ไลฟ์สไตล์

เยี่ยมโลกศิลปะแนวเหนือจริงของ ‘เรอเน มากริต’ ที่บรัสเซลส์

The Momentum
อัพเดต 20 ต.ค. 2562 เวลา 11.41 น. • เผยแพร่ 20 ต.ค. 2562 เวลา 11.40 น. • อภิชฎา สมพามา

In focus

  • บรัสเซลส์ เบลเยี่ยม มีผลงานศิลปะที่น่าสนใจของศิลปินแนวเหนือจริงชื่อดังอย่าง เรอเน มากริต (René Magritte)
  • โดยเราสามารถชมพิพิธภัณ์ของเรอเน มากริต ได้ถึงสองแห่ง โดยแห่งแรกชื่อ Magritte Museum ที่รวบรวมผลงานของเรอเน มากริต ไว้มากมาย กับRene Magritte Musuem ที่อยู่ออกไปนอกเมือง แต่เป็นสถานที่ที่เขาอาศัยอยู่และทำงาน 
  • ที่ Magritte Museum จะโฟกัสไปที่ผลงานของเรอเน มากริต หากแต่ที่ Rene Magritte Musuem จะโฟกัสไปที่ชีวิตของเขา 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ฉันเป็นติ่งค่ะ ไม่ใช่หลงรักเกิร์ลกรุ๊ป หรือบอยแบรนด์ที่ไหนเป็นพิเศษหรอกนะคะ แต่ในที่นี้ฉันขอเรียกตัวเองว่าเป็นติ่งของศิลปินชาวเบลเยี่ยม ยุคเหนือจริง (Surrealism) อย่าง เรอเน มากริต (René Magritte) ที่เมื่อได้มาเยือนบรัสเซลส์ แล้วต้องตามมากรี๊ดชมงานศิลปะของเขาถึงที่ 

The Lovers (1928) 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พูดถึง เรอเน มากริต หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าเขาคือใคร แต่ถ้าได้เห็นภาพผลงานอย่าง The Lovers (1928) Golconda (1953) The Son of Man (1964) และ The Treachery of Images (1948) กับรูปไปป์ที่มีข้อความเขียนว่า This is Not a Pipe ก็น่าจะผ่านตาอยู่บ้าง ซึ่งศิลปินยุคเหนือจริงหลายคนมักสร้างผลงานที่เหมือนหลุดออกมาจากความฝัน แต่ผลงานของ เรอเน มากริต มักเอาความประหลาดจากความปกติทั่วไปมานำเสนอแบบแปลกสุดๆ ซึ่งดูขัดกับกฏวิทยาศาสตร์ ความจริง และอาจไม่มีความหมายตายตัว 

The Son of Man (1964) ที่มากริตไม่เคยตอบว่า ผู้ชายคนนี้คือใคร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บรัสเซลส์มีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเขาอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ Magritte Museum ใจกลางเมืองเขต Sablon กับ Rene Magritte Musuem อยู่ชานเมืองเขต Jette ว่ากันว่าการจะเข้าใจบรัสเซลส์ในด้านความเป็นเมืองแห่ง Surrealism ก็ต้องเริ่มจากการทำความรู้จัก เรอเน มากริต นี้แหละ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งแม้ชื่อจะดูคล้ายกัน แต่มีความต่างกันอยู๋ไม่น้อย 

บรรยากาศระหว่างทางไป Magritte Museum

Magritte Museum

เริ่มกันที่ มากริตมิวเซียม (Magritte Museum) เขต Sablon ที่ตั้งอยู่ ณ โรงแรมเก่ารูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก โดยพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการของมากริตช์แห่งนี้ คือหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ Royal Musuem of Fine Arts ที่รวบรวมผลงานกว่า 200 ของศิลปินชาวเบลเยี่ยมผู้นี้เอาไว้ ตั้งแต่ยุคตามล่าความฝันที่ปารีส โดยยังวาดภาพในแบบอิมเพรสชันนิสม์ (impressionism)  สมัยหาเลี้ยงชีพจากการเป็นกราฟฟิก ดีไซเนอร์ที่เขาชิงชังศิลปะเพื่อการค้าพวกนี้เหลือเกิน (แต่ก็ผลิตผลงานโฆษณาไว้มากมายดังที่นำมาจัดแสดง) ต่อด้วยยุคของการเป็นศิลปินในลัทธิเหนือจริงอย่างเต็มตัว รวมถึงผลงานอื่นๆ ทั้ง บทประพันธ์เพลง ภาพยนตร์ และภาพถ่าย ที่ส่วนใหญ่มาจากคอลเล็กชั่นของ จอร์เจ็ตตา มากริตช์ (Georgette Magritte)ภรรยาของเขา และไอรีน แฮร์มัว (Irène Scutenaire-Hamoir) รวบรวมเอาไว้

