ถาม: กฏแห่งกรรม มีจริงไหม? เหมือนหรือต่างจากเวรกรรมอย่างไร?
ตอบ: แน่นอนว่ามีจริง แต่ความมีอยู่ของกฏแห่งกรรมนั้น ประเด็นอยู่ที่ว่าเราได้เข้าใจในบริบทของกฏนี้อย่างไร
ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า "กฏแห่งกรรม" จะรู้สึกถึงอำนาจที่จะตอบสนองแก่ทุกชีวิต เป็นความลึกลับที่มีอนุภาพ และโดยมากก็จะมองผ่านเรื่องการเชื่อมโยงของเหตุผล โดยมักจะมองตรงไปที่บทสรุปทันที ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะกรรมที่ทำในอดีต
ซึ่งก็ถูก ที่ทุกผลลัพธ์ย่อมมีเหตุปัจจัยก่อนหน้าทำให้เป็นไป แต่ผิดตรงที่ไปด่วนสรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มาจากเหตุการณ์ที่นานไกล จากกรรมเก่าเมื่อชาติก่อนบ้าง จากกรรมในอดีตที่เคยทำไว้บ้าง ที่มักจะหาความเชื่อมโยงกันไม่ได้เลย นอกจากจะคิดไปเองแล้วเชื่อไปเองตามนั้น กฏแห่งกรรมจึงกลายเป็นเรื่องของความลึกลับ แทนที่จะเป็นเรื่องของเหตุผลที่ตรงไปตรงมา
กรรม แปลว่า การกระทำ ซึ่งถ้าเรามองตามความหมายนี้ มันก็จะเป็นเรื่องของเหตุและผลไปทันที แต่เพราะเราไปเข้าใจความหมายของกรรมที่เกินเลยไปกว่าการกระทำ มันก็เลยกลายเป็นความเห็นผิด เกิดเป็นความงมงาย เกิดปัญหาแทนที่จะแก้ไขได้ถูกต้อง ด้วยการทำกรรมให้ส่งผลตามวิบากที่ต้องการ กลับไปทำเรื่องปัญญาอ่อนแทน เช่น ไปสะเดาะเคราะห์, ไปตัดกรรม, ไปนอนโลงศพ, ไปแก้ปีชง, ไปปล่อยนกปล่อยปลา หรือแม้แต่ไปทำบุญ ฯลฯ ซึ่งมันไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรเลย นอกจากได้ผลทางใจตามความเชื่อที่ตนมี (อ่านความหมายของกรรม ที่นี่)
หลักกรรมทางพุทธศาสนา ไม่ใช่สอนแค่ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะนั่นเป็นคำสอนพื้นฐานที่มีอยู่ในทุกศาสนาในโลก แต่พุทธศาสนามุ่งสอนให้เข้าใจถึงกระบวนการของกรรม ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตอย่างไร เพื่อให้เราวางแนวทางการดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง
ชีวิตเราวันนี้เป็นอย่างไร ชีวิตข้างหน้าจะไปทางไหน มันมาจาก "กรรม" คือการกระทำของตัวเราเอง โดยมีสามสิ่งที่จะเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา คือความเป็นมา ความเป็นอยู่ และความเป็นไป
ความเป็นมา คืออดีตทั้งหมด เป็นประสบการณ์ที่จะหล่อหลอมให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าทัศนคติ ที่มีผลต่อพฤติกรรมทั้งหมดของเรา
ความเป็นอยู่ คือชีวิตในปัจจุบัน เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากทัศนคติที่ได้จากความเป็นมา การที่เราเป็นคนอย่างไร เราคิดอย่างไร เรากระทำอย่างไร เรารัก เราเกลียด เรากลัวอะไร เราใฝ่ฝันต้องการในสิ่งใด ฯลฯ ล้วนหล่อหลอมมาจากทัศนคติที่มาจากความเป็นมาทั้งสิ้น
เราต้องย้อนไปดูตัวเราว่าเป็นมาอย่างไร คำถามว่าที่เราเป็นอยู่แบบทุกวันนี้เป็นเพราะอะไร ชีวิตข้างหน้าจะไปทางไหน คำตอบก็มาจากความเป็นมาของเรา และเราได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขชีวิตในปัจจุบันอย่างไร (อิทัปจจยตา)
อนาคตก็ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ไม่นานก็จะเป็นปัจจุบัน แล้วกลายเป็นอดีตในที่สุด ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงและเสื่อมไป ไม่มีสิ่งใดเลยที่มั่นคงถาวร ปัจจุบันก็กำลังจากไปทุกวินาที ส่วนอนาคตนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเหลือเวลาอยู่เท่าไหร่ จึงไม่จำเป็นที่ใครจะไปยึดมั่นถือมันกับสิ่งใด ๆ ให้มากเกิน
เจริญพร
พระมหาทรงศักดิ์ จิรสุโภ
วัดปากน้ำ นนทบุรี
ปัจฉิมลิขิต: คำถามที่ว่า กฏแห่งกรรมต่างกับเวรกรรมอย่างไร? ต่างกันตรงที่ เวรกรรมเป็นเพียงภาษาพูดที่เราใช้กันอยู่ โดยมีความหมายในทางพัวพัน ไม่ได้หมายถึงผลของกรรมหรือวิบาก แต่เป็นประโยคที่สื่อถึงความพัวพันจองเวร มีเวรมีกรรมต่อกัน ไม่ปล่อย เป็นเวรเป็นกรรม ไม่หลุด
สำหรับผู้มีคำถามธรรมะ อยากไขข้อข้องใจทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่อีเมล: dhammaboxes@gmail.com
++ รอยกรรม...รอยเกวียน +++
"กรรมทั้งหลาย ถ้าหากว่าเรากระทำแล้ว มันหมุนไปตามประหนึ่งวงล้อเกวียนกับรอยโค โคย่างก้าวไปที่ใด วงล้อเกวียนมันก็จะทับไป กงจักรเหมือนวงล้อเกวียน วัฏฏะคือความหมุนเวียนมันไม่สิ้นสุด ไม่รู้จบ.. "
31 ก.ค. 2562 เวลา 13.07 น.
กฎแห่งกรรมมีจริงแท้แน่นอน พระอรหันต์ทุกพระองค์ในเวลาก่อนที่จะสำเร็จ ล้วนมองเห็นอย่างแจ่มแจ้ง จึงสู้เพียรปฏิบัติอย่างหนักเพื่อให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น ฉะนั้น ถ้าเราเริ่มจากการมีสัมมาทิฎฐิ มีศีล 5 และมีสติในการใช้ชีวิต วันข้างหน้าก็ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย
31 ก.ค. 2562 เวลา 13.33 น.
มีจริงกฎแห่งกรรม ทําดีได้ดี ทําชั่วได้ชั่ว
แค่เลิกทําชั่ว ชีวิตก็ดีแล้ว
31 ก.ค. 2562 เวลา 12.15 น.
ติ้ม เวรกรรม หรือ กรรม ที่กระทำมีจริงคะขอให้คนยุคใหม่เชื่อได้ ผู้ทีทำบาปกับพ่อ แม่บาปมากๆๆๆคะ
31 ก.ค. 2562 เวลา 11.46 น.
ཨོཾམཎིཔདྨེཧཱུྃ อยากรู้ว่ามีหรือไม่มีก็ลองดูได้
31 ก.ค. 2562 เวลา 11.52 น.
ดูทั้งหมด