ไลฟ์สไตล์

ไฉน "แหม่มแอนนา" ปลื้ม "พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์" พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวง

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 15 มี.ค. 2566 เวลา 03.57 น. • เผยแพร่ 10 มี.ค. 2566 เวลา 20.16 น.
แอนนา เลียวโนเวนส์ ในวัยสาว เมื่อครั้งที่เข้ามาเป็นครูในราชสำนักสยาม

แหม่มแอนนา หรือ แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) เป็นชื่อที่ชาวไทยจำนวนไม่น้อยได้ยินแล้วสะดุ้ง เหตุมาจากบันทึกของเธอที่มีเนื้อหาคาบลูกคาบดอกอย่างมาก เรื่องราวที่ แหม่มแอนนา บอกเล่านั้นมีมากมาย โดยส่วนหนึ่งแหม่มแอนนