ไลฟ์สไตล์

คุณอ่านหนังสือแบบไหน? ว่าด้วยการอ่านออกเสียงและการอ่านเงียบๆ

The MATTER
อัพเดต 17 ต.ค. 2561 เวลา 13.07 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2561 เวลา 12.28 น. • Pulse

เดี๋ยวนี้ หากพูดถึงกิจกรรมการอ่านโดยทั่วๆ ไป เรามักหมายถึงการอ่านคนเดียวงียบๆ ในใจ มีนานๆ ทีที่เราอยู่คนเดียวแล้วนึกสนุก อ่านสิ่งที่เราอ่านอยู่ออกมาดังๆ ซึ่งนักวิชาการบอกว่าการอ่านในใจถือเป็นกิจกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ ที่การพิมพ์ทำให้การอ่านมีความซับซ้อนมากขึ้น ในโลกยุคโบราณ กิจกรรมการอ่านตามปกติแล้วเป็นการอ่านออกเสียง และการเขียนเองก็ถูกออกแบบเพื่อการอ่านออกเสียงเป็นสำคัญ

แม้ว่าทุกวันนี้ เราต่างพกหนังสือเพื่อไปอ่านกันเงียบๆ  แถวห้องสมุดที่เป็นดินแดนที่ต้องการความเงียบ แต่นานๆ ที เวลาที่เราอยู่ลำพังการอ่านออกเสียงก็ถือเป็นกิจกรรมที่สนุกดี โดยการอ่านออกเสียงมักเกิดขึ้นเมื่อเราเจอข้อความที่ยากๆ เปรียบเสมือนเสียงที่สะท้อนทวนข้อความนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ในการเรียนภาษาที่สองจึงมักแนะนำให้อ่านออกเสียง รวมถึงกิจกรรมสันทนาการกับเด็กๆ ก็มักเสนอให้การอ่านออกเสียงเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
Pixels

Pixels

การอ่านอย่างเงียบงันมีจริงไหม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นักวิชาการมักบอกว่าการอ่านในยุคโบราณเป็นการอ่านออกเสียง แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ Jozsef Balogh นักวิชาการทางด้านคลาสสิกสำหรับวรรณกรรมกรีกและละติน พบว่ากิจกรรมการอ่านเป็นการอ่านออกเสียง เลยสรุปว่าการอ่านเงียบๆ ในยุคคลาสสิกถือเป็นเรื่องแปลก ซึ่งในสมัยกลางเองนักวิชาการก็มักอ้าง Confession ของ นักบุญ Augustine ที่เขาไปพบกับนักบวชอีกคนหนึ่ง และมักพบว่านักบวชท่านนั้นอ่านหนังสืออยู่เงียบๆ ก็สร้างความประหลาดใจให้กับนักบุญออกัสติน

ถ้ามองกลับมาที่บ้านเรา ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ วรรณคดีโบราณและบันเทิงคดีส่วนใหญ่ก็ถูกเขียนขึ้นโดยคำนึงถึง ‘เสียง’ เป็นสำคัญ เราให้ความสำคัญกับความไพเราะทางเสียง ดังนั้นก็อาจเดาได้ว่ากิจกรรมการเขียนของบ้านเราเองก็ออกแบบมาให้อ่านดังๆ เหมือนกัน

ในด้านจิตวิทยาการรับรู้ หนังสือSpace Between Worlds: The Origins of Silent Reading ของ Paul Saenger บอกว่าการเขียนในสมัยกรีกและโรมันโบราณเป็นการเขียนโดยติดกันเป็นพรืดไม่มีการเว้นวรรค เพราะการเขียนเป็นพรืดทำให้การอ่านต้องใช้สติและใช้การออกเสียงเพื่อช่วยในการอ่าน Paul Saenger บอกว่าการอ่านออกเสียงเป็นกิจกรรมการอ่านที่กระตุ้นการทำงานของสมองเป็นพิเศษ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Daniel Donoghue ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเองก็บอกว่า เวลาที่เราอ่าน อย่างน้อยๆ เรามักมีเสียงอีกเสียงปรากฏขึ้นในใจเสมอ การอ่านเงียบๆ อาจไม่มีจริงก็ได้ การอ่านออกเสียงถือเป็นสิ่งที่เรามักทำเวลาที่เจอข้อความยากๆ ริมฝีปากของเราจะเริ่มขยับเพื่อทำความเข้าใจข้อความนั้นซ้ำอีกครั้ง ยิ่งถ้าข้อความยากขึ้นไปอีก เราอาจจะอ่านออกเสียงดังขึ้นเพื่อให้ตัวเราเองฟัง