หน้าพิพิธภัณฑ์ 

ระหว่างทางไปพิพิธภัณฑ์จะผ่านจัตุรัส Mon Des Art และผ่านแกลอรีและร้านหนังสือต่างๆ ที่มีรูปของ เรอเน มากริตและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา 

ผลงานต่างๆของมากริต ที่มีคำบรรยายถึง 3 ภาษา

เราไปถึงมากริตมิวเซียมในช่วงบ่าย วิธีการเดินชมผลงานค่อนข้างมีความซับซ้อนชวนให้ใช้ความคิด คล้ายกับการเดินวนในเขาวงกต เริ่มจากซื้อตั๋วที่ชั้นล่างสุด (ประมาณ 10€  ไม่รวมคอลเล็กชั่นอื่นๆ) ก่อนที่จะขึ้นลิฟต์ไปชั้น 3 เพื่อเริ่มชมผลงานที่มี 3 ภาษาในการบรรยายได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และ ดัตช์ (เบลเยี่ยมใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาดัตช์เป็นภาษาหลัก) แต่ตัวอักษรเหล่านี้แทบไม่มีประโยชน์ในการดูงานของเรอเน มากริตเท่าไรนัก เพราะผลงานกับชื่อภาพจะไม่สัมพันธ์กันแม้แต่น้อย 

*จอร์เจ็ตตา มากริตช์ (Georgette Magritte)ภรรยาของเขา *

 

ชั้นล่างสุด มีห้องชมภาพยนตร์

เราเดินลงบันไดไปเรื่อยๆ จนกลับมาชั้นล่างสุดเพื่อชมภาพยนตร์ที่มีความยาวชั่วโมงกว่าๆ เนื้อหาเหมือนเดินตามรอยเท้าของเรอเน มากริตในแต่ละยุคสมัย และตามเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของเขาเพื่อเข้าใจตัวศิลปินมากขึ้น 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นำเสนอให้เห็นทั้งสองมุมมอง หากคุณไม่รู้จักเรอเน มากริต มาก่อนแล้วสนใจที่จะทำความรู้จักเขาผ่านผลงานเลยก็สามารถทำได้เพียงเเค่เดินชมภาพไปเรื่อยๆ หากคุณอยากรู้จักเขาก่อนสักหน่อย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการถอดรหัสความลึกลับผลงานของเขา พิพิธภัณฑ์ก็มีการแทรกประวัติย่อๆ เรียงตามปีให้สอดคล้องกับผลงานที่แสดงในห้องนั้นๆ อีกด้วย ส่วนตัวฉันคิดว่าพิพิธภัณฑ์ค่อนข้างนำเสนอให้เราเห็นภาพรวมของผลงานของเขามากกว่าที่จะโฟกัสไปที่ตัวของเขา 

ร้านขายของที่ระลึก

ระหว่างทางไป Rene Magritte Museum 

Rene Magritte Musuem หรือพิพิธภัณฑ์บ้านมากริต

บางคนอยากเข้าใจ เรอเน มากริตให้มากขึ้น ก็ต้องนั่งรถจาก Central Station ไปเขตชานเมือง Jette ประมาณ 30 นาทีได้ วิวสองข้างทางจากความเป็นเมืองค่อยๆ เปลี่ยนฉากเป็นบ้านเรือนอยู่อาศัย และชวนให้หลงทางเพราะไม่มีอะไรเป็นจุดสังเกต จนฉันเห็นภาพโมเสกของเรอเน มากริต อยู่ตรงกำแพงแต่ไกล จึงได้เดินเลี้ยวเข้าซอยไปจนเจอสแตนดี้หน้าบ้านเลขที่ 135 ซึ่งประตูทางเข้ามีข้อความเขียนไว้ว่า ‘กดกริ่ง 2 ครั้ง เพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์’

