ไอที ธุรกิจ

"ชาญศิลป์" มือฟื้น 'ไออาร์พีซี' สู่ทีมฟื้นฟู"การบินไทย"

ฐานเศรษฐกิจ
อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 02.38 น. • เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2563 เวลา 14.28 น. • Thansettakij

    หลังจาก "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" หนึ่งในหัวหอกที่ถูกวางตัวให้ร่วมทีมทำแผนฟื้นฟู "การบินไทย" ต้องลาออกจากบอร์ดการบินไทยไป หลังแต่งตั้งมาได้เพียง1วัน
     ด้วยประเด็นจากข้อกฎหมายของทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ห้ามรับตำแหน่งภายใน 2 ปี หลังพ้นจากตำแหน่งรมช.คมนาคม และเคยกำกับดูแลการบินไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

    ล่าสุดบอร์ดการบินไทย มีมติแต่งตั้ง"ชาญศิลป์ ตรีนุชกร" อดีตซีอีโอปตท. คนที่ 9 ซึ่งหมดวาระเกษียณอายุครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2563 มานั่งเก้าอี้กรรมการและกรรมการอิสระของการบินไทย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่4มิถุนายน2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตั้ง “ชาญศิลป์” นั่งบอร์ด "การบินไทย"
                       :  "บรรยง" แนะ 4 เรื่องใหญ่ ถอดรหัส ฟื้นฟู "การบินไทย" 
                       : “การบินไทย” แจงตั้งอีวายฯ-บอร์ด5คนทำแผนฟื้นฟู

        "ชาญศิลป์" เข้ามาในโควต้าที่ "ไพรินทร์"เสนอ โดยอ้างถึงประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการบริษัท ไออาร์พีซี ในปี 2552 จนเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ไออาร์พีซี
      โดย"ชาญศิลป์"จะเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมผู้ทำแผนฟื้นฟู "การบินไทย" ร่วมกับพล.อ.อ. ช้พฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการของบริษัทฯ และบริษัทอีวาย 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

