ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

แว่วเสียงจักจั่น...เมนูฤดูร้อนมาถึงแล้ว

เทคโนโลยีชาวบ้าน
เผยแพร่ 11 มี.ค. 2562 เวลา 07.02 น.
เมื่อลอกคราบหลายครั้งก็จะเป็นตัวโตสมบูรณ์

เธอเป็นราชาและราชินีของฤดูร้อน
เสียงแรกที่ได้ยินในรอบปีมีความหมายสำหรับฉัน
มันเป็นความผูกพันพิเศษระหว่างเรา
ที่ดึงตัวตนของฉันย้อนสู่อดีตได้เสมอ
………

จำไม่ได้แล้วว่าปีไหน ฉันไปเดินอยู่ชายขอบภูพานแถวอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม แถบถิ่นพื้นที่สีแดงเข้มในอดีตช่วงที่มีการเคลื่อนไหวอย่างฮึกเหิมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท.

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เด็กสาวที่ไม่ประสีประสาไม่รู้หรอกว่าสงครามอุดมการณ์และการสู้รบดำเนินไปเพื่อสิ่งใด ฉันยังเป็นเด็กประถม แค่เข้าป่าในฤดูร้อนเป็นปกติ ไปกับน้าสาวและญาติๆเพื่อจับจักจั่น

มันร้องระงมอยู่ในป่าโปร่งที่ฉันไม่รู้พิกัด ได้แต่เดินตามผู้ใหญ่เข้าไปเพื่อ “ติดจักจั่น” เสียงแมลงพวกนั้นดังกระหึ่มก้องไปทั้งป่า ดังกว่าสรรพสำเนียงหมู่สัตว์ใดในชีวิตที่เคยได้ยินมา
………
พวกเรามีไม้ไผ่รวกยาวเฟื้อยเป็นอาวุธที่ปลายไม้นั้นติดยางไม้เหนียวที่เรียกว่า “ตัง” ฉันไม่รู้ว่าตังมีส่วนผสมจากยางไม้อะไรบ้าง รู้แต่ว่ามันเหนียวหนึบ เหนียวแบบติดมือ ติดเนื้อติดตัว และติดผมเผ้า ชนิดที่ว่าต้องระวังให้มากๆ

น้าบอกว่าอย่าให้ตังติดเสื้อหรือผมเด็ดขาดเพราะยางตังล้างไม่ออก ถ้าติดผมก็ต้องตัดผมกระจุกนั้นทิ้ง และถ้าติดเสื้อก็ต้องทิ้งเสื้อไปทั้งตัว
………
จักจั่นเกาะอยู่บนเปลือกไม้ต้นที่มันชอบ สูงในระดับต้องแหงนคอส่องหา สีสันของมันเป็นสีน้ำตาลไหม้กลืนไปกับเปลือกไม้ เรามองไม่ค่อยเห็นตัวมันหรอก ต้องใช้หูฟังเสียงว่าดังมาจากจุดไหน แล้วสังเกตปีกใสๆที่ส่องประกายในแดด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เอาปลายไม้ไปแตะเบาๆ ตังเหนียวหนับแค่โดนปีกจักจั่นก็ดูดแมลงทั้งตัวลงมา วิธีนี้ปีกจักจั่นจะขาดรุ่งริ่ง แต่เราไม่สนใจปีกนั่นหรอก เราอยากได้ตัวจักจั่นต่างหาก จักจั่นจากปลายไม้จะถูกดึงออกจากยางยัดลงไปในข้อง ทีละตัวๆ มือของฉันเริ่มเหนียว…ไม่ง่ายที่เราจะเอาจักจั่นออกจากตังโดยมือไม่เปื้อน
………
บางครั้งพวกผู้ใหญ่เตรียมเครื่องทำก้อย-ลาบ ติดตัวไปด้วย เมื่อได้จักจั่นพอสำหรับมื้อกลางวันแล้วเราก็จะกินข้าวป่ากัน ผู้ใหญ่กินก้อยจักจั่นสดๆ กินกับตำแตงง่ายๆ เด็กๆก่อไฟเอาจักจั่นเสียบไม้ปิ้ง หอม…กลิ่นควันไฟอยู่ในเสียงจี่ๆของแมลงรสเลิศจากกองไฟอวลอยู่ในสายลมร้อน

