ชื่อในพระไตรปิฎก กมลาสริสิตถิโย (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
ตำนาน ชาดก อลัมพฺสาชาดก ต้นไม้ในปรัมปราวิทยา เทพปกรณัมศาสนาพุทธ ตำนานพื้นบ้านไทย
อาณาเขต ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วรรณคดีอ้างอิง พระเวสสันดรชาดก มหาชาติคำหลวง ไตรภูมิพระร่วง
ภาษาอังกฤษ (n) Tree bearing fruits in the shape of girls.
ชื่ออื่นๆ นารีผล
หนูเกิดก่อนที่นักพฤกษศาสตร์ไทยจะกำหนดจัดให้อยู่ในชื่อวิทยาศาสตร์ หรือวงศ์ไหน เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักหนูในตำนาน นิยาย หรือเทพนิยายที่เป็นจินตนาการ เป็นนิยายอิงธรรมะ เป็นเรื่องเล่าเชิงพุทธศาสนา แต่จะอยู่ในกฎเกณฑ์แห่งทวิภพหรือไม่หนูก็ไม่เข้าใจ ช่วงนี้หนูได้ข่าวว่า โลกมนุษย์ปั่นป่วนด้วยเชื้อ “ไวรัส โควิด-19” ซึ่งไม่เคยได้ยินใน “ป่าหิมพานต์” หนูจึงอยากปรากฏตัวอาสาช่วย “อสม. และคุณหมอ พยาบาล” จะได้นำกลับไปป้องกันที่ป่าหิมพานต์ด้วยค่ะ
คุณๆ ที่เคยได้ยินชื่อหนู ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่อาจจะไม่คิดว่าเป็นต้นไม้ คือจะคิดถึงตัวธิดาเทพ แต่คนรุ่นก่อนๆ จะจินตนาการถึงต้นไม้ที่ออกดอกผลเป็นหญิงสาวงาม มีขั้วติดมวยผมกับต้นไม้ ห้อยกับกิ่ง มีทั้งลักษณะคู้เข่า หรือเหยียดเท้าตรง แล้วแต่ช่วงอายุวัย และสิ่งที่เห็นนี้ในแต่ละตำนาน ยังมีคำจำกัดความแตกต่างกัน เช่น จากบันทึกในพระไตรปิฎก ระบุว่า “นารีผล” คือ ดอกไม้ ไม่ใช่ผลไม้ แต่อีกหลายตำนานมักจะให้ความหมายว่าเป็นผลไม้ที่กินได้ ดังในไตรภูมิพระร่วง ได้พรรณนาถึงป่าหิมพานต์ ตอนหนึ่งว่า มีป่าไม้ นารีผล ซึ่งถ้า “ฝูงเทวดาผู้ชาย” เห็นแล้วจะมีใจรัก ครั้นหล่นตกลงฝูงนกก็จะรุมจิกกิน หนูแปลกใจที่คำว่า “ฝูงเทวดาชาย” คือเหล่าบรรดา ดาบส ฤๅษี นักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ แหม…! หนูคิดว่าท่านเหล่านี้จะ “ปลง” หรือ “ละ ลด เลิก กิเลสกาม” หมดแล้ว
น้องๆ “ไม้แปลกที่ชื่อ” ที่ผ่านมา อย่าแปลกใจเลยนะคะ ที่อยู่ๆ พี่ก็เสนอตัวออกมาแทรกแซง ทั้งๆ ที่พี่อยู่นอกเหนือกลุ่มพืชพันธุ์พฤกษศาสตร์ที่เคยเป็นมา เพราะพี่อยากเปลี่ยนบรรยากาศในช่วงสถานการณ์ “โควิด-19 “นี้ และอยากมีส่วนร่วมอาสาช่วยเย็บผ้า “หน้ากากอนามัย” เผื่อมีเหลือกลับไปฝาก “นารีผล” ตนอื่นๆ ที่ป่าหิมพานต์บ้างจ๊ะ
ที่หนูพูดถึงว่าหนูไม่มีชื่อใน “สารานุกรมพฤกษศาสตร์” แต่อยากให้เป็นทั้งชื่อแปลก และเรื่องแปลกๆ อย่างหนูก็มีในโลก ทั้งระดับตำนาน วรรณคดีและวัฒนธรรมร่วมสมัย ก็ยังกล่าวถึงหนู เช่น กลางปี พ.ศ. 2539 หนูก็เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า หนูอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดสิงห์บุรี พ.ศ. 2554 มีทีมสำรวจเรื่องลึกลับตามหาหนู และออกอากาศเป็นสารคดีชุด Destination Truth ซีซั่นที่ 4 ตอน Thai Tree people และที่แปลกไปกว่านั้นยังมีการสร้างหนังซีดีเกี่ยวข้องกับเรื่องหนู 2 เรื่องคือ “นารีผล คนพฤกษา” และ “devil Ivy นารีผล” เห็นในสื่อออนไลน์เมื่อ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นี่เอง
