทไทม์ที่อินเตอร์เน็ตคาเฟ่เพื่อให้มีรายหล่อเลี้ยงอาชีพนักวาด เขาแทบไม่มีเวลาว่างเพราะทำงานไปด้วย วาดการ์ตูนไปด้วย พอว่างก็เล่นเกม Muv-Luv Alternative เกมนี้เป็นเกมวาบหวิว 18+ เป็นเรื่องราวของเอเลี่ยนที่เข้ามาโจมตีโลก ต้อนคนให้จบมุมและกวาดล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้สิ้นซาก

(Photo : www.mkproduction.home.blog)

เขาเล่าว่าเกมนี้เป็นต้นกำเนิดที่ทำให้เขาเขียนมังงะเรื่องใหม่ Shingeki no Kyojin หรือ Attack on Titan โดยได้หยิบเอาความกลัวที่ต้องถูกไล่ล่าจนหลังชนฝามาเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของมนุษย์กับยักษ์ไททัน ฮาจิเมะกล่าวติดตลกว่าสำหรับเขาแล้ว เกมผู้ใหญ่ที่มักจะมีป้าย 18+ แปะเตือนนั้น ทำหน้าที่เหมือนดินอันอุดมสมบูรณ์ที่เพาะปลูกศิลปินชั้นดี

ความกลัวเบื้องหลัง Attack on Titan

Shingeki no Kyojin – Attack on Titan หรือ ผ่าพิภพไททัน เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.845 ที่เมืองเอลเดีย ซึ่งอยู่ด้านในกำแพงสูงตระหง่านมานานกว่า 100 ปี โลกข้างนอกนั้นเต็มไปด้วยอันตราย เพราะมียักษ์ไททันกินคนที่พยายามจะทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้สูญสิ้นไป

เมื่อกำแพงมาเรียถูกทำลาย ก็ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เอเรน เยเกอร์ เป็นหนึ่งในคนที่เสียแม่ไปจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เขาจึงชักชวน มิคาสะ อัคเคอร์แมน และ อาร์มิน อัลเรลโต ผู้เป็นเพื่อนสนิทไปเข้าฝึกเป็นทหารเพื่อต่อสู้กับไททัน และปกป้องประชากรของเมืองให้ปลอดภัย

(Photo : Attack on Titan)

ฮาจิเมะเติบโตมากับธรรมชาติและมักสังเกตเห็นห่วงโซ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก เขาเห็นว่าสิ่งมีชีวิตหนึ่งมักจะกลืนกินอีกสิ่งหนึ่งเป็นอาหารเสมอ แม้ว่ามันจะดูโหดร้ายและน่ากลัว แต่นั่นก็เป็นกฎของโลกใบนี้ เขามองไททันเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่จะมากลืนกินมนุษย์ และมันเป็นกฎเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในมังงะของเขา

นอกจากความกลัวที่ว่าแล้ว ยังมีความกลัวในแต่ละช่วงชีวิตของฮาจิเมะที่ถูกวาดออกมาเป็นยักษ์ไททันอีกด้วย

เขากลัวสัตว์ประหลาด กลัวที่จะกระโดดน้ำกับเพื่อน และ… กลัวคนเมา

‘กลัวสัตว์ประหลาด’ จนไม่กล้าไปเข้าห้องน้ำคนเดียว

ตอนยังเรียนชั้นประถม ฮาจิเมะดูอนิเมะเรื่อง Hell Teacher Nube หรือ มืออสูรล่าปีศาจ และนั่นทำให้เขาจดจำอย่างไม่มีวันลืมเลือน ในเรื่องมีโมนาลิซ่าที่หน้าตาบิดเบี้ยว โผล่หัวออกมาจากภาพวาดแล้วกินคนเป็นๆ ภาพความสยดสยองในวันนั้นยังติดตาฮาจิเมะมาจนทุกวันนี้

“ตอนนั้นผมรู้สึกกลัวมาก กลัวจนไปเข้าห้องน้ำคนเดียวไม่ได้ ดูเหมือนว่าผมกลัวไททันเหมือนกับที่ผมกลัวโมนาลิซ่ากินคนที่ผมเคยดูตอนเด็ก” ฮาจิเมะให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Apple Daily (พฤศจิกายน, 2013)

(Photo : Hell Teacher Nube)

เพราะกลัวเขาจึงท้าทาย ยิ่งกลัวเขาก็ยิ่งเสพความสยองขวัญ ฮาจิเมะเป็นคอหนังตัวยงมาตั้งแต่เด็ก ในแต่ละปีเขามักจะออกมาจัดอันดับหนังโปรดในดวงใจที่ได้ดูในปีนั้นๆ อยู่เสมอ นอกจากแนวไซ-ไฟแล้ว หนังที่เขาชอบมาตั้งแต่เด็กคือหนังสัตว์ประหลาด ไม่ว่าจะเป็น Godzilla, Monthra, Gamera หรือ Jurassic Park นี่ยังเป็นที่มาที่ทำให้ฮาจิเมะสนใจศิลปะการต่อสู้และสงครามระหว่างมนุษย์กับสัตว์ประหลาดไปด้วย

