ทั่วไป

สื่อญี่ปุ่นตีข่าว‘เสี่ยหนู’ผู้ผลักดัน‘กัญชาเพื่อการแพทย์’ หวังช่วยกระตุ้นศก.ไทย

แนวหน้า
เผยแพร่ 10 ส.ค. 2563 เวลา 06.06 น.

10 ส.ค. 2563 เว็บไซต์ นสพ.The Japan Times เสนอข่าว Thailand bets on private medical marijuana to lift economy กล่าวถึงความพยายามของ อนุทิน ชาญวีรกูล (Anutin Charnvirakul) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย ที่ต้องการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด เพื่อให้สามารถใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ด้วยความเชื่อว่าหากทำสำเร็จจะช่วยได้ทั้งเรื่องสุขภาพ การเดินทางและการเกษตร

โดยเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทย มีมติเสนอหลักการให้แพทย์ภาคเอกชน รวมถึงแพทย์แผนโบราณและเกษตรกร สามารถปลูกและซื้อ-ขายกัญชาได้ทั้งส่งออกและนำเข้า ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุขของไทยเพิ่งเปิดตัวคลินิกกัญชาเพื่อการแพทย์ ยังไม่นับรวมคลินิกอื่นๆ อีก 147 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้จ่ายยาที่มีส่วนผสมของกัญชา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นพ.มรุต จีรเศรษฐสิริ (Marut Jirasrattasiri) อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติอยู่แล้ว กัญชาจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของประเทศในการรองรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยแพทย์ภาคเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจะสามารถปลูก ผลิตและส่งออกกัญชาได้ รวมถึงเกษตรกรจะได้มีทางเลือกในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับนักลงทุนไทย ความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ การวิจัยและการผลิต มากกว่าจะปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ หลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไปและการเดินทางระหว่างประเทศได้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็จะมีโอกาสได้รับการรักษาโดยใช้กัญชา ซึ่งกัญชาเป็นพืชของไทยมาโดยตลอด และชาวต่างชาติก็ชื่นชอบ

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า การเกษตรและการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยคนไทย 1 ใน 3 มีอาชีพเป็นชาวนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสามารถทำรายได้ถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6 แสนล้านบาทในปี 2560 มากกว่าเม็ดเงินในภาคส่วนเดียวกันที่ 2 ประเทศร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียทำได้รวมกัน กระทั่งในปี 2563 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 8.5 จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไตรศุลี ไตรสรณกุล (Traisuree Taisaranakul) รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายกัญชาเพื่อการแพทย์ จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาสำหรับใช้รักษาอาการเจ็บป่วยได้มากขึ้น และช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ในประเทศไทย โดยปัจจุบันการปลูกและจ่ายกัญชาทำโดยหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรที่ถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดเท่านั้น กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามกฎหมาย ดังนั้นจึงห้ามใช้เพื่อความบันเทิง การครอบครองรวมถึงนำเข้าอาจได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ไปจนถึงประหารชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/politic/509637 ('สายเขียว'เฮลั่น! ครม.อนุมัติหลักการ พ.ร.บ.ยาเสพติด'ปลดล็อก'กัญชาเสรี : 4 ส.ค. 2563)

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • nawin
    ความจริงยาจากกัญชาน่าจะมีโอกาสและมีศักยภาพสูงที่จะลงไปถึงประชาชนในระดับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึงมากกว่ายาแผนปัจจุบันชนิดต่างๆ ที่มีราคาแพงและยาบางชนิดอาจไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อยาหลักแห่งชาติ แต่ติดตรงการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งล่าช้า จนอาจเป็นตัวจำกัดโอกาสและศักยภาพดังกล่าว แต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจเป็นผลดีต่อประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งในการใช้ประโยชน์จากกัญชาทั้งในด้านงานวิจัยและการผลิตเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้พัฒนาจนทิ้งคู่แข่งไปไกลและสามารถยึดตลาดกับคู่ค้าต่างๆ เอาไว้ได้ก่อน
    10 ส.ค. 2563 เวลา 08.53 น.
  • Pim56
    รองรับนักท่องเทียวพี้กัญชาตามชายหาด
    10 ส.ค. 2563 เวลา 07.33 น.
  • BOM
    ผลักดันมาเป็นปียังปลูกไม่ได้สักที
    10 ส.ค. 2563 เวลา 07.28 น.
ดูทั้งหมด