ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

"ซีพีเอฟ" จับมือ 3 มหาวิทยาลัย-รง.ปลาป่น ดัน 5 โปรเจ็กต์ พิฆาตปลาหมอคางดำ

ฐานเศรษฐกิจ
อัพเดต 27 ก.ค. 2567 เวลา 21.51 น. • เผยแพร่ 28 ก.ค. 2567 เวลา 04.51 น.

ขณะเดียวกันยังมีเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมต่างๆ ด้านประมงร่วมเป็นคณะกรรมการในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และจูงใจรับซื้อปลาในราคา 15 บาท/กิโลกรัม เพื่อส่งเข้าโรงงานผลิตปลาป่น และผลิตนํ้าหมักจุลินทรีย์ ให้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหว จาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ประสานความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาครที่จะบูรณาการเชิงรุกในหลายมิติร่วมกัน เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการช่วยแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ได้ข้อสรุปใน 5 โครงการ เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดสิ้นไปจากแหล่งนํ้าและน่านนํ้าไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เปิด 5 โปรเจ็กต์ “รับซื้อ-แปรรูป”

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ทางซีพีเอฟ ได้มีการติดตามข่าวตลอดเวลาในเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุด ในขณะนี้คือการเดินหน้าในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ขานรับตามนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องเร่งกำจัดปลาหมอคางดำ โดยต้องผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน และหวังที่จะมีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศในครั้งนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เชื่อมั่นว่า 5 โครงการ จะมีส่วนช่วยเร่งกระบวนการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศ อาทิ โครงการที่ 1 ทำงานร่วมกับกรมประมงสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2 ล้านกิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่นเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากและเร็วที่สุด โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมมือกับโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จังหวัดสมุทรสาคร รับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ไปแล้ว 600,000 กิโลกรัม และยังมีแผนรับซื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานจุดรับซื้อเพิ่มเติม

โครงการที่ 2 สนับสนุนภาครัฐและชุมชนปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งนํ้าจำนวน 200,000 ตัว ที่ผ่านมา บริษัทมีการส่งมอบปลากะพงขาวจำนวน 45,000 ตัวให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี ทั้งนี้ขั้นตอนในการปล่อยปลาผู้ล่าให้เป็นไปตามแนวทางของกรมประมง เป็นต้น (โครงการที่ 3-5 ดังกราฟิกประกอบ)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากการประกาศเจตนารมณ์สู่การขับเคลื่อนลงมือปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเต็มรูปแบบเพื่อลดจำนวนปลาหมอคางดำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เชื่อว่าจากความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเห็นเป็นรูปธรรม ก่อนที่โครงการใหญ่ที่จะมีการแข่งขันรับซื้อปลามากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยรัฐมีงบนำร่อง 50 ล้านบาท เมื่อหลายหน่วยงานร่วมมือกันเชื่อว่าภารกิจจะสำเร็จ

โชว์ความสำเร็จ ปลาหายไป 80%

นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า จากนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้รับซื้อปลาจากชาวประมง มาขายให้แพปลา 8 บาทต่อกิโลกรัม (ปกติราคาปลา 5-5.50 บาทต่อกิโลกรัม) จากนั้นก็มาขายเข้าโรงงานปลาป่นราคาประกัน 10 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในรอบแรก ปริมาณ 5 แสนกิโลกรัมจบไปแล้ว และล็อตที่ 2 กำลังเริ่มต้นซื้ออีก 5 แสนกิโลกรัม หากคำนวณเป็นจำนวนตัวประมาณ 30 ล้านตัว ในตอนแรกใช้เงินงบประมาณซีเอสอาร์ของบริษัทเพื่อช่วยเหลือชาวประมง สร้างแรงจูงใจให้ออกไปเร่งจับปลาให้หมด หรือลดลง จากที่มีการจับปลาต่อเนื่องทำให้ปลาหายไป 80%

ทั้งนี้หลังจากได้นำปลามาผลิตเป็นปลาป่นแล้ว ระหว่างนั้นได้มีการหารือกับทาง ซีพีเอฟ ได้รับแจ้งว่าจะช่วยรับซื้อปลา 2 ล้านกิโลกรัม เพื่อให้การแก้ปัญหามีความต่อเนื่อง โดยมีการปรับราคาใหม่ตามนโยบายรัฐบาลเพิ่มอีก 5 บาท เป็น 15 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันชาวประมงจับปลาได้ขนาดเล็กลง โดย 1 กิโลกรัม มีประมาณ 52 ตัว ซึ่งหากไม่กำจัดจะแพร่พันธุ์มหาศาลเป็นอีกหลายล้านตัว ดังนั้นการกำจัดปลาหมอคางดำ จึงถือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน แต่ต้องยอมรับว่าคงไม่สามารถกำจัดให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถทำให้ลดลงและควบคุมอยู่ในพื้นที่จำกัดได้

เพิ่มสมดุลธรรมชาติ-เพิ่มบริโภค

ผศ.ดร.สิทธิชัย ฮะทะโชติ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ต้องศึกษาพฤติกรรมปลาหมอคางดำ ในนํ้าจืดมีพฤติกรรมอย่างไร มีการแพร่กระจายอย่างไร หากอยู่ในนํ้ากร่อย หรืออยู่ในนํ้าเค็มเป็นอย่างไร ต้องให้นักชีววิทยามาช่วยศึกษาเพื่อตัดวงจรอายุขัยเบื้องต้นปลาหมอคางดำคล้ายปลานิล คือมีวงจรชีวิตประมาณ 10 ปี โดยจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่มีข้อได้เปรียบคือสามารถอยู่ได้ทั้งนํ้าจืด นํ้าเค็ม และนํ้ากร่อย มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรงได้ ดังนั้นการแพร่กระจายจึงส่งผลกระทบค่อนข้างมาก

ดังนั้นต้องนำออกจากแหล่งนํ้าธรรมชาติให้มากที่สุด แล้วใช้วิธีการนำปลานักล่าที่เป็นปลากะพงไป ซึ่งกรมประมงแนะนำให้ปล่อยปลากะพงขนาด 5-6 นิ้ว เป็นขนาดที่เหมาะสมที่จะไปกำจัดลูกปลาหมอคางดำขนาดเล็ก จะช่วยลดผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้คนไทยบริโภคปลาหมอคางดำกันมากๆ จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ผล

“ปลากินเนื้อมีเยอะในประเทศไทย ในนํ้าจืดก็มีปลาผู้ล่า เช่นปลาช่อน ปลาดุก ปลาชะโด เป็นต้น จะมีการควบคุมโซนนิ่งอยู่โดยธรรมชาติ เมื่อไรที่ปลาหมอเข้ามาจะถูกเจ้าถิ่นจัดการ ส่วนปลากะพง เป็นปลาผู้ล่า สามารถอยู่ในนํ้ากร่อย แต่ตอนนี้ยังไม่สมดุลกับปลาหมอคางดำที่เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ ส่วนในแง่อาหารสัตว์ อาหารคน สามารถนำปลาหมอมาพัฒนาผลิตเป็นปลาร้า ปลาส้ม และเมนูอื่นๆ รวมถึงใช้ทำปุ๋ย ก็อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน ในการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากที่สุด”

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4013 วันที่ 28 – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ดูข่าวต้นฉบับ