หน้าบ้านหมายเลข 135 

ไม่กี่อึดใจหลังกดกริ่ง เสียงฝีเท้าค่อยๆใกล้เข้ามา คนดูแลพิพิธภัณฑ์เปิดประตูต้อนรับเราและพาเราเข้าไปข้างใน เพื่อจ่ายค่าเข้าชม (8€) “ที่นี่ไม่ใช่มากริตมิวเซียมที่รวมผลงานของเขาไว้นะ” เธอบอกเรา ฉันพยักหน้า ถ้ามากริต มิวเซียมที่กลางเมืองโฟกัสที่ผลงานของเขา ที่นี่ก็คือพิพิธภัณฑ์ที่โฟกัสที่ตัวของเขา เพราะ เรอเน มากริตอาศัยอยู่ที่ชั้นล่างสุดของแฟลตหลังนี้เป็นเวลากว่า 24 ปี แม้เเรกเริ่มจะย้ายมาอยู่ย่านนี้เพราะฐานะการเงินที่ไม่สู้ดี แต่เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงเจ้าตัก็ยังพำนักอยู่ในแฟลตหลังน้อยนี้จนถึงปี 1954 

ชั้นล่างของแฟลตหลังนี้รักษาไว้เหมือนกับตอนที่ เรอเน และ จอร์เจ็ตตา มากริต ยังอยู่ ชั้นสองและสามจะเป็นประวัติ ไดอารี่ รูปวาดขีดๆ เขียนๆ จดหมาย รูปถ่าย และของส่วนตัวที่หลายชิ้นไปปรากฏในผลงานของเขา เธอยื่นกระดาษแข็ง 2 ใบเพื่อเป็นแนวทางในการเข้าชมผลงาน โดยให้เดินตามเข็มนาฬิกา ในกระดาษจะบรรยายสิ่งที่จัดแสดงในตู้กระจก บนผนัง ที่นี่ค่อนข้างต้องใช้สมาธิในการเข้าชมมากกว่าที่แรก 

ชั้นล่างของแฟลตที่รักษาไว้เหมือนตอนมากริตยังอาศัยอยู่ 

“คุณอยากมาเดินทัวร์กับเราก่อนไหม แล้วค่อยกลับมารู้จักเรอเน มากริต ต่อก็ได้” สาวผมบลอนด์ผู้ดูแลถามเรา และพาฉันลงไปชั้นล่างเพื่อดูแต่ละห้อง ฉันรู้สึกว่าห้องต่างๆ ดูคุ้นตาทั้งๆ ที่ฉันมาเป็นครั้งแรก เธอเปิดผลงานของเรอเน มากริต จากแฟ้มรวบรวมภาพและอธิบายว่า ความคุ้นตาที่ฉันรู้สึกมันมีที่มาที่ไป เพราะ เรอเน มากริต ก็ดึงเอาแต่ละส่วนของบ้านมานำเสนอในมุมมองเหนือจริงผ่านผลงานของเขา ตั้งแต่ผนังห้องนั่งเล่นที่ทาเป็นสีฟ้า เหมือนในรูป Personal Values (1952) ทุกอย่างในรูปเหมือนห้องนั้นหมด เว้นแต่ขนาดใหญ่กว่า บันไดที่อยู่กลางห้องก็เหมือนกันบันไดในภาพ La Lecture Denfendue (1936) เหลือเกิน 

ในห้องนอนยังมีสุนัขสตัฟฟ์วางไว้บนเตียง ชื่อว่า ลูลู่ (Loulou) ซึ่งเป็นสุนัขที่เรอเน มากริต รักมาก แม้ลูลู่จะตายไปก็ยังตั้งชื่อลูก ชื่อหลาน ชื่อเหลนของมันว่าลูลู่ทุกตัว และในหลายงานของเขาก็มีเจ้าลูลู่นี่แหละโผล่มา หนึ่งในส่วนที่ฉันชอบในห้องนี้ คือพรมที่สะท้อนถึงสภาพขัดสนทางเงินทองของเขา เพราะแทนที่จะเป็นพรมนุ่มๆในห้องนอน กลับใช้พู่กันเพ้นสีเอาไว้แทน

