“แป๊ะก๊วย” เมล็ดสีเหลืองๆ คล้ายหยดน้ำ เป็นพืชพรรณดึกดำบรรพ์ ที่มีมาตั้งแต่ 270 ล้านปีในยุคเพอร์เมียน ก่อนไดโนเสาร์ครองโลก ในยุคมีโซโซอิก (Mesozoic)เสียอีก
คนจีนกับ “ แป๊ะก๊วย ”
ชาวจีนผูกพันกับต้นแป๊ะก๊วยมายาวนานไม่ต่ำกว่า 2,800 ปี โดยนำเมล็ดแป๊ะก๊วยที่เรียก เป๋ยกัว (Bai Guo) หรือ หยิน ซิง (Yin Xing) มารับประทานและใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคหืด โรคจากความหนาวเย็นที่เกิดตามนิ้วมือ นิ้วเท้า ส่วนชาวญี่ปุ่นนิยมอบเมล็ดแป๊ะก๊วยเพื่อรักษาอาการลมพิษ
แป๊ะก๊วย มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น กิงโก้ (Gingko) ต้นเฟิร์นก้านดำ (Maidenhair tree) ต้นบ๊วยสีเงิน Japanese silver apricot, ต้นคิว (Kew tree) เนื่องจากต้นแป๊ะก๊วยจะออกดอกตกผลใช้เวลานาน คนปลูกไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ปลูก จึงถูกเรียกว่า ต้นปู่-หลาน (Kung Sun Shu) ในศตวรรษที่ 17
ในภาษาอังกฤษ ต้นแป๊ะก๊วย ถูกเรียกว่า กิงโกะ หรือ เฟิร์นก้านดำ (maidenhair tree) เนื่องจาก รูปทรงของใบแป๊ะก๊วย เหมือนกับใบเฟิร์นก้านดำที่มีลักษณะคล้ายพัด เนื่องจากต้นแป๊ะก๊วยตามธรรมชาติอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เช่นเดียวกับ แพนด้ายักษ์ ทำให้แป๊ะก๊วยได้สมญาอีกอย่างว่า แพนด้ายักษ์แห่งมวลพฤกษา “Giant panda of plants” นั่นเอง เมื่อปี พ.ศ. 2402 นักสำรวจชาวอมเริกัน นาย เอฟ. เมเยอร์ (F. Meyer) ได้ค้นพบซากฟอสซิลแป๊ะก๊วยในจีน ชาร์ล ดาร์วิน จึงเรียกชื่อแป๊ะก๊วยว่า “ต้นไม้ฟอสซิลที่มีชีวิต (Fossil Tree )”
ลักษณะพฤกษศาสตร์
แป๊ะก๊วย เป็นพืชอยู่ในวงศ์ Ginkgoaceae จัดเป็นสกุลพืชที่มีอายุมากที่สุดของพืชมีเมล็ดทั้งหมด คนมักจะเข้าใจว่าแป๊ะก๊วยเป็นพืชดอก แต่แท้จริงเป็นพืชไม่มีดอก คือ จิมโนสเปิร์ม เหมือนปรง สน เพราะเปลือกหุ้มเมล็ดที่อวบอ่อนนุ่ม ทำให้คิดว่าเป็นผล
แป๊ะก๊วย เป็นพืชที่มีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ดอกตัวผู้จะออกเป็นช่อ ส่วนดอกตัวเมียออกเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ใน 1 ดอก จะมีไข่ 2 อัน แป๊ะก๊วยต้นตัวผู้ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง คล้ายหางกระรอก ติดอยู่ตรงปลายของกิ่งสั้น มากถึง 6 ช่อ ดอกตัวผู้สร้างละอองเกสรในระหว่างเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคม แล้วอาศัยแรงลมพัดพาไปสู่ดอกตัวเมียบนต้นตัวเมีย ต้นตัวผู้ออกดอกเป็นช่อมีสีเหลือง ช่อยาว 1.2-2.2 เซนติเมตร
ช่อดอก อยู่ส่วนปลายของกิ่งสั้น ดอกตัวผู้ผลิตละอองเกสรช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ละอองเกสรตัวผู้ (รูปร่างคล้ายเรือ) จะถูกลมพัดไปที่ดอกที่ต้นตัวเมีย ต้นตัวเมียมีดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นคู่ มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ตรงปลายก้านภายในดอกมีไข่อ่อนเจริญอยู่สองใบ เมื่อมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ไข่อ่อนจะเจริญต่อไปเป็นเมล็ดที่ติดอยู่ที่กิ่งหรือแผ่นใบไข่อ่อนนี้เป็นผลสีเขียว สร้างเมล็ดที่ไม่มีรังไข่หุ้มเป็นช่อ ช่อละ 2 ผล