แต่ตามตำนานจริงๆ เริ่มมาตั้งแต่เรื่องพระเวสสันดร และไตรภูมิพระร่วง ซึ่งพระมหาธรรมราชา พญาลิไทได้ทรงพระราชนิพนธ์ ประมาณ พ.ศ.1888 ตั้ง 675 ปี มาแล้ว เจ้าค่ะ และเดี๋ยวนี้เรื่องของหนูถูกนำเสนอในสื่อออนไลน์ ทั้งใน u-tube และ Google สารพัดเรื่องแปลกๆ จนหนูสับสนว่าอยู่ยุคไหนกัน
หนูภาคภูมิใจมากที่มีชื่อในพจนานุกรมทั้งฉบับราชบัณฑิตยสถาน และฉบับ อ.เปลื้อง ณ นคร
ซึ่งหนูสรุปได้เองว่า “มักกะลีผล” เป็นชื่อต้นไม้ในป่าหิมพานต์เป็นเรื่องราวนวนิยายที่ต้นไม้ออกลูกเป็นหญิงสาวงามห้อยเป็นระย้า และมีพวก นักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ แม้กระทั่ง ดาบส ฤๅษี มาสอยไปเสพสม
เพราะเป็นร่าง “นารีผล” สาว 16 ปี แต่มีอายุเพียง 7 วัน ก็เน่าเสียไป อีกท่านที่กล่าวถึงหนู คือ รศ.ดร. บุญยงค์ เกศเทศ ท่านยังนำเรื่องของหนูไปเขียนไว้ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 686 วันที่ 1 มกราคม 2562 ว่ามีภาพเขียนจิตกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดนาพรม ตำบลนาพันสาม จังหวัดเพชรบุรี เป็นภาพเขียนต้นนารีผล เขียนไว้ราวกับมีชีวิต สมกับเป็นต้นไม้ในป่าหิมพานต์และระบุความว่า “ร.ศ.120 ยกหอสวดมนต์” จึงน่าจะเขียนขึ้นประมาณ พ.ศ. 2445 ในรัชสมัยปลายรัชกาลที่ 5 เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน แต่หนูรู้นะว่า เขาเผยแพร่ไว้ทั้งในหนังสือและสื่อ U-Tube หนูจึงเป็นที่โจษขานในสื่อทีวี เกือบทุกช่อง ตั้งแต่ พ.ศ.2554 เป็นต้นมา เพราะมีการไปทำข่าว ถึง “สวนป่าหิมพานต์” ที่เขาค้อ เพชรบูรณ์
ในตำนานพระเวสสันดร ที่ถูกเนรเทศออกจากนครสู่ป่าหิมพานต์ เพื่อปฏิบัติธรรมนั้น ท้าวสักกะเทวราช ได้เนรมิตต้นไม้วิเศษ 16 ต้น เพื่อเป็นที่พำนัก และปกป้องพระนางมัทรี ไม่ให้ “ฝูงเทวดาผู้ชาย” ตะบะแตก แล้วล่วงศีลได้ โดยให้ต้นนารีผลออกดอกผล มีรูปร่างเหมือนสตรี ทรวดทรงเป็นสาวแรกรุ่น 16 งามปานเทพธิดา เพื่อเทวดาผู้ชายเด็ดไปเสพสังวาส จนสิ้นฤทธิ์ชายหนุ่ม หมดพลังทุศีล
ในเรื่องจริงเมืองไทย ที่ “สวนป่าหิมพานต์” หรือที่พุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้ว เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ หนูก็เด่นดังอีกเมื่อ มีข่าวจาก “มติชนออนไลน์” ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงวิชาการว่า ทราบเรื่องจากผู้ดูแลสวนป่าหิมพานต์ แจ้งว่า ต้นนารีผลจัดสร้างขึ้นโดยการหล่อปูนซีเมนต์ หุ้มด้วยไฟเบอร์กลาสทั้ง ต้น ใบ และ ผลนารี ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 จำนวน 52 ตน เพื่อสร้างบรรยากาศเทพนิยาย สำหรับสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้มีคนเข้าใจว่าเป็นของจริง ก็มีจินตนาการส่งต่อกัน เพื่อนหนูจึงถูกแอบสอยไปแล้วเหลือ 30 ตน ถ้าอยากจะสอย เอ๊ย..! ชมหนู ส่งไลน์ไปถึงหนูที่ “สวนป่าหิมพานต์” ได้นะค่ะ
อ้อ..!อย่าลืมสวม “หน้ากากอนามัย” ชนิดซักได้ไปด้วย และหนูก็ไม่มีเชื้อ “โควิด-19” หรอกจ้า…?
———————————————————————————————————
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่