      เส้นทางอันเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ"ชาญศิลป์" ต้องย้อนไปยุคที่ผู้บริหาร ปตท.มอบหมายให้เขาเข้าไปร่วมทีมฟื้นฟู บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) หรือ IRPC เป็นระยะเวลา 5 ปี ทำให้ IRPC กลายเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งมาจนถึงปัจจุบัน 
     จากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ซึ่งเป็น
กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี คลังน้ำมัน โรงไฟฟ้า ปูนซีเมนต์ และท่าเทียบเรือน้ำลึกในจังหวัดระยอง มีมูลค่าทรัพย์กว่า 130,000 ล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 8,000 คน 
    ทั้งยังเป็นบริษัทเอกชนที่ถือครอบที่ดินมากที่สุด ติดอันดับ1 ใน 3 ของไทย จัดเป็น บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ที่เคยรุ่งเรืองเป็นอันดับต้นๆของประเทศ
แต่แล้ววิกฤติดังกล่าว ก็ทำ TPI ประสบภาวะล้มละลาย
   ในช่วงเวลานั้น บริษัท ปตท.ฯได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเข้าดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) หรือ IRPC มาจนถึงปัจจุบัน
    ตอนนั้นช่วงปี 2552 ชาญศิลป์ ถูกส่งเข้าไปนั่งในตำแหน่งผู้ช่วยสายงานแผนกลยุทธ์องค์กร ทำให้จากเดิมมีประสบการณ์ด้านการขายน้ำมัน ต้องมาเรียนรู้การจัดทำแผนด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีใหม่ทั้งหมด รวมถึงแก้ไขปัญหาสะสมของ TPI ทั้งด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การต่อรองกับสหภาพแรงงานของบริษัท 8 สหภาพที่มีความเข้มแข็ง ความขัดแย้งในบอร์ดผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียนับไม่ถ้วน
    โดยเริ่มฟื้นฟู ภายใต้ โครงการ Iceberg  คือ สะสางปัญหา เพื่อทำให้องค์กรกลับมาสร้างกำไร ตัดลดรายจ่ายไม่จำเป็น ขายหุ้นที่ไม่มีศักยภาพในการทำกำไร และเจรจากับคู่กรณีในคดีความต่างๆเพื่อขจัดความขัดแย้งระหว่างกัน
    จนบริษัทสามารถสร้างกำไรคืนกลับมาได้มาก จากนั้นเมื่อปี 2554 ชาญศิลป์ จึงเลื่อนสู่ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจท่าเรือและบริหารจัดการทรัพย์สิน รวมถึงตำแหน่งรักษาการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายแผนธุรกิจองค์กร IRPC เพื่อเคลียร์ปัญหาความขัดแย้งด้านที่ดินต่างๆจนสำเร็จ 
    นอกจากนี้ ตลอดเวลาของการปลุกปั้น IRPC ยังต้องเผชิญกับการฟ้องร้องคดีความต่างๆระหว่างเจ้าของผู้ถือหุ้นเดิมของ TPI กับทีมผู้บริหารที่เข้าไปฟื้นฟูกิจการ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารของ ปตท. มากถึง 93 คดี จนเป็นที่มาของการจัดทำโครงการปลดพันธนาการจากคดีความ (Freedom) ภายใต้ตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชยกิจและการตลาด ของนายชาญศิลป์ 
     เรียกว่า สร้างความประหลาดใจให้กับคนในแวดวงธุรกิจ เมื่อนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อยุติข้อพิพาท(MOU) ระหว่างเจ้าของ TPI เดิม กับกลุ่ม IRPC และมีการชำระเงินระหว่างกันจนเสร็จ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2557 และในปี 2557 ยัง สามารถปิดหรือขายหุ้นที่ไม่ได้ดำเนินกิจการ 13 บริษัท จาก 36 บริษัท ที่ถือครองหุ้นและหลักทรัพย์ต่างๆ เหลือเพียง 6 บริษัทที่เป็น core value ขององค์กร
    ความสำเร็จจากดีลประวัติศาสตร์นี้ ส่งผลให้ชาญศิลป์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ซีอีโอ ปตท. 
    โดยเขามีคติในการทำงานที่ว่า “ผมไม่ใช่ซูเปอร์แมน ผมทำงานเป็นทีม เพราะการทำงานเป็นทีมทำให้เราทุกคนประสบความสำเร็จมากกว่า” 
    ประสบการณ์ที่ก็คงต้องติดตามว่าจะนำพาที่จะทำให้การฟื้นฟูการบินไทยในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเหมือนไออาร์พีซีในอดีตหรือไม่
 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Teerawat
    หลังจาก ประเสริฐ แห่ง ปตท ก็มาเป็น ชาญศิลป์ นี่แหละที่นับว่าสุดยอดอีกท่านหนึ่ง.... เชื่อได้ว่า กบท พ้นจากอเวจีได้... มีคำถามเดียว ทำไมยังคง นายพลทหารอากาศอีกตัวหนึ่งไว้ทำไม????? ยังคอยมารักษา แหล่งน้ำมัน อหล่งทรัพย์สินให้พรรคพวกอีกรึ?
    05 มิ.ย. 2563 เวลา 01.17 น.
  • wiwat
    มหากาพย์ Tpi ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ถ้าไม่มีวิกฤตต้มยำกุ้ง Tpi ไม่มีทางล้ม แต่เป็นโชคร้ายของ ประชัย ที่อยู่ๆมีหนี้เพิ่มมา60,000กว่าล้าน จากการลอยตัวค่าเงินบาทในยุคจิ๋ว ฉะนั้นใครที่มาจาก ปตท. แล้วบริหารต่อจากประชัย ถ้าบริหารแล้วเจ๊งก็ต้องถือว่าห่วย เพราะธุรกิจมันไปได้ด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่กระแสเงินสดมันไม่พอจ่ายหนี้ที่มันเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว แค่ต้องมีเงินเข้ามาsupport ในช่วงแรก แล้วเดินธุรกิจต่อไปเพื่อมาใช้หนี้ แต่ประชัยหาไม่ได้จนต้องเข้าแผนฟื้นฟู และ pttเห็นโอกาสตรงนี้ก็เข้ามาtake over
    05 มิ.ย. 2563 เวลา 06.18 น.
ดูทั้งหมด