ใบมีสีเขียวอ่อนและจะเขียวเข้มเมื่อใบแก่ ใบเริ่มแตกออกมาในตอนปลายฤดูใบไม้ผลิ ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองในราวเดือนตุลาคม ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองในฤดูใบไม้ร่วงและร่วงหล่นจนหมดในฤดูนี้ ใบของต้นแป๊ะก๊วยมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนพืชอื่นๆ คือ มีใบเดี่ยวเป็นมันเรียบไม่มีขน สีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมเหลือง ก้านใบยาว ตัวใบแผ่เป็นรูปพัดกว้าง 5-10 เซนติเมตร แต่ใบที่อยู่บนกิ่งยาวมักมีขอบใบตรงกลางเว้าเข้าภายใน ทำให้ใบมีลักษณะแบ่งออกเป็นสองพู
แป๊ะก๊วย จะออกดอกในฤดูใบไม้ผลิ และจะให้ผลเมื่อมีอายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป ผลมีลักษณะกลมรี ยาว 2-3 เซนติเมตร มีสีเหลือง ชั้นนอกหุ้มด้วยเนื้อไม้และมีกลิ่นฉุน ภายในมีเมล็ดรูปกลมรีมีเปลือกแข็งหุ้มเนื้อในเมล็ดมีสีเหลืองอ่อนใช้รับประทานได้ ใช้เวลา 130-140 วัน หลังจากผสมเกสร ผลจึงจะแก่สุก เมล็ดถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อที่หุ้มไว้ 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นเยื่อบางๆ สีส้มลูกบ๊วยสุก เยื่อชั้นนอกนุ่มนิ่มนี้รับประทานไม่ได้ ถ้าไปสัมผัสจะเกิดอาการคัน ชั้นกลางเป็นเปลือกมีผิวแข็ง ชั้นในสุดเป็นเยื่อบางๆ หุ้มเมล็ดไว้อีกที ต้นแป๊ะก๊วยปลูกด้วยเมล็ดจะออกดอกติดผลเมื่อมีอายุ 20-35 ปี ถ้าเป็นกิ่งทาบจะให้ดอกออกผลเมื่ออายุประมาณ 6 ปี
เมื่อผลเริ่มสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองลูกบ๊วยสุก เปลือกนอกของผลจะแห้งและเรียบ คล้ายกระดาษ ภายในมีเมล็ดแข็งที่มีเนื้อหุ้มอยู่โดยรอบ เนื้อมีกรดบิวทีริก (butyric acid) สูง ทำให้มีกลิ่นเหม็นคล้ายเนยบูดเวลาสุกงอม เวลาเก็บควรใส่ถุงมือเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำที่ผิวชั้นนอกที่ลอกออก ด้วยเหตุผลนี้เองในการจัดสวนตามสถานที่ต่างๆ จึงนิยมปลูกแต่ต้นแป๊ะก๊วยตัวผู้ เพื่อไม่ต้องการให้มันออกผล เนื่องจากเวลามันแก่สุกจะร่วงหล่นส่งกลิ่นเหม็นในที่สาธารณะ และผู้ที่ไม่รู้จักมันไปเก็บผลที่ร่วงจะเกิดอาการคันได้ เนื้อภายในเมล็ดกินได้แต่ต้องกะเทาะเปลือกออกก่อน มีรสหวานและมัน
ต้นแป๊ะก๊วยเป็นไม้ที่ไม่ค่อยมีศัตรูมารบกวน ต้นไม่โค่นล้มง่าย สามารถต้านทานลมพายุได้ เนื่องจากแป๊ะก๊วยสามารถทนต่อมลพิษหลายชนิด ด้วยคุณสมบัตินี้แป๊ะก๊วยจึงถูกปลูกไว้เป็นไม้ให้ร่มเงาสองข้างถนน และปลูกในบริเวณเขตอุตสาหกรรม เช่น ที่ปักกิ่ง และลอสแองเจลิส
*“ต้นแป๊ะก๊วย ”อายุกว่าพันปี *
ต้นแป๊ะก๊วยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีอยู่ที่วัดต้าเจ๋อ และวัดถานเจ๋อ ในนครปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีกว่าในความศักดิ์สิทธิ์ ปลูกไว้ตั้งแต่ราชวงศ์เหลียว (พ.ศ.1450-1668) ความสูงอยู่ที่ 30 เมตร ทรงพุ่มประมาณ 8 เมตร เป็นต้นแป๊ะก๊วย 1 ใน 8 ต้นไม้มหัศจรรย์ตามวัดที่มีการกล่าวไว้ในบทกวี โดยจักรพรรดิเฉียนหลง ต้นแป๊ะก๊วยที่วัดมักเอาผ้าแดงเขียนขอพรต่างๆ ไปผูกไว้ตามกิ่งก้านเพื่อขอให้ได้รับโชคลาภและมีสุขภาพสมบูรณ์ ส่วนใหญ่พบต้นแป๊ะก๊วยที่มีอายุมากๆ อยู่ตามวัด จึงนิยมเรียกเรียกแป๊ะก๊วยว่า ต้นไม้วัด (Temple tree) ที่ประเทศเกาหลีก็มีความเชื่อแปลกๆ เกี่ยวกับแป๊ะก๊วย ภรรยาจำนวนมากนิยมขอพรที่ต้นแป๊ะก๊วย เพื่อให้ได้ลูกผู้ชาย