‘กลัวที่จะกระโดดน้ำ’ 

ตั้งแต่ยังเด็กฮาจิเมะเชื่อว่าคนเราควรต่อสู้จนตัวตาย หากเหลือถนนเพียงเส้นเดียวที่จะนำไปสู่บทสรุปได้ ครั้งหนึ่งเขาไปผจญภัยกับกลุ่มเพื่อนที่ริมแม่น้ำ ในขณะที่คนอื่นๆ ทยอยกระโดดลงมาจากโขดหินลงไปในน้ำ ฮาจิเมะก็พบว่าเขาเองไม่กล้าพอที่จะทำแบบนั้น และตัดสินใจหันหลังเดินกลับบ้าน

เขารู้ดีว่าการกระโดดน้ำครั้งนั้นเป็นเหมือนพิธีกรรมหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ว่าเด็กชายอย่างพวกเขากำลังจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขานึกเสียใจที่ไม่ได้กระโดดลงไปเหมือนกับเพื่อนๆ ฮาจิเมะพยายามถ่ายทอดความรู้สึกกลัวในวันนั้นออกมาเป็นภาพวาด และเริ่มวาดรูปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาเชื่อว่าหากวันนั้นเขากล้าพอที่จะกระโดดลงไป เขาอาจจะไม่ลงมือวาดอะไร และอาจไม่มี Attack on Titan อย่างในวันนี้ก็เป็นได้

กลัวคนเมา’ 

ทุกๆ คืนในร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ที่ฮาจิเมะทำงานอยู่ มักมีลูกค้าที่เมาจนหัวทิ่มหัวตำมาเยือนอยู่บ่อยๆ เขาเพิ่งรู้ในตอนนั้นเองว่าเขากลัวมนุษย์ขาดสติที่ไม่สามารถสื่อสารและเข้าใจสิ่งที่เขาพูดได้ เขาคิดว่าความกลัวเกิดจากความพยายามที่จะสื่อสารกับใครสักคน แต่เขากลับไม่เข้าใจเลยสักคำ ฮาจิเมะรู้สึกว่ามันน่ากลัวจนขนลุก เมื่อสิ่งที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์กลับดูไม่เหมือนมนุษย์เลยแม้แต่น้อย เขาคิดว่าไททันก็น่าขนลุกขนพองด้วยเหตุผลเดียวกัน

(Photo : Attack on Titan)

เพราะอยากหลุดพ้นจากชีวิตประจำวันม้วนเดิมที่ฉายซ้ำๆ ในร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ทำให้ฮาจิเมะเขียนมังงะเรื่องนี้จนสำเร็จ เขาเอาไปเสนอกับโชเน็น จัมพ์ (Shonen Jump) หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งตีพิมพ์มังงะเรื่องดังอย่างวันพีซ  และ ดราก้อนบอล (Dragon Ball) ทว่ามังงะเรื่องล่าสุดของเขามีเนื้อหาที่หนักเกินไป รวมถึงมีฉากเลือดสาด แผลสดให้เห็นกันตั้งแต่ตอนแรกๆ บรรณาธิการมองว่านี่ไม่เหมาะจะเป็นการ์ตูนโชเน็งให้เด็กผู้ชายอายุต่ำกว่า 18 ปีอ่าน จึงขอให้เขาปรับเนื้อหาให้เบาลงกว่าเดิมเพื่อให้ตีพิมพ์ได้ อีกทั้งงานของเขายังถูกวิจารณ์ ถึงเนื้อเรื่องจะดี แต่ลายเส้นก็ยังไม่น่าดึงดูดเท่าไหร่ ฮาจิเมะเชื่อว่างานของเขาดีด้วยตัวของมันเอง จึงเลือกที่ไม่ปรับเนื้อเรื่องให้เบาลงอย่างที่บรรณาธิการแนะนำ แต่เขาเลือกที่จะเฟ้นหาหนังสือการ์ตูนหัวอื่นที่สามารถเผยแพร่มังงะของเขาได้

 

ผมไม่ชอบมังงะที่ขึ้นอยู่กับงานวิจัยทางการตลาดว่าตัวละครหรือพล็อตแบบไหนจะได้รับความนิยมจากคนอ่าน พอคิดแบบนั้น คุณก็จะไม่มีวันทำอะไรใหม่ๆ  ผมอยากเห็นคนทำสิ่งใหม่ๆ มาเสมอ เลยตัดสินใจลองทำมันด้วยตัวเอง

 

ฮาจิเมะเล่าถึงความตั้งใจของเขา

แม้ในตอนนั้นฮาจิเมะจะคิดว่าตัวเองวาดรูปไม่เก่ง ผลงานนี้โดนปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันผลงานของเขาก็ทยอยได้รับรางวัลให้ได้ชื่นใจในฐานะนักเขียนบ้าง ในปี 2008 Shingeki no Kyojin ได้รับรางวัลในสาขา Fine Work จากเวที Magazine Grand Prix ต่อมามังงะลำดับที่สองและสามของเขา Heart Break One และ Orz ก็ได้รับรางวัลบนเวทีประกวดเช่นกัน