น้าเล่าให้ฟังว่า พวกที่จับจักจั่นไปขายตัวสวยๆ เขาจะออกล่ากันตอนกลางคืน แม้แมลงยังไม่ร้องให้ได้ยินเสียง แต่ถ้ารู้จักต้นไม้ที่จักจั่นชอบ แค่ไปยืนใต้ต้นไม้ ถ้ารู้สึกว่ามีละอองน้ำเป็นฝอยตกลงมา นั่นล่ะ “เยี่ยวจักจั่น”

เมื่อมีเยี่ยวจักจั่น ก็ต้องมีตัวจักจั่นด้วยอย่างแน่นอน ชาวบ้านที่รู้ว่าจักจั่นอยู่ที่ไหนจะลงมือเขย่าต้นไม้ให้จักจั่นร่วงลงสู่พื้น จากนั้นก็ใช้ไฟส่องตามเก็บเอาบนพื้นดิน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บางคนถึงขนาดโค่นต้นไม้ลงทั้งต้นเพื่อนจะเอาจักจั่นกันง่ายๆ แบบนี้จะได้จักจั่นในสภาพที่สวยงามสมบูรณ์ ขายได้ราคาดี

ราคาจักจั่นตามฤดูกาลในปีนี้ ฉันถามแม่ที่นครพนม แม่บอกว่าแพงขึ้นจากปีก่อนเท่าตัว ตอนนี้ขายกันตัวละ 1 บาท จากที่เคยซื้อกินตัวละ 50 สตางค์เมื่อปีที่แล้ว

นักดนตรีเจ้าสำราญของฉันกลายเป็นของดีราคาแพง ถึงขนาดนับตัวขายไปเสียแล้ว นานเหลือเกิน…น่าจะกว่า 30 ปีแล้วที่ฉันไม่ได้ลิ้มชิมรสจักจั่น โดยเฉพาะ “แกงผักหวานป่าใส่จักจั่น” รสมือแม่ที่ไม่มีใครจะทำได้อร่อยเท่า

………
เท่าที่ฉันรู้ พวกแมลงถือเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ พวกเขากำเนิดขึ้นมาในโลกก่อนสัตว์อื่นนับเป็นเวลาล้านล้านปี สามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมาก ทำให้แมลงกลายเป็นสัตว์ที่มีปริมาณมากที่สุดในโลก

ว่ากันว่าแมลงทั้งโลกมีอยู่ราว 850,000 ชนิด แต่ที่มนุษย์รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในการบริโภคเป็นอาหารมีประมาณ 300,000 ชนิด ในจำนวนนั้นมี “จักจั่น” รวมอยู่ด้วย

แต่หลายท่านอาจไม่ทราบว่าที่จริงแล้วแมลงส่วนใหญ่เป็นใบ้ คือไม่ส่งเสียงเลย มันแค่เกิดมาใช้ชีวิตตามวงจรของมันแล้วจากโลกนี้ไป มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นเป็น “แมลงนักดนตรี” สามารถส่งเสียงได้

และที่เรารู้จักกันดีที่สุดก็คือ จักจั่น กับ จิ้งหรีด ซึ่งเมื่อเทียบความดังของเสียงแล้ว จักจั่นเป็นแมลงที่ส่งเสียงดังมากกว่าและสามารถร้องเพลงได้เป็นเวลายาวนานกว่า

จักจั่น เป็นแมลงโบราณเก่าแก่ยุคเดียวกับไดโนเสาร์ที่ยังคงสืบพันธุ์จนถึงทุกวันนี้ ทั่วโลกมีจักจั่นอยู่ด้วยกันหลายสกุลรวมแล้วนับพันชนิด มักอาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อน

