กีฬา

'คริปโทเคอร์เรนซี' กับวงการกีฬา ความเปลี่ยนแปลงโลกการเงิน 'นิวเจน'

MATICHON ONLINE
อัพเดต 16 ม.ค. 2565 เวลา 03.30 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2565 เวลา 03.30 น.

‘คริปโทเคอร์เรนซี’ กับวงการกีฬา ความเปลี่ยนแปลงโลกการเงิน ‘นิวเจน’

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถ้าพูดถึงกระแสที่ได้รับความสนใจ และถูกพูดถึงมากที่สุดในปี 2021 ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “คริปโตเคอร์เรนซี และบล็อกเชน”

ใครต่อหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คริปโเคอร์เรนซี และ บล็อกเชน จะเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการเงินในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และถ้าหากคริปโทเคอร์เรนซี เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคตจริงๆ จะสร้างผลกระทบต่อวงการกีฬาให้เปลี่ยนไปเป็นในรูปแบบไหนได้บ้าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“Cryptocurrency” (คริปโทเคอร์เรนซี หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่าคริปโท) คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง ที่กระแสกำลังมาแรงอย่างมากในปัจจุบัน เหรียญคริปโตสามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือเก็บสะสม แต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ เหมือนเป็นสินทรัพย์ที่ลอยอยู่บนอากาศ เหรียญคริปโตมีความผันผวนในตัวเองสูงมากๆ เพราะราคาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทุกวินาที เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกสามารถเทรดกันได้ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีวันหยุด

ปัจจุบันเหรียญคริปโทมีเกือบ 9,000 เหรียญ อ้างอิงจากฐานข้อมูลของ เว็บ coinmarketcap.com (คอยน์มาร์เก็ตแคป ดอท คอม) เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเหรียญ ซึ่งเหรียญที่มีมูลค่ามากที่สุดคือ“Bitcoin” (บิทคอยน์) ที่เคยพุ่งขึ้นไปทำราคาสูงสุดตลอดกาลอยู่ที่ประมาณ 69,000 ดอลลาร์สหรัฐ(2.3 ล้านบาท) ต่อ 1 บิทคอยน์ แต่ปัจจุบัน ณ วันที่ 13 มกราคม 2565 เวลา 15.00 น. ราคาของบิทคอยน์อยู่ที่ 43,800 ดอลลาร์(1.4 ล้านบาท) ต่อ 1 เหรียญ

ส่วนเทคโนโลยี “Blockchain” (บล็อกเชน) เปรียบเสมือนเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ของอินเตอร์เน็ต บล็อกเชน เป็นการแลกเปลี่ยนมูลค่า โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่งพาตัวกลางที่คอยจดบันทึก หรือเก็บข้อมูลธุรกรรมต่างๆ โดยข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนทั้งหมด ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ บล็อกเชนถูกนับว่ามีความปลอดภัยสูง และตรวจสอบได้

โดยอินเตอร์เน็ตเจเนอเรชั่นที่ 1 เรียกว่า “TCP/IP (ทีซีพี/ไอพี)” เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ในสมัยก่อนผู้คนจะต้องเพิ่งตัวกลางในการสื่อสาร อย่างเช่นไปรษณีย์, โทรเลข หรือหนังสือพิมพ์

แต่ปัจจุบันพอมี ทีซีพี/ไอพี เข้ามา ทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องเพิ่งตัวกลางในการสื่อสาร อย่างเช่น การโพสต์ข้อความ, รูปภาพ หรือข่าวสารบนเฟซบุ๊ค, การโทรคุยกันผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์, การส่งสติ๊กเกอร์ พูดคุยกันผ่านแมสเซนเจอร์ โดยทีซีพี/ไอพี เหมือนเป็นหลังบ้านให้กับ “โซเชียลมีเดีย”

ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการนำเงินดิจิทัลที่ลอยอยู่ในอากาศ ออกมาเป็นเงินสดที่สามารถจับต้องได้ ในแอพ Bitkub (บิทคับ ตลาดเทรดเหรียญอันดับหนึ่งของประเทศไทย) เมื่อนักลงทุนขายเหรียญ เงินบาทจะถูกโอนเข้าประเป๋าเงินบาทในแอพก่อน และหลังจากนั้น นักเทรดสามารถเลือกได้ว่าจะโอนเงินเข้าธนาคาร หรือว่านำเม็ดเงินบางส่วนมาลงทุนต่อ

ปัจจุบันหลังจากเทคโนโลยีบล็อกเชนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้มีการนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมทางการเงินเพียงอย่างเดียว

สำหรับวงการกีฬาทั่วโลกจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแรกๆ ที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาเข้ามา โดยใช้วิธีการทำเหรียญ Fan token (แฟนโทเคน) ขึ้นมา แฟนโทเคนเป็นเหรียญดิจิทัลสำหรับการสร้างรายได้รูปแบบใหม่ของสโมสรต่างๆ โดยจะต้องจับมือกับSocios (โซเซียส) แพลตฟอร์มเทรดเหรียญชื่อดังในการสร้างแฟนโทเคนของตัวเอง

จุดประสงค์ของแฟนโทเคน คือ การเชื่อมต่อกันระหว่างสโมสรกับแฟนคลับ ในตอนนี้แฟนโทเคนยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เลยยังไม่สามารถสร้างรายได้อื่นๆ นอกจากการเทรดกันของนักลงทุน แต่ในอนาคตข้างหน้า ถ้าหากกระแสของแฟนโทเคนมาแรง และมีการใช้งานที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เราอาจจะสามารถนำเหรียญไปซื้อของที่ระลึก หรืองานศิลปะของสโมสร, สิทธิพิเศษมากมายที่สโมสรมีให้กับผู้ถือเหรียญ, การร่วมโหวตแนวทางการพัฒนาของสโมสร, การร่วมกิจกรรมที่ทางสโมสรจัด, การได้มิตติ้งกับนักเตะ หรือจะเป็นการได้รับการ์ดวันเกิดจากผู้เล่นในดวงใจ โดยกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสโมสร

 

อย่างเช่น สโมสรปารีส แซงต์แชร์แมง ที่มีแฟนโทเคนเป็นของตัวเองชื่อว่า ปารีส แซงต์แชร์แมง แฟนโทเคน หรือเรียกย่อๆว่า PSG ปัจจุบันมีสิทธิพิเศษให้กับผู้ที่ถือแฟนโทเคนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้ถือโหวตเลือกข้อความที่จะประทับอยู่บนปลอกแขนกัปตันทีม, โหวตการยิงประตูยอดเยี่ยมของฤดูกาล, โหวตการป้องกันประตูยอดเยี่ยมของฤดูกาล, โหวตการโชว์ทักษะยอดเยี่ยมของฤดูกาล, โหวตเลือกข้อความที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือแรงกระตุ้นให้กับนักเตะอ่านก่อนแข่ง และโหวตเลือกปกเกมฟีฟ่า 2022

แถม “ลิโอเนล เมสซี่” ก็กลายเป็นนักเตะคนแรกของโลก ที่ได้รับแฟนโทเคนเป็นส่วนหนึ่งของการเซ็นสัญญาเข้าร่วมยอดทีมแดนน้ำหอม ปัจจุบันเหรียญ PSG มีราคาอยู่ที่ 15.23 ดอลลาร์สหรัญ (510 บาท) ต่อ 1 เหรียญ ณ วันที่ 12 มกราคม 2565 เวลา 15.00 น. ส่วนราคาที่เหรียญเคยขึ้นไปทำมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 61.53 ดอลลาร์สหรัฐ(2,000 บาท) ต่อเหรียญ ซึ่งเป็นช่วงที่เมสซี่ทำการเปิดตัวกับเปแอสเช

อินเตอร์ มิลาน แชมป์กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ฤดูกาลล่าสุด ได้เปลี่ยนสปอนเซอร์คาดหน้าอกจาก “Pirelli (พีเรลลี่)” บริษัทยางรถยนต์ชื่อดัง มาเป็น “socios.com (โซเซียส ดอท คอม)” แอพพลิเคชั่นเทรดเหรียญคริปโต และผู้สร้างแฟนโทนเคนให้กับวงการกีฬา

หลังจากที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้ทำการเปิดตัว เมตา ไปเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับโซนี่ เดินหน้าพัฒนา เมตาเวิร์ส หรือจักรวาลนฤมิต เพื่อต้องการให้แฟนบอลได้สัมผัสบรรยากาศแบบเสมือนจริง โดยจะจำลองสนาม เอติฮัด สเตเดียม ขึ้นมา นี่ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะได้เห็นการสนับสนุนเหรียญคริปโตของวงการฟุตบอล

ถ้าอ้างอิงข้อมูลจากFanMarketCap (แฟนมาร์เก็ตแคป) เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านแฟนโทเคน ออกมาเปิดเผยในเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า มูลค่าตลาดของแฟนโทเคนมีมูลค่าสูงถึง 417 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.3 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นมากถึง 60% จากเดือนมิถุนายน 2564 ที่มูลค่าตลาดอยู่ที่ 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8.6 พันล้านบาท) และปัจจุบัน ณ วันที่ 13 มกราคม 2565 เวลา 15.00 น. มูลค่าตลาดของแฟนโทเคนอยู่ที่ 391 ล้านดอลลาร์ (1.2 หมื่นล้านบาท)

โดยเหรียญที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดคือ ปารีส แซงต์แชร์แมง แฟนโทเคน ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(1.5 พันล้านบาท) ณ วันที่ 13 มกราคม 2565 เวลา 19.43 น.

