ทั่วไป

เร่งสำรวจแหล่งหญ้าทะเล เตรียมพื้นที่อนุรักษ์พะยูน

new18
เผยแพร่ 19 ส.ค. 2562 เวลา 10.00 น. • new18

ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 เร่งสำรวจแหล่งหญ้าทะเล บริเวณ เกาะไม้งาม อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาจ.กระบี่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลบริหารจัดการพื้นที่ การอนุรักษ์พะยูน ขณะที่ผลผ่าพิสูจน์พะยูนเพศผู้ยาวกว่า 2.6 เมตร ลอยเกยตื้นอ่าวต้นไทรเมื่อวานนี้ สัตวแพทย์พบเงี่ยงปลากระเบนเสียบในช่องท้อง คาดแผลติดเชื้อเป็นสาเหตุทำให้พะยูนเสียชีวิต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันที่ 19 ส.ค. เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ และเจ้าหน้าที่จากสถานีวิจัยป่าชายเลนที่ 29 เกาะลันตา ทำการสำรวจหญ้าทะเล ที่บริเวณเกาะไม้งาม ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ทำการสำรวจ แปลงที่ 1 จำนวน 6 แนวเบื้องต้น พบหญ้าทะเล 1 ชนิด ได้แก่ หญ้าใบพาย และพบร่องรอยการกินหญ้าทะเลของพะยูนบริเวณนี้ด้วย จึงเชื่อว่า พื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งหากินของฝูงพะยูนอีกแหล่งหนึ่งของ จ.กระบี่ โดยการสำรวจครั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการเรื่องพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยว วางแผนบริหารจัดการ กันพื้นที่ห้ามทำประมง ปลูกหญ้าทะเลเพิ่ม เพื่ออนุรักษ์พะยูน

ส่วนกรณีที่มีการพบซากพะยูนเพศผู้ ขนาดโตเต็มวัยอายุประมาณ 25 ปี ยาว 2.6 เมตร น้ำหนัก 240 กก. ลอยตายเกยต้นอยู่หน้าหาดอ่าวต้นไทร อ่าวไร่เลย์ตะวันตก หมู่ 2 ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ระบุว่า ติดเชื้อจากบาดแผลบริเวณช่องท้อง เนื่องจาก จนท.พบเศษเงี่ยงปลากระเบน ยาวประมาณ 15 ซม. เสียบติดอยู่ในช่องท้องจนเกิดการอักเสบ และอาจจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ขณะที่ผลการตรวจระบบทางเดินอาหาร จนท.พบเศษขยะพลาสติกเพียงเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยฯ เผยผลการสำรวจการเกยตื้นของพะยูนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการตายของพะยูนในทะเลไทย ระบุผลการสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบัน พบพะยูนเกยตื้นในทะเลไทยแล้ว 441 ตัว โดยจังหวัดที่พบการตายมากสุดคือพื้นที่ จ.ตรัง รองลงมาคือ จ.กระบี่ พังงา ระยอง และภูเก็ต ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขที่ จนท.รับแจ้ง แต่ยังมีอีกบางส่วนที่ไม่ได้แจ้งให้ จนท.ทราบ ขณะที่สถิติการเกยตื้นเฉพาะปี พ.ศ.2562 พบมีการเกยตื้นตายแล้วรวม 16 ตัว โดยพบในทะเลฝั่งอันดามันทั้งหมด พบมากสุดที่ จ.ตรัง 8 ตัว กระบี่ 5 ตัว พังงา 2 ตัว และสตูล 1 ตัว ถือเป็นตัวเลขการสูญเสียที่อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 10
  • ov48mai
    ออกกฎหมายห้ามนำภาชนะพลาสติกมาใช้หรือมาทิ้งบริเวณชายหาดและแม่น้ำลำคลองอย่างเข้มงวด เฉกเช่นรัฐบาลญี่ป่น
    19 ส.ค. 2562 เวลา 11.03 น.
  • nawin
    ควรทำแปลงหญ้าทะเลควบคู่ไปกับการกำจัดขยะพลาสติกในทะเล เพราะพะยูนอาจไม่ได้หากินประจำที่ในบริเวณที่จัดทำแปลงหญ้าเอาไว้ให้ หากออกไปหากินบริเวณอื่นและไปกินขยะพลาสติกอาจเกิดความสูญเสียได้อีก ส่วนกรณีที่พบพะยูนเพศผู้ตายโดยมีเงี่ยงของกระเบนหักเสียบคาอยู่ในช่องท้อง อาจเป็นเพราะมันว่ายไปเจอกระเบนที่ฝังตัวอยู่ใต้ทราย แล้วกระเบนสะดุ้งเลยใช้เงี่ยงแทงคล้ายกับสาเหตุการตายของสตีฟ เออร์วิน เมื่อในอดีต เงี่ยงกระเบนมีพิษ http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/342070
    19 ส.ค. 2562 เวลา 11.18 น.
  • ถุงในทะเลน่าห่วงกว่านะ
    19 ส.ค. 2562 เวลา 10.48 น.
  • Mng(JP)
    แสดงว่าพะยูนอาจมีความฉลาดพอที่จะแยกแยะว่าอะไรกินได้หรือกินไม่ได้ แต่ในกรณีน้องมาเรียมนั้นเขายังเล็กเกินไปที่จะอาศัยอยู่ในท้องทะเลตามลำพังยังแยกแยะไม่เป็นว่าอะไรกินได้หรือกินไม่ได้ เป็นความผิดพลาดของทีมวิจัยที่ปล่อยให้น้องอยู่ตามลำพังหิวนมทั้งคืน
    19 ส.ค. 2562 เวลา 10.57 น.
  • al far อัลฟา farook
    พี่ครับ ถ้ามีบ่อกุ้งจะไม่มีหญ้าทะเลครับ พี่เชื่อผมเหอะ หญ้าทะเลหายเกลี้ยงตั้งแต่เค้าเลี้ยงกุ้งกันครับ เพราะว่าไอ้พวกเคมี น้ำเสียที่มาจากบ่อกุ้งเป็นส่วนมาก พี่กล้าเล่นกะพวกนายทุนเหรอครับ อิทธิพลหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ คือ ใครจะกล้าแตะล่ะ
    19 ส.ค. 2562 เวลา 11.41 น.
ดูทั้งหมด