จักจั่นเป็นแมลงนักดนตรีที่ทั่วโลกรู้จักกันดี เนื่องจากเสียงของมันดังก้องกังวานแตกต่างจากเสียงของแมลงนักดนตรีชนิดอื่นๆ และพบมากในช่วงฤดูแล้ง….เฉพาะในเมืองไทยต้องเป็นฤดูร้อนแล้งเท่านั้น

เสียงจักจั่นที่ร้องระงม ดังแอ่ๆๆๆๆๆๆๆๆ เอามาเขียนเป็นตัวหนังสือให้ออกเสียงตรงกับสิ่งที่หูรับฟังได้ยากยิ่งนัก แต่เสียงนั้นก็มีเอกลักษณ์มากจริงๆ พอเราได้ยินปุ๊บก็รู้ปั๊บว่านั่นเป็นเสียงจักจั่น มิใช่อย่างอื่น

บางคนบอกว่าเสียงจักจั่นคล้ายเสียงคนเป่าใบไม้ บ้างก็ว่าเหมือนเสียงเครื่องรับวิทยุที่กำลังหมุนหาคลื่นความถี่ฟังดูชวนหนวกหูน่ารำคาญ บ้างก็ว่าคล้ายเสียงลองเครื่องสายวงซิมโฟนี ฯลฯ

เสียงที่เราได้ยินนี้อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหูของคนฟังแต่ละคน แต่ที่แน่ๆการบรรเลงเพลงของจักจั่นจะเล่นกันเป็นเวลา มีการหยุดพักเหนื่อยบ้าง ไม่ได้เล่นตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนหรอกนะ

พวกเขาจะมาพร้อมกับฤดูร้อน ชอบบรรเลงเพลงในช่วงเช้าและบ่าย โดยเฉพาะยามเย็นมักจะร้องนานกว่าปกติ บางทีก็ติดพันยาวนานไปจนดึกดื่น

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฉันได้ยินเสียงจักจั่นแรกฤดูของปีนี้ร้องระงมที่สนามกีฬาประชานิเวศน์ข้างสำนักงานมติชน เสียงมันดังมาจากต้นจามจุรีหรือต้นฉำฉาทางฝั่งทิศเหนือของสนามก่อนจากนั้นค่อยกระจายไปตามต้นไม้ทุกต้นที่ขึ้นรายรอบสนามฟุตบอล ไม่เว้นแม้แต่ต้นพิกุลที่กำลังออกดอกหอมอยู่หน้าเสาะธง

ทันทีที่เสียงแรกกรีดขึ้น เสียงร้องรับจากตัวอื่นๆก็ดังระงมเป็นมโหรีโรงใหญ่ มันเป็นเสียงของแมลงตัวผู้เท่านั้น จักจั่นตัวเมียไม่ส่งเสียง…

นักกีฏวิทยาระบุว่ามีแต่จักจั่นเพศผู้เท่านั้นที่ทำเสียงได้และไม่ใช่เสียงจากการกรีดปีกเหมือนแมลงมีปีกอื่นชอบทำกัน แต่จักจั่นมีอวัยวะทำเสียงเฉพาะของมันตั้งอยู่ทางด้านล่างของส่วนท้องหรือใต้อก มีลักษณะเป็นช่องลมที่มีแผ่นแข็ง 1 คู่คล้ายหนังกลองเรียกว่า “opercula” ปิดทับอยู่(จักจั่นเพศเมียก็มีอวัยวะนี้เช่นเดียวกัน แต่มีขนาดสั้นจึงไม่สามารถส่งเสียงได้)

พวกมันจะทำเสียงด้วยการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวอย่างเร็ว ทำให้เกิดแรงลมที่ไปดันผนัง opercula ให้โป่งขึ้นและยุบลงอย่างรวดเร็วและสั่นพลิ้วจนกลายเป็นเสียงสูงแหลมหวีดหวิวดังก้องกังวานมาก