เรามีเวลาเดินเล่นนอกบ้านไปตรงสวนมีสตูดิโอเก่าของเขา ที่ เรอเน มากริต ใช้เป็นที่ตั้งเอเจนซีโฆษณาของตัวเอง ฉันเดินขึ้นไปชมประวัติอื่นๆ ของเขา นอกจากสิ่งของใกล้ตัวที่เขานำไปวาด เช่น ไปป์ นก สุนัข บานประตู ก็มี จอร์เจ็ตตา ภรรยาผู้ร่วมทุกข์และร่วมสุขของเขานี่แหละที่เป็นแรงบันดาลให้เรอเน มากริต นำไปวาดบ่อยๆ  

ควรไปที่ไหนก่อน 

สำหรับฉันแนะนำให้ไป René MagritteMuseum ที่ Jette ก่อน เพื่อนจะได้เข้าใจความเป็นตัวของ เรอเน มากริต มากขึ้น และต่อด้วย Magritte Museum แต่ในความรู้สึกของผู้เขียน คิดว่าควรเว้นระยะเวลาในการเข้าชมในแต่ละที่ไว้สัก 1-2 วัน อย่างฉันที่มุ่งมั่นที่ว่าใช้เวลาทั้งวันที่มีกับการคลุกตัวอยู่ในมิวเซียมทั้งสองแห่ง เอาให้เมาศิลปะกันไปข้างก็ประสบกับความล้มเหลว ด้วยผลงานของ เรอเน มากริต ที่มีเนื้อหาเสียดสี ขบคิด จนต้องใช้เวลาละเลียดผลงานของเขาในแต่ละที่ 

บรัสเซลส์เมืองแห่งความเซอเรียล

ศิลปะเหนือจริงเมคเซนต์ขึ้นมาเมื่ออยู่ในเมืองแห่งความเซอเรียลอย่างบรัสเซลส์ ด้วยตึกรามบ้านช่องของที่นี่ ดูผสมรวมกันในรูปแบบแปลกแบบเหนือจริง และมีพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับงานศิลปะแบบ Surrealism เต็มไปหมด โดย เรอเน มากริต อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก เพราะเขาเปรียบเสมือนผู้ปลุกกระเเสความเหนือจริงให้เป็นที่รู้จัก เรอเน มากริตและศิลปินอีกหลายท่านรวมกลุ่มกันเป็น Belgian Surrealism ที่มีคอนเซ็ปต์ในการท้าทายรูปแบบความคิดเดิมๆ ชอบนัดเล่นหมากรุกกันทุกสัปดาห์ ณ ผับ Greenwich หากอยากเดินตามรอยพวกเขา และทำความรู้จักว่าร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ และพิพิธภัณฑ์ไหนในบรัสเซลส์ให้ความเป็นเซอเรียลลิสติกแบบเพียวๆ ได้บ้าง ก็ลองเข้าไปดูเพิ่มเติมได้นะคะ 

แต่ส่วนตัวฉันเอง ขอเลือกจบวันเเบบกลับมาสู่โลกความจริง ซื้อเบียร์สักกระป๋องที่ป็อปอัพบาร์แถวๆ Mon Des Art มานั่งจิบ แล้วคิดเล่นๆ ว่าถ้า เรอเน มากริต มานั่งอยู่ตรงนี้เขาจะคิดอย่างไรกับวิวพระอาทิตย์ตกเหนือเมฆบรัสเซลส์ทั้งเมืองที่อยู่ตรงหน้า แล้วถ้าวันดีคืนดี เรอเน มากริต มาดังในยุคนี้

Fact Box

  • ลัทธิเหนือจริง (Surrealism) ศิลปะที่เน้นการถ่ายทอดที่เหนือจริง คล้ายกับมาจากจิตใต้สำนึก ความฝัน ความประหลาด คือความจริงทั่วไปแต่นำมาสร้างในมุมมองที่ดูยังไงก็ขัดกับความเป็นจริง ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้แก่ เรอเน มากริต และซัลวาดอร์ ดาลี เป็นต้น ขณะที่อิมเพรสชันนิสม์ (impressionism)เป็นลัทธิศิลปะที่เกิดขึ้นมาก่อน เน้นความงามจากสิ่งสามัญ เนื้อหาคือเรื่องราวทั่วไปแต่มีมุมมองที่พิเศษ ศิลปินที่มีชื่อเสียง ได้แก่ โมเน่ต์ และเรนัวร์ เป็นต้น

 

ดูข่าวต้นฉบับ