 

 

ส่วนนักกีฬาฟุตบอลที่อยู่ในวงการคริปโท ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ รีซ เจมส์ นักเตะเชลซี ที่ซื้องานศิลปะ และเปลี่ยนรูปภาพทวิตเตอร์ส่วนตัวของตัวเองเป็นรูปเอป (สายพันธุ์ชนิดหนึ่งของลิง) ซึ่งงานเอ็นเอฟที เป็นงานศิลปะ ที่ถือเป็นหนึ่งในประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะต้องใช้เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีซื้อ-ขาย

 

 

ส่วนนักกีฬาไทยที่ถือครองเหรียญคริปโตนั่นก็คือ “เมสซี่เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ กัปตันทีมชาติไทย เคยออกมาโพสต์รูปภาพแบบติดตลกบนเฟซบุ๊กของตัวเอง หลังเหรียญคริปโตที่ชื่อว่า“Bitkub coin หรือ KUB”  (บิทคับ คอยน์) ซึ่งเป็นเหรียญคริปโทสัญชาติไทยราคาตก

 

 

รวมถึงนักฟุตบอลทีมชาติไทยทุกคน ที่เพิ่งไปเถลิงบัลลังก์แชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ สมัยที่ 6 ที่ประเทศสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน “ท็อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งบริษัทบิทคับ แพลตฟอร์มเทรดเหรียญชื่อดังของประเทศไทย ได้อัดฉีดเหรียญบิทคับ คอยน์ให้กับนักเตะทัพช้างศึกเพื่อเป็นเป็นรางวัลให้กับการคว้าแชมป์ครั้งนี้

ส่วนวงการบาสเกตบอลเคลย์ ธอมป์สัน และ อันเดร อิกัวดาลา  2 นักกีฬาบาสเกตบอลของทีม โกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส ได้รับเงินเดือนส่วนหนึ่งเป็นเหรียญบิทคอยน์ พร้อมกับบริจาคบิทคอยน์ มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์(34 ล้านบาท) ให้กับบรรดาแฟนคลับ เพื่อหวังว่าแฟนคลับของทั้งคู่จะเข้าถึงบิทคอยน์ได้ง่ายขึ้น ทางธอมป์สัน และอิกัวดาลา มีความเชื่อว่า บิทคอยน์ คือ อนาคตของโลกการเงิน

 

 

ปัจจุบันวงการฟุตบอลมีทีมที่มีเหรียญแฟนโทเคนเป็นของตัวเอง ประกอบด้วย อาร์เซน่อล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เอฟเวอร์ตัน, ลีดส์ ยูไนเต็ด, ปารีส แซงต์แชร์แมง, โมนาโก, บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก้ มาดริด, บาเลนเซีย, ยูเวนตุส, เอซี มิลาน, อินเตอร์ มิลาน, โรม่า, นาโปลี ฯลฯ

ไม่ใช่เพียงวงการฟุตบอลเพียงอย่างเดียวที่มีแฟนโทเคน วงการอีสปอร์ต, วงการมวย, มอเตอร์สปอร์ต, บาสเกตบอล, เทนนิส, อเมริกัน ฟุตบอล และไอซ์ ฮอกกี้ ก็มีแฟนโทเคนเช่นกัน แต่ยังไม่เติบโตเท่ากับกีฬาฟุตบอล

ถ้าดูจากตัวเลขมูลค่าของตลาดแฟนโทเคนที่มีเปอร์เซ็นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และการเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมกีฬาต่างๆ แม้ในช่วงนี้กระแสของแฟนโทเคนยังไม่เป็นที่รู้จักเท่ากับเหรียญอื่นๆ แต่กลับมีมูลค่าทางตลาดสูงมาก

นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คริปโทเคอร์เรนซี กำลังจะเข้ามามีบทบาทในวงการกีฬา และเป็นเทรนด์ใหม่ที่เติบโตได้อีกหลายเท่าตัวในอนาคต…

 

 

 

 

ดูข่าวต้นฉบับ