ไอที ธุรกิจ

BDMS ในวันที่ขายยาแก้ปวด

Wealthy Thai
อัพเดต 18 ก.ย 2562 เวลา 06.23 น. • เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 06.23 น. • wealthythai

BDMS หรือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นคลาสสิคขวัญใจนักลงทุนต่างชาติเสมอมา ล่าสุดในช่วงวันที่ 1-10 กันยายน (MTD) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้น BDMS มากที่สุด อยู่ที่ 2,640.4 ล้านบาท และถ้าดูตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ก็ติดลำดับ 3 โดยซื้อสุทธิ 7,437 ล้านบาท ทั้งนี้ถ้าดูขนาดของบริษัท ก็ใหญ่พอๆ กัน โดยเป็นหุ้น Top10 ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ รองจาก PTT, AOT, CPALL, ADVANC, SCC, PTTEP และ SCB

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 
อะไรทำให้ BDMS มีสถานะแข็งแกร่ง จนขึ้นเป็น Top5 โรงพยาบาลเอกชนโลก และก้าวต่อจากนี้เป็นอย่างไร วันนี้ Wealthy Thai ชวนมาพูดคุยเรื่องหุ้นตัวนี้กันอีกสักรอบ

 

 
ย้อนไปเมื่อปี 47 ปีที่แล้ว “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ก่อตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพขึ้น ในชื่อบริษัทขณะนั้นคือ กรุงเทพดุสิตเวชการ ก่อนจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 19 ปีหลังจากนั้น โดยปัจจุบันเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในไทยและในอาเซียน มีเครือข่ายโรงพยาบาลในไทยและกัมพูชา รวม 46 แห่ง จำนวนเตียงรวม 8,011 เตียง ซึ่งดำเนินการผ่านโรงพยาบาล 6 กลุ่ม ประกอบด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

 

  • กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ
  • กลุ่มโรงพยาบาลสมติเวช
  • โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  • กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท
  • กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล
  • กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล

 
การเติบโตของ BDMS ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนพ.ปราเสริฐหรือหมอเสริฐ ที่แม้ว่าจะลงจากเก้าอี้บริหารเมื่อต้นปี 2562 นี้เอง จากคดีปั่นหุ้น แต่ยังคงสถานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 17.86% ทั้งนี้ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา หมอเสริฐได้รับการจัดอันดับ “เศรษฐีอันดับ 1” 6 ปีซ้อน!!!!

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 
ถ้าเราแกะดูแต่ละธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น “สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส” หรือช่องโทรทัศน์ “PPTV” เองก็ดี สิ่งที่เหมือนกันคือความพรีเมี่ยมที่แตกต่าง ถ้าเทียบในธุรกิจเดียวกัน ไลน์ของหมอเสริฐจะเห็นความชัดเจน

 

 
สำหรับธุรกิจโรงพยาบาล ใครจะคิดว่าจะไปครอสกับ “ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท” ได้  แถมยังกล้าซื้อที่ดิน “ปาร์ค นาย เลิศ” ใจกลางกรุงเทพด้วยมูลค่า 10,800 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงแต่การขยายตัวของโรงพยาบาลรับเทรนด์เฮลท์ แคร์ และสังคมผู้สูงอายุแล้ว การมีที่ดินผืนงามย่านเพลินจิต-ชิดลม ย่อมจะสร้างมูลค่าได้มหาศาลในอีกอนาคต

 
การขยับตัวขยายธุรกิจแต่ละครั้งสร้างแรงสะเทือนเสมอ จึงไม่แปลกที่วันนี้ BDMS จะเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งความน่าสนใจนอกจากการขยายศูนย์เฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง การใช้เทคโนโลยีในการรักษาพยาบาล ตลอดจนการได้รับการรับรองการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤตทั้งทางบก เรือ น้ำ อากาศแล้ว ปัจจุบัน BDMS ขยายธุรกิจกลุ่มที่ non Hospital มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มยา 

 

ลุยธุรกิจยา

 
สิ่งที่น่าสนใจหลังจากนี้คือ BDMS กำลังต่อเรือขยายธุรกิจ “ยาและเวชภัณฑ์” เป็นกลุ่มก้อนได้มากขึ้น ดังนี้

 

  • สหแพทย์เภสัช (The Medicpharma) มีโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่ 15 ไร่ โดยสินค้าเด่นคือการขายยาพาราเซตามอล “บาคามอล” (Bakamal) ขยายตลาดเจาะผู้บริโภคทั่วไป โดยเข้าซื้อกิจการสหแพทย์เภสัช เมื่อ 2 ปีที่แล้ว 

 

  • เอ.เอ็น.บี. ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช) สินค้าดังก็คือ น้ำเกลือ Klean & Kare (รอยัล บางกอกเฮ็ลธ์แคร์ ในเครือ BDMS เข้าซื้อกิจการ)

  • เยเนอรัล ฮอสปิตัล โปรดัคส์ (GHP) หรือเดิมชื่อบริษัท แอบบอทท์ ฟาร์มา (ร่วมทุนระหว่างองค์กรเภสัชกรรม และบริษัท แอบบอทท์ แล็บบอราทอรี่ส์) ประกอบธุรกิจผลิตน้ำยาปราศจากเชื้อ สำหรับฉีดเข้าหลอดโลหิตดำ (Intravenous Solutions) ได้แก่ น้ำเกลือ น้ำตาลกลูโคส และเวชภัณฑ์อื่นๆ

  • เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ ผู้ให้บริการด้านการสนับสนุนบริการทางการแพทย์ เพื่อขยายรายได้จากส่วน non Hospital มากขึ้น

  • เซฟดรัก เซ็นเตอร์ (ร้านขายยา Save Drug) โดยซื้อกิจการมาจากเจ้าของเดิม เพื่อขยายเครือข่ายร้านขายยา

 

ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มรายได้จากการขายน้ำเกลือ ยา เวชภัณฑ์ เติบโตขึ้น 3 ปีติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 3,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า  BDMS หันมาเน้นการผลิตยาและเวชภัณฑ์มากขึ้น 

 

 

นอกจากนี้มีธุรกิจประกันสุขภาพ ผ่านบริษัท กรุงเทพประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท กรุงเทพ พรีเมียร์ นายหน้าประกันภัย จำกัด ตลอดจนการขยายกลุ่มนักท่องเที่ยว “Medical Tourism” ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนหันมาสนใจการรักษาพยาบาลผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ปลายปีที่แล้ว BDMS เลยทำเอ็มโอยูกับ “Ping An Good Doctor” ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพออนไลน์อันดับ 1 ของจีน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานสูงที่สุดในโลก หรือประมาณ 228 ล้านคน

 

 

*มุมมองนักวิเคราะห์ *

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แนะนำซื้อโดยให้ราคาเป้าหมาย 30 บาท ประเมินอัตรากำไรอยู่ในช่วงขาขึ้น คาดกำไรหลักเติบโตเฉลี่ย 15% CAGR ในช่วงปี 2561-2564 หนุนโดยอัตรากำไร (EBITDA margin) ที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยคาดว่า EBITDA margin จะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในปี 2566 จาก 22% ในปี 2561 จากอัตราการใช้พื้นที่เตียงที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของโรงพยาบาล 5 แห่ง ที่ขาดทุนก่อนหน้า

 

 

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แนะนำซื้อ 27 บาท  ประเมินผู้ป่วยต่างชาติยังเติบโตดี แม้รายจ่ายเพิ่มกดดันระยะสั้น จากไตรมาส 2/2562 ที่ผ่านมา รายได้ธุรกิจ non-hospital (ผลิตและจัดจำหน่ายยา) ไม่สดใส เพียงแค่ทรงตัว โดยยอดขายส่งออกของโรงงานยาลดลง จากผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาก และร้านขายยา Save Drug ซึ่งเช่าพื้นที่ห้างเป็นส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะค่าเช่าแพง ขณะที่ร้านยาที่มียอดขายดี ส่วนใหญ่ถูกยกเลิกต่อสัญญา โดยทางห้างนำพื้นที่ไปทำเองแทน

 

 

อย่างไรก็ตามยังคงตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 6-8% EBITDA Margin ที่ 22% จากการเปิดบริการโปรเจ็คใหญ่ (ย้ายศูนย์สมอง ศูนย์กระดูก และศูนย์ระบบประสาทไขสันหลัง มาอยู่ในตึก Bangkok International Hospital รวมถึงมีห้องตรวจศูนย์อายุรกรรม ระดับ VIP และห้อง ICU ด้วย)

 

 

รายได้ประกันต่างจังหวัดโต *40% *

 

 

บล.เอเชีย เวลท์ แนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมาย 27.50 บาท เนื่องจากมองว่าในอนาคตการเข้าไปเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มประกัน จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะสามารถใช้ประกันได้เฉพาะในเครือ BDMS เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันรายได้จากลูกค้ากลุ่มประกันโตถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะในต่างจังหวัด และมองครึ่งปีหลังรายได้จากกลุ่มประกันจะเพิ่มขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้รายได้รวมโตได้มาก

 

 

 

นอกจากนี้มองว่าการกลับมาของลูกค้าในตะวันออกกลาง จะช่วยหนุนการเติบโตของบริษัท โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น จาก 28% เป็น 30% ของรายได้รวม ซึ่งคาดว่าในครึ่งปีหลังจะยังใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนรายได้จากการใช้บริการของคนจีนลดลง เป็นผลจากนโยบายการส่งเงินออกนอกประเทศของจีน และเน้นการบริโภคภายในประเทศจีนมากขึ้น

 

 

ขณะที่บล.หยวนต้า มองต่างกับ 3 โบรกเกอร์ข้างต้น โดยแนะนำ “เก็งกำไร” เนื่องจากมองว่าระยะสั้นยังไม่น่าสนใจ ด้วยแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 3/2562 ที่ยังมีโอกาสปรับลดลงเมื่อเทียบกับฐานกำไรที่สูงในปีก่อน แม้ว่าไตรมาสนี้จะเป็นช่วงไฮซีซั่นก็ตาม ทั้งนี้ได้ปรับลดประมาณการกำไรปกติในปี 2562 ลงจากเดิม 8% เหลือ 9,628 ล้านบาท จากการปรับสมมติฐาน

 

  • รายได้ลดลง 9%
  • EBITDA Margin จากเดิมที่ 6% เหลือ 22%
  • สวนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง 11% จากแนวโน้มกำไรของ BH ที่ต่ำกว่าคาด (ซึ่งบริษัทถืออยู่ 88%)

 

 

ความเสี่ยงของ *BDMS ก็ใช่ว่าจะไม่มี *

 

 

ในด้านความเสี่ยง มีอะไรบ้าง? อย่าลืมโรงพยาบาลอื่นก็มีจุดแข็งเช่นกัน เพราะฉะนั้นนักลงทุนยังต้องรอจังหวะลงทุนให้ดี เพราะธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง นอกจากการแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนในระดับเดียวกันแล้ว BDMS ยังต้องแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนระดับกลางและระดับล่างด้วย นอกจากนี้รายได้จากการพึ่งพิงผู้ป่วยต่างชาติก็มีความเสี่ยง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจจะมีการโยกย้ายได้ ก็เป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วย

 

 

 

ดูข่าวต้นฉบับ