สิ่งที่เป็นประจักษ์พยานว่าต้นแป๊ะก๊วยเป็นพืชที่ทรหดทนทานเป็นพิเศษ คือ หลังจากเมืองฮิโรชิม่าถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู เมื่อปี พ.ศ. 2488 สิ่งก่อสร้าง สิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นถูกทำลายเรียบไม่เหลือ แม้แต่ต้นไม้น้อยใหญ่ก็ตามเหี่ยวตายหมด ยกเว้นต้นแป๊ะก๊วย 4 ต้น ที่อยู่ห่างจากจุดระเบิด ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ยังคงมีชีวิตอยู่ได้ ปัจจุบันเหลืออยู่ 3 ต้น ได้ชื่อว่า Bearers of Hope
แป๊ะก๊วย กลับไม่ทนทานกับสภาพภูมิประเทศที่มีอุณหภูมิที่ร้อนจัดและเย็นจัด แป๊ะก๊วยเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่กว่า 20 มณฑล ของจีน แต่บางพื้นที่ไม่ให้ผลผลิตหรือติดดอกออกผลน้อย เมืองกุ๋ยหลิน ในมณฑลกวางสีอยู่ทางตอนใต้ของจีน เป็นแหล่งปลูกที่มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของแป๊ะก๊วยเพราะอยู่ในระดับความสูง 280-600 เมตรและมีอากาศ 4 ฤดูกาล ฝนตกชุก ดินมีความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งผลิตแป๊ะก๊วยแหล่งใหญ่ของจีน
*ประโยชน์ของต้นแป๊ะก๊วย *
ชาติตะวันตกเพิ่งรู้จักการใช้ประโยชน์จากใบแป๊ะก๊วยเพื่อรักษาโรคไม่เกิน 50ปีนี้เอง ปัจจุบันมีการนำใบสดมาสกัดเป็นยาป้องกันโรคอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม ชาวจีนได้นำเอาเมล็ดแป๊ะก๊วยไปทำผงซักฟอก โดยนำไปย่อยในเหล้าองุ่นหรือในน้ำมัน ใบมีสารประกอบหลายอย่าง ทั้งเมล็ดและใบใช้ทำยาสมุนไพร ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะเบาและเปราะ สีขาวอมเหลือง นิยมใช้ทำกระดานหมากรุก และของเล่นในประเทศจีนและญี่ปุ่น
ชาวจีนได้นำใบแป๊ะก๊วยสดมาสกัดใช้เป็นยารักษาโรคหัวใจและขยายหลอดเลือด สารประกอบทางเคมีที่มีอยู่ในแป๊ะก๊วย เรียกรวมกันว่า กิงโกไลด์ (Ginkgolides) มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง ช่วยยับยั้งการเสื่อมของสมอง ผลข้างเคียงมีบ้าง หากใช้ในปริมาณมากเกินไป จะทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ ทำงานผิดปกติหรือมีอาการแพ้วิงเวียนศีรษะและมึนงง อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรจากใบแป๊ะก๊วยควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และไม่ควรใช้สารสกัดจากใบแป๊ะก๊วยกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
การปลูกดูแล
แป๊ะก๊วย มีการเพาะปลูกอยู่ทั่วทุกภาคของจีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีทางตอนใต้และที่รัฐแคโรไลนา ตอนใต้ ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากใบ ซึ่งนำไปสกัดเป็นยาได้ครอบจักรวาล ใบกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 4-7.5 เซนติเมตร ไม่มีเส้นกลางใบ ที่ผ่านมานิยมใช้ใบสดมาสกัดเป็นยา
