สัปดาห์ที่ผ่านมาที่เรื่องน่าสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
นั่นคือ เนื้อหาในหนังสือ “ภาษาพาที” มีเรื่องราวของข้าวปุ้น กับใยบัว ที่พูดเรื่องครอบครัวของข้าวปุ้นที่ยากจนแต่มีความสุข
โดยแสดงผ่านการที่ใยบัวไปกินข้าวบ้านข้าวปุ้น แล้วอาหารมีเพียงไข่ต้ม กับผัดผักบุ้ง
ใยบัวกลัวว่าอาหารจะไม่พอกิน รู้สึกลังเล
แต่ข้าวปุ้นสาธิตให้ดูว่า เอาไข่มาแค่ครึ่งลูก คลุกข้าว เคล้าน้ำปลา แค่นี้ก็อร่อยมากๆ พอเติมข้าว ก็คลุกกับน้ำผัดผักบุ้ง ผู้ใหญ่กินข้าวคลุกไข่ต้มเช่นกัน แต่กินกับพริกแห้งๆ ทุกคนหัวเราะ พูดคุยกันอย่างมีความสุข
บทเรียนที่ใยบัวได้คือ คนเราไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมาย หากครอบครัวมีความรัก ความเข้าใจ แม้จะมีความอัตคัดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร
ความรักจะทำให้ทุกอย่างเป็นพาสเทล
มีคนนำสิ่งนี้มาโพสต์ในเฟซบุ๊ก และใครๆ ที่ได้เห็น (ปกติ หากเราไม่มีลูกที่เรียนแบบเรียนนี้คงไม่ได้เห็น) ก็พากันตกใจ รวมทั้งตัวฉันด้วย
นักโภชนาการกรีดร้องว่า เด็กกินแค่นี้ ไม่ครบโภชนาการ เสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร ไหนจะเสี่ยงต่อโรคไต เพราะกินเค็ม โรคอ้วนเพราะกินแป้งมากเกินไป
นักสังคมศาสตร์พูดเรื่องการ romanticized ความจน เป็นอุบาย เป็นการก่อรูปเชิงอุดมการณ์ที่แฝงฝังอยู่ในแบบเรียนอย่างแนบเนียน
ทำให้คนไทย เด็กไทย เห็นว่า ความจนไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่เกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ไม่เกี่ยวกับความห่วยแตกในการบริหารประเทศของรัฐบาล
ไม่เกี่ยวกับสิทธิพลเมือง
ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย
ความจนเกิดขึ้นเพียงเพราะเราเกิดมาจนยังไงล่ะ
เมื่อเราเกิดมาจนแล้ว เราก็อย่าซ้ำเติมชีวิตเราให้มันทุกข์กว่านี้เลย
ถ้าเราคิดมาก เราก็จะเครียด
ถ้าเราไปด่ารัฐบาล เราก็จะมีแต่ความโกรธ หาความสุขไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราควร “พอใจในสิ่งที่เราอยู่”
ที่สำคัญ ถ้าเราจน เราควรขยัน มัธยัสถ์ อดออม ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน ไม่เจ้าชู้ ไม่ดื่มสุรา เด็กในครอบครัวยากจน ควรมีนิสัยที่ดี เพื่อนจะได้รัก
เพียงเท่านี้ เราก็จะมีชีวิตที่มีความสุข โดยไม่ต้องออกไปต่อสู้ เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วนคนที่ร่ำรวยก็อย่าไปดูถูกคนจนนะ ควรดูคนจนเป็นตัวอย่างว่าขนาดเขาจน เขายังมีความสุขเลย
คนร่ำรวยก็จงเมตตากรุณาต่อคนจน แค่นี้สังคมก็อยู่ร่วมกันได้แล้ว
เราไม่ต้องสงสัยหรอกว่า ทำไมคนอื่นมีรายได้มากกว่าเรา
ทำไมพ่อแม่คนอื่นมีการศึกษาสูงกว่าพ่อแม่ของเรา นิ้วมื้อห้านิ้วยังไม่เท่ากันเลย เราต้องเข้าใจธรรมชาติ
และ “ธรรมะ” ของสรรพสิ่งที่จักรวาลจัดสรรมาแล้ว
ส่วนฉันในฐานะที่เคยทำวิจัยเรื่อง “ประวัติศาสตร์แบบเรียนไทย” และในฐานะที่เป็นเด็กผู้ชื่นชอบการอ่าน “แบบเรียน” อย่างยิ่งยวด ฉันคือนักเรียน ป.1 หลักสูตรปี 2521 ที่ได้เรียนหนังสือเรียน มานี มานะ ปิติ ชูใจ รุ่นแรก และฉันก็ชอบหนังสือเรียนนี้มาก
สำหรับเด็กๆ มันเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่อ่านสนุกที่สุด
มานี มานะ เป็นตัวแทนครอบครัวข้าราชการ ปิติ เป็นตัวแทนครอบครัวเกษตรกร มีสัตว์เลี้ยงคือม้าชื่อ “เจ้าแก่” และมีลิงด้วย
ชูใจเป็นตัวแทนของเด็กที่โตมากับยาย พ่อ-แม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
เพชร มีลักษณะเป็น “คนนอก” หน่อยๆ ทรงแบดนิดๆ สุดท้ายได้รับการกล่อมเกลาจากครูและเพื่อน ให้สามารถ conform กลายเป็นคนดีของสังคมได้ในที่สุด