ฮาจิเมะเดินหน้าตามหาหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ที่เหมาะกับเขา จนท้ายที่สุดในปี 2009 Shingeki no Kyojin ก็มาลงเอยที่นิตยสารรายสัปดาห์ Bessatsu Shonen Magazine ในเครือของบริษัทสิ่งพิมพ์โคดันฉะ (Kodansha) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากที่ตีพิมพ์ Shingeki no Kyojin ก็โด่งดังไปทั่วโลกจนถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะและภาพยนตร์ จากมังงะที่โดนสำนักพิมพ์ปฏิเสธในครั้งแรกกลายมาเป็นเรื่องที่คนพูดถึงอย่างล้นหลาม บางคนตีความว่าไททันสะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคมบ้าง สะท้อนภัยธรรมชาติบ้าง ไปจนถึงตีความถึงเรื่องของการทหารในญี่ปุ่นบ้าง นั่นทำให้ฮาจิเมะตกใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะในตอนแรกเขานึกเพียงว่าจะทำอย่างไรให้มังงะเรื่องนี้สนุก แต่ก็เป็นเรื่องดีๆ หากคนจะตีความมังงะเรื่องนี้ไปตามชีวิตของแต่ละคน และเขาก็ดีใจที่คนได้มาแชร์ไอเดียกัน และยิ่งดีใจหากมังงะมีส่วนช่วยทำให้คนดูหายเครียดและรู้สึกดีมากขึ้น

ไม่เคยคิดว่ามังงะของตัวเองจะไปได้ไกลขนาดนี้ 

“จริงๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมต้องการตั้งแต่แรกนั่นแหละ แต่ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะขนาดนี้ ดูเหมือนว่ามันจะได้รับความนิยมมากกว่าที่ผมคิดไว้ว่าจะโด่งดังแค่ในบ้านเกิด”

“ผมเกิดขึ้นจาก Attack on Titan เรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผม ทำให้รู้สึกราวกับว่าผมได้ทำหน้าที่ในโลกนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว” ฮาจิเมะให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Brutus (พฤศจิกายน, 2014)

ในตอนนั้นเขาไม่เคยคิดว่าการเลี้ยงชีพด้วยมังงะนั้นเป็นเรื่องง่าย เพราะนี่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือด ฮาจิเมะฝันไว้เพียงว่าเขาจะเลี้ยงชีพตัวเองพอได้จากการวาดมังงะเพียงเท่านั้น ไม่ได้หวังว่าจะประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างในทุกวันนี้

ฮาจิเมะคิดว่านี่เป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับเขามาก และคิดว่านักวาดส่วนใหญ่ก็คงรู้สึกไม่ต่างกันกับเขาที่ว่า อุตสาหกรรมนี้ช่างแข่งขันสูงและยากเย็น

เขาเหมือนนักวิ่งมาราธอนที่วิ่งมานานถึง 11 ปี เหลืออีกเพียง 3 ตอน มังงะเรื่องนี้ก็จะมาถึงบทสรุป ฮาจิเมะเผยว่าเขาดีใจที่เรื่องราวกำลังจะคลี่คลายเสียที และได้วางแผนตอนจบทั้งหมดไว้แล้ว เพียงแต่ว่าเขาเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าตัวละครจะรู้สึกต่อเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร

ชีวิตบทใหม่ของฮาจิเมะที่ไม่ได้เขียนเรื่องไททันแล้ว เขาอยากลองเขียนมังงะแนวตลกร้ายดูสักครั้ง และยิ่งไปกว่านั้นคือตลอด 3 ปีให้หลังมานี้ เขามักไปใช้บริการห้องซาวน่าเป็นประจำ จึงได้แรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าว่าอยากเปิดกิจการซาวน่าเป็นของตัวเอง

ความหลงใหลในซาวน่าของฮาจิเมะนั้นเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่แฟนๆ ถึงขนาดที่ว่าวาดรูปตัวละครจาก Attack on Titan ลงบนปกนิตยสาร Bessatsu Shonen Magazine ฉบับเดือนพฤษภาคม 2020 เลยทีเดียว

 

อ้างอิง

  • Heather Chen and Mariko Oi.Attack on Titan: a reclusive artist and his man-eating giants.https://bbc.in/39xG42a
  • mokugyo.14 Things To Know About Attack on Titan Creator Hajime Isayama (Part 1,2).https://bit.ly/3rFIxOe
  • Apple Daily(September 19, 2013).Hajime Isayama: “The ending of Snk has been decided”.https://bit.ly/2Oh2w8o
  • Brutus (November 2014).Interview with Hajime Isayama, Creator of Attack on Titan : “Better to Have Memorable Art, Even Memorably Bad Art, and Stand Out”.https://bit.ly/3fvC1Hj
  • Interview on TBS.Hajime Isayama Interview 2020 (English Subs) | Attack on Titan Manga.https://bit.ly/2PMPhfO
  • Norma Editorial.Entrevista a Hajime Isayama, autor de Ataque a los Titanes.https://bit.ly/39sj2tx
ดูข่าวต้นฉบับ