การเพาะปลูกด้วยเมล็ด แนะนำให้สวมถุงมือ เก็บรวบรวมเมล็ดที่ร่วงจากต้น นำไปแช่ในน้ำอุ่นสักพักลอกเอาผิวหุ้มเมล็ดออกจนหมด นำไปตากแดดให้แห้ง ถ้ายังไม่รีบเพาะให้เก็บใส่ถุงไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิเย็นสักหน่อย เมื่อต้องการจะเพาะจึงนำออกมา โครงการหลวงเคยทดลองปลูกต้นแป๊ะก๊วยที่สถานีเกษตรโครงการหลวงอ่างขาง แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะอากาศยังหนาวเย็นไม่พอ และอายุเก็บเกี่ยวหลายปี (20 ปี ขึ้นไป)
เกษตรกรจำนวนมากนิยมปลูกแป๊ะก๊วย ด้วยวิธีเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดลงแช่น้ำเลือกเอาเมล็ดที่ลอยน้ำออกไปกะเทาะเปลือกต้มรับประทาน ส่วนเมล็ดที่จมแสดงว่าเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์ ใช้เพาะได้ นำเมล็ดเหล่านี้มาเฉือนส่วนปลายสักนิดหรือขูดด้วยกระดาษทรายเพื่อเปิดช่องให้น้ำซึมเข้าไปภายในเมล็ดง่ายขึ้น เมล็ดแช่ในน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นก็ได้จนเปลือกอ่อนนิ่ม พึ่งให้แห้งเอาไปเพาะในแปลงเพาะ ผู้สนใจเพาะเมล็ดแป๊ะก๊วย สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ แต่ตากแดดไว้ 2-3 วัน แล้วเอามาแช่น้ำเลือกเอาเมล็ดที่ลอยออก เมล็ดที่จมเพาะในกระถาง ขนาด 10 นิ้ว ใส่ทราย 3 ส่วน 4 โรยเมล็ด 20 เมล็ด ทับหน้าด้วยทรายอีกที รดน้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนเศษจึงเริ่มงอก
อีกวิธีเอาไปหว่านบนแปลงดินยกร่องกลบหน้าด้วยดินระยะเวลาเท่ากัน แต่งอกขึ้นมาน้อยมาก ปรากฏว่าการเพาะด้วยทรายมีเปอร์เซ็นต์ความงอกดีกว่า ซึ่งรอดูต่อไปว่ามันจะอยู่ได้อีกนานเท่าใด ในต่างประเทศ เกษตรกร ไม่นิยมปลูกแป๊ะก๊วยด้วยวิธีเพาะเมล็ด เพราะเจริญเติบโตช้าและมีโอกาสเป็นต้นตัวผู้( ไม่มีผลผลิต)
แป๊ะก๊วจึงนิยมใช้วิธีการทาบกิ่งเพื่อให้ได้ต้นตัวเมีย ปลูกไว้เอาเมล็ด ซึ่งการปลูกด้วยวิธีทาบกิ่งจะให้ผลเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด อย่างไรก็ตาม การปลูกแป๊ะก๊วยเชิงการค้า นิยมปลูกด้วยวิธีการทาบกิ่งจากต้นตัวเมียเป็นหลัก เสี่ยงทำให้ต้นแป๊ะก๊วยสูญพันธุ์ได้ในอนาคต เพราะมีแต่ต้นตัวเมีย ขาดความหลากหลายทางพันธุ์กรรม ตรงกันข้ามกับต้นแป๊ะก๊วยที่ปลูกข้างถนน ตามสวนสาธารณะซึ่งต้องการต้นตัวผู้ เพราะไม่ต้องการให้ต้นแป๊ะก๊วยออกผลทำให้เมล็ดร่วงลงมาส่งกลิ่นเหม็นรบกวน
ต้นแป๊ะก๊วย เจริญเติบโตได้ตั้งแต่ระดับความสูง 800-1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 16.6 องศาเซลเซียส แป๊ะก๊วยเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตช้า เฉลี่ยประมาณ 30 เซนติเมตร ต่อปี การปลูกเพื่อให้ดอกได้รับการผสมเกสรติดผล ควรปลูกต้นตัวผู้ ในอัตรา 1 ต้น ต่อต้นตัวเมีย 5 ต้น การปักชำด้วยกิ่ง ใช้กิ่งไม่แก่ไม่อ่อน ตัดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร
ผู้ที่คิดจะปลูกแป๊ะก๊วยในประเทศไทยควรศึกษาให้รอบคอบ เพราะอาจจะถูกหลอกขายต้นกล้าเหมือนกับพืชบางชนิดก็ได้ ปลูกให้รุ่นหลานเก็บรับประทานไม่ว่ากัน หากคิดปลูกเป็นสวนต้องทบทวน เมื่อปลูกโตแล้วไม่รู้จะไปขายกับใคร จะต้องช้ำใจซดน้ำเต้าทึงแป๊ะก๊วยยืดอายุก่อนตรอมใจตาย เพราะหนี้สินท่วมตัวได้