ส่วนตัวแทนของข้าราชการในชุมชนนั้น แบบเรียนมานี มานะ ฉายภาพผ่านครูไพลินที่แสนดี กับเกษตรอำเภอหนุ่ม ที่เราก็ “จิ้น” ว่าเดี๋ยวต้องเป็นแฟนกันแน่ เป็นตัวแทนของข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ และขยันขันแข็ง
“หมู่บ้าน” ในแบบเรียน มานี มานะ คือตัวแทนของชุมชนและความเป็นไทยในอุดมคติ นั่นคือ ได้ “ฉาย” ให้นักเรียนจินตนาการว่า ประเทศไทยคือ “ชนบทอันสงบสุข” ทุกคนอยู่ด้วยความเอื้อเฟื้อ สามัคคี ร่วมกันสอดส่องเฝ้าระวังศัตรูจากภายนอก (ลัทธิคอมมิวนิสต์, ทุนนิยมตะวันตก)
มีศาสนาพุทธที่ทำให้คนไทยเป็นคนจิตใจดี เป็นชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ ชีวิตช่างราบรื่น ปราศจากอุปสรรค
และหากจะมีอุปสรรคใดๆ ทุกคนก็จะใช้ความรัก ความช่วยเหลือกันและกัน ให้ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้
และนี่คือเมืองไทยที่นักเรียนทุกคนควรภูมิใจ และช่วยกันจรรโลงรักษาเอาไว้
ฉันอยากให้เราตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่าการ romanticized ชนบทในแบบเรียนยุคนี้เน้นว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีอาหารเหลือเฟืออยู่ในธรรมชาติ
ขณะเดียวกัน ในแบบเรียน สลน. หรือ สร้างเสริมลักษณะนิสัย จะมีเรื่องสั้นหรือนิทานที่ว่าด้วยครอบครัวนักเรียนที่เป็นชาวสวนผักและนำผักมาขายในตลาด ฉันจำได้แม่นว่า เด็กนักเรียน และพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรสวนผักนั้น กินอาหารอร่อยๆ ทุกมื้อ เช่น แกงจืดตำลึงหมูสับกับข้าวร้อน น้ำพริก ผัก ปลา และเมื่อต้องมาขายของในตลาด พวกเขาพากันบ่นว่า ก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดไม่อร่อย ไม่มีคุณค่าทางอาหารและราคาแพง
ในแบบเรียน สลน.อีกเช่นกัน ฉันจำได้ถึงหลายๆ เมนูที่ปรากฏในแบบเรียน ไม่ว่าจะเป็นแกงส้มที่ต้องแกะปลาลงไปตำกับน้ำพริกแกงให้ข้น การเก็บผักริมรั้วมาทำกับข้าวแสนอร่อย หรือการมีผักสวนครัว รั้วกินได้
เด็กนักเรียนอย่างฉันอ่านแล้วเพ้อมาก ชอบชนบท และอาหาร “ชนบท” ที่ปรากฏในแบบเรียนนี้มาก
ไม่ต่างอะไรจากที่คนในปัจจุบันชอบดูคลิปของยูทูบเบอร์ที่แสร้งจัดฉากชีวิตชนบท พอเพียง ธรรมชาติแสนสมบูรณ์ ผัก ผลไม้ การทอผ้า เตาฟืน และอาหารที่ชวนให้น้ำลายไหล
ถ้าในแบบเรียนมีเรื่องราวเช่นนี้ วรรณกรรมที่ใช้ทำโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น เด็กคลองบางหลวง เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ก็ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวอาหารอันชวนน้ำลายไหล เช่น กุ้งแม่น้ำเผา ขนมหม้อตาล หรือนิยายอย่าง “ลูกอีสาน” ที่พูดถึงชีวิตยากจนข้นแค้นในอีสาน ก็ยังอุดมไปด้วยโอชะอาหารพื้นบ้าน
ฉันกำลังจะบอกว่า เราทุกคนรู้และเข้าใจตรงกันหมดแหละว่า แบบเรียนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการล้างสมองเด็ก และใช้กล่อมเกลาสร้างพลเมืองในแบบที่รัฐปรารถนาจะเห็น
ในรัฐไทยที่มีการปกครองแบบเผด็จการทหารอำนาจนิยมเป็นการปกครองกระแสหลัก พลเมืองที่แบบเรียน หลักสูตร และการศึกษาไทยสร้างคือพลเมืองที่ว่านอนสอนง่าย ไม่เถียง ไม่ตั้งคำถาม จำนนต่อโชคชะตา
และมองว่า ข้าราชการคือผู้มีพระคุณ ผู้ปกครองคือผู้มีพระคุณ ศาสนาพุทธต้องดีที่สุดในโลก
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด รู้รักสามัคคี ประชาธิปไตยต้องไม่เกินเลย เสรีภาพต้องมีขอบเขต บลา บลา-อันนี้ก็รู้มานานละ
แต่ที่งงมากคือ ไม่เคยมีครั้งใดที่เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อนี้จะตกต่ำถึงขั้นให้กินไข่ต้มคลุกน้ำปลา!!!
ไม่น่าเชื่อว่า คุณภาพของเครื่องมือในการล้างสมองของรัฐไทยจะตกต่ำถึงเพียงนี้
เพราะการปลูกฝังเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เขาต้องนำเสนอว่า คนจนนั้นได้กินอาหารที่อร่อย ผักพื้นบ้าน ผักปลูกเอง ปลาจากธรรมชาติ นิยาย ขนำน้อยกลางทุ่งนา ก็เต็มไปด้วยอาหารอร่ยๆ ของชนบทในภาคใต้
ฉันจะไม่ตั้งคำถามกับความเป็นโฆษณาชวนเชื่อ ล้างสมองใดๆ
แต่ขอเรียกร้องเอาเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารอร่อยๆ ของชนบทกลับคืนมา
ถ้าให้ฉันเขียนใหม่ ฉันจะเขียนว่า ใยบัว ลูกชนชั้นกลาง กินแต่จังก์ฟู้ด เฟรนช์ฟราย ไก่ทอด แล้วมาเที่ยวบ้านข้าวปุ้น แม่ข้าวปุ้นเลี้ยงไก่ มีไข่ไก่สดๆ จากเล้า มีปลาที่พ่อไปตกมาจากบ่อ มีผักบุ้ง มีตำลึง มีฟักทอง มีถั่วพลูในสวน
โอ๊ย ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า บ้านคนที่เราคิดว่าเขาจน เขาจะมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และอร่อยขนาดนี้
ใยบัวที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองรู้สึกว่า ตัวเองต่างหากที่ “ยากจน” เพราะเข้าไม่ถึงอาหารดีๆ สดๆ แบบนี้
แล้วลองตั้งสติคิดให้ดีๆ หรือนิทานในภาษาพาที เรื่องข้าวปุ้นกับใยบัวนี้แหละ ที่ไม่ได้ romanticized ความจนอย่างเช่นในแบบเรียน มานี มานะ
แต่กำลังฉายภาพให้เราเห็นความเป็นจริงว่า ไม่มีหรอกไข่ไก่ในที่ดินที่อยู่แค่นี้ ไม่มีหรอกผักในสวน การปลูกผักมันเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยนะ เอาน้ำที่ไหนรด เอาเวลาที่ไหนดูแล ไม่ฉีดยาฆ่าแมลงก็ไม่น่าจะได้กิน
ปลาในบ่อมีที่ไหน มีแต่น้ำเน่าน้ำครำ
รายได้ขั้นต่ำก็กินได้แค่นี้แหละ ไข่ต้มครึ่งลูกคลุกข้าว
แต่จะให้เขียนว่า บ้านนี้เมืองนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เต็มไปด้วยเหลื่อมล้ำ ประชาชนยากจน อดอยาก รัฐบาลไม่เห็นหัวชาวบ้าน ทำงานไม่เป็น อำนวยประโยชน์ให้แต่คนที่อำนาจ-ขืนเขียนแบบนี้ก็คงไม่ได้ตีพิมพ์ และอาจโดนไล่ออก ก็ต้องจบไปตามเพลง จนแต่มีความสุข เงินไม่ใช่เครื่องรับประกันการมีชีวิตที่ดี
ฉันกำลังจะบอกว่า “แบบเรียน” แค่สะท้อนว่า เราอยู่ในการปกครองแบบไหน?
และเราคงเปลี่ยนเนื้อหาของแบบเรียนไม่ได้ถ้าเรายังอยู่ในบ้านเมืองที่มีเผด็จการทหารนิยมครองอำนาจ
เพราะเขายังต้องการกดหัวประชาชนให้เชื่องและโง่ รวมทั้งยังใช้วิธีการที่โง่กว่าเดิม
สิ่งที่จะทำให้เยาวชนของเรารอดพ้นจากโฆษณาชวนเชื่อที่โง่เง่าลงทุกวันนี้
ก็คงต้องคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งหวังสร้าง critical thinking หรือความคิดเชิงวิพากษ์
ไม่ใช่แค่การเขียนเรื่องในตำราเรียนขึ้นมาใหม่ เพราะมันก็เท่ากับเป็นโฆษณาชวนเชื่อเวอร์ชั่นใหม่นั่นแหละ
แต่ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์จะเป็นการติดอาวุธที่ความคิดของนักเรียนให้เขารับมือได้กับทุกชนิดของงานวรรณกรรม
และลงมือชำแหละเนื้อหาเล่านั้นด้วยตัวเขาเอง
Tae ปยอ มันตีพิมพ์ สมัยไหน? สมัยอีปู รัฐมนตรีน่ะใคร? จะมาเกี่ยวไรกับเผด๊จ การ มึงมัน ปยอ อี ลิเบอรัล
30 เม.ย. 2566 เวลา 20.21 น.
ดูทั้งหมด