ว่ากันว่าจักจั่นสามารถยืดหดตัวกล้ามเนื้อสร้างเสียงของมันสลับกันไปมาได้นาทีละ 100 ครั้งหรือมากกว่านี้ด้วยซ้ำเพื่อสร้างเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจักจั่นขึ้นมา

เรื่องเสียงของจักจั่นทำให้ฉันอยากรู้มากขึ้นถึงขนาดไปเสาะหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมมากมาย จนพบว่าแมลงต่างชนิดกันย่อมทำเสียงแตกต่างกันไปทั้งความยาวและความถี่ แต่ถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงล่ะก็ คงยากยิ่งนักที่จะแยกแยะชนิดของแมลงจากการฟังเสียงของมันได้

ความสามารถในการทำเสียงของแมลงแต่ละชนิดนั้นมีวิวัฒนาการเฉพาะตัว โดยเสียงที่เกิดขึ้นไม่ได้เปล่งออกมาจากลำคอและปากแต่เกิดจากกระบวนการทำเสียงในรูปแบบต่างๆ คือ

1. เสียงที่เกิดจากกิจวัตรประจำวันในการดำรงชีวิตของแมลงโดยไม่จำเป็นต้องใช้อวัยวะพิเศษใด แต่อาจเกิดจากการกระพือปีกบิน การกินอาหาร การทำความสะอาดร่างกาย และการเคลื่อนไหวขณะจับคู่ผสมพันธุ์ เป็นต้น

2. เสียงที่เกิดจากการใช้บางส่วนของร่างกายเคาะกับผนังหรือพื้นแข็ง เช่นตัวด้วงบางชนิด หรือปลวกใต้ดิน

3. เสียงที่เกิดจากกรรมวิธีทำเสียงลักษณะพิเศษ ได้แก่ การใช้อวัยวะ 2 ชิ้นถูหรือเสียดสีกัน โดยอาจใช้ปีกทั้ง 2 ข้างหรือใช้ขาถูหรือเสียดสีกับปีกไปมา หรือการสั่นเยื่อบางในอวัยวะทำเสียงเช่นที่พวกจักจั่นทำกัน

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งต่อการส่งเสียงของเหล่าแมลงก็คืออุณหภูมิในรอบวัน เช่น ช่วงบ่ายหรือเย็นของฤดูร้อน ในช่วงเวลานี้จิ้งหรีดจะร้องเพลงด้วยเสียงถี่เร็วขึ้นแต่พอตกกลางคืนเมื่ออากาศเย็นลงการร้องเพลงจะมีลีลาช้าลงตามอุณหภูมิของอากาศ เป็นต้น

จักจั่นตัวผู้จะร้องเพลงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมียให้มาผสมพันธุ์ด้วย และร้องเพื่อเตือนภัยเมื่อถูกรบกวน มีแต่นักเลงแมลงเท่านั้นถึงจะรู้ว่าเสียงจักจั่นแบบไหนคือเสียงเรียกหาคู่และเสียงใดคือเสียงตกใจเมื่อถูกรบกวน

ในการร้องเพลงหาคู่นั้น จักจั่นแต่ละตัวจะโชว์ลีลาพลังเสียงสุดฤทธิ์ ตัวที่ส่งเสียงได้ดังและแหลมสูงมากที่สุดย่อมเป็นพระเอกในกลุ่ม สามารถเรียกความสนใจจากตัวเมียได้มากเป็นพิเศษ มันจะกลายเป็นจักจั่นคาสโนว่าสามารถเลือกคู่ครองได้ตามใจปรารถนา

นอกจากนั้นเสียงร้องแหลมสูงของจักจั่นที่ดังกว่า 100 เดซิเบลนั้นยังสามารถทำลายแก้วหูของสัตว์บางชนิดได้ อาจมีผลทำให้นกที่หากินกลางวันรู้สึกปวดหูอย่างรุนแรงจนไม่อยากเข้าใกล้แถบถิ่นที่อยู่ของพวกจักจั่น เท่ากับว่าเสียงร้องของพวกทันยังใช้เป็นอาวุธไล่ศัตรูไม่ให้กล้ำกรายเข้ามาใกล้ได้ด้วย