ecolereferences.blogspot.com

ecolereferences.blogspot.com

อ่านออกเสียงเพื่อเรียนรู้

จากข้อสังเกตว่าเรามักจะอ่านออกเสียงเพื่อทำความเข้าใจกับตัวเอง ในวงการการศึกษาทั้งการเรียนภาษาที่สองและในการศึกษาสำหรับเด็กๆ ก็มักส่งเสริมให้ผู้เรียนและผู้สอนอ่านออกเสียง งานศึกษาในปี 2017 ทำการทดลองในนักเรียน 95 คน เพื่อดูว่าการอ่านแบบไหนส่งผลอย่างมีประสิทธิภาพกับการจำมากกว่ากัน ระหว่าง การอ่านเงียบๆ การอ่านออกเสียง และการฟังเสียงอัดที่คนอื่นอ่าน ผลคือการอ่านออกเสียงมีประสิทธิภาพสูงสุด

นักวิจัยเรียกผลของการอ่านออกเสียงว่า ‘production effect’ การอ่านออกเสียงช่วยเปลี่ยนคำเป็นความ เป็นการช่วยเข้ารหัสสิ่งที่อ่านเข้าไปในความทรงจำระยะยาว นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่านักเรียนที่ฟังเสียงอัดของตัวเองมีอัตราการจำได้ดีกว่าการฟังเสียงของคนอื่น การฟังเสียงตัวเองช่วยกระตุ้นการรับรู้เกี่ยวกับตัวเอง และช่วยทำให้เราจำสิ่งนั้นๆ ได้ดีขึ้น

ส่วนใหญ่งานศึกษาว่าด้วยการออกเสียงมักพุ่งความสำคัญไปที่โรงเรียน ไปที่การให้การศึกษากับเด็กๆ ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่พบประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ ของการออกเสียงระหว่างครูและเด็ก อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการสร้างความใกล้ชิดระหว่างเด็กๆ กับครูผู้สอน การอ่านออกเสียงทำให้เด็กๆ เข้าใจโครงสร้างของเรื่องราว ของการเขียน เข้าใจการเริ่ม กลางเรื่อง และการจบเรื่อง ไปจนถึงการเกี่ยวข้องกับการรู้หนังสือและการรับรู้ภาษาของเด็กต่อไป

Ocean's Bridge

Ocean's Bridge

จะว่าไป การอ่านออกเสียงนอกจากจะเป็นกระบวนการที่เราขบคิดกับข้อความยากๆ เป็นวิธีที่เราพยายามจำและทำความเข้าใจแล้ว หลักๆ การอ่านออกเสียงถือเป็นกิจกรรมที่สนุกดี ไม่ว่าจะเป็นการที่เราอ่านให้ตัวเองฟัง รับบทบาทเป็นเสียงต่างๆ พูดคุยและขบคิดสิ่งที่ถูกเขียนอยู่ไปพร้อมๆ กัน หรือจะเป็นการอ่านออกเสียงกับเพื่อนๆ กับน้องๆ หรือเด็กๆ ได้รับบทเป็นตัวละครต่างๆ รื่นเริงบันเทิงใจ

ในค่ำคืนเงียบๆ แบบนี้ ลองเปิดหนังสือที่ดองๆ ไว้ แล้วอ่านให้ตัวเองฟังสนุกๆ กันก่อนนอน ดีนะ

อ้างอิงข้อมูลจาก

mhpbooks.com

scilearn.com

tandfonline.com

reachoutandread.org

researchgate.net

Illustration by  Yanin Jomwong

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • รีมิตรภาพ3659
    ฉันชอบอ่านหนังสือแบบเงียบ นอกจากอ่านแบบเล่านิทานจะอ่านออกเสียงและใส่ฟิลลิ่งเสียงสูงเสียงต่ำตามอารมณ์
    18 ต.ค. 2561 เวลา 07.55 น.
  • สุจินต์
    ในเด็กต้องอ่านออกเสียง. เพื่อให้ยินการอ่านถูก. ชัดเจน ออกเสียงตัวสะกด วรรณยุกต์ ได้ถูกต้อง ครูผู้สอนต้องเอาใจใส่รายคน
    18 ต.ค. 2561 เวลา 07.06 น.
ดูทั้งหมด