แต่ในบางพื้นที่จักจั่นรู้ดีว่าต้องเงียบเสียง ถ้าหากศัตรูตัวนั้นร้ายกาจ อย่างเช่นในแถบถิ่นของนกกลางคืนจำพวกนกเค้าแมว จักจั่นก็จะร้องเรียกหาคู่เฉพาะตอนกลางวันแล้วหยุดส่งเสียงในตอนพลบค่ำ เป็นการป้องกันไม่ให้นกจับแมลงรู้ตำแหน่งถิ่นที่อยู่ของพวกมัน

เมื่อตัวเมียเลือกตัวผู้ที่มันชอบได้แล้วก็จะผสมพันธุ์กัน จากนั้นตัวเมียจะไปวางไข่ซ่อนไว้ตามเปลือกไม้ก่อนที่ทั้งคู่จะตายไป ทั้งตัวผู้และตัวเมีย

หลังจากนั้นอีก 4 เดือนจักจั่นชุดใหม่ก็จะเปลี่ยนสภาพจากไข่กลายเป็นตัวอ่อนขาวๆ เหมือนหนอน

มันจะคลานออกจากเปลือกไม้มุดลงไปฝังตัวอยู่ใต้ดินยาวนานหลายปีขึ้นอยู่กับว่าจักจั่นชนิดนั้นเป็นสายพันธุ์ใด ว่ากันว่าวงจรชีวิตตัวอ่อนใต้ดินของจักจั่นนั้น เริ่มตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปและบางชนิดอาจฝังตัวยาวนานถึง17 ปีเลยทีเดียว

อาณาจักรใต้ดินของจักจั่นจึงเป็นอาณาจักรลี้ลับกว้างใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครรู้เห็น พวกมันอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากไม้เป็นอาหาร

จนเมื่อโตเต็มวัยแล้วจึงจะขึ้นจากดินออกมาลอกคราบเป็นจักจั่นตัวโตเต็มวัยและร้องเพลงคิมหันต์เซ็งแซ่ให้เราฟังในชั่วเวลาไม่นานนัก

จากนั้นก็หาคู่…ผสมพันธุ์ แล้วตาย ก่อนเข้าสู่วงจรชีวิตใหม่อีกรอบ เริ่มต้นนับหนึ่งที่ไข่ใต้เปลือกไม้ที่มันฝังเอาไว้

ฉันเฝ้าแต่สงสัยว่าจักจั่นจะมีหัวหน้าฝูงไหม จักจั่นตัวใดกันที่ส่งเสียงร้องขึ้นก่อนเหมือนต้นเสียงของเพลงประสานเสียง จากนั้นทั้งฝูงก็จะร้องตามกันแบบไม่มีเหน็ดเหนื่อย

วันนี้สนามกีฬาประชานิเวศน์ไม่มีเสียงจักจั่นแล้ว ใต้เปลือกต้นฉำฉาอาจมีไข่แมลงมากมายรอคอยวงจรชีวิตรอบใหม่

จักจั่น เป็นราชาและราชินีแห่งฤดูร้อน ผู้บ่งบอกการมาเยือนของฤดูร้อนอย่างชัดเจนที่สุด ตรงต่อเวลาสม่ำเสมอทุกปี มาถึงแล้วก็จากไป ในห้วงขณะสั้นๆ ตัวผู้ก็ตาย…ตัวเมียก็ตาย เป็นปกติเช่นนี้

เป็นเพลงกล่อมโลก และเป็นอาหารพื้นบ้านอันโอชะ

เขียนเรื่องนี้ ด้วยความรู้สึกโหยหารสชาติแสนอร่อยของแกงผักหวานป่าใส่จักจั่นฤดูร้อน

ดูข่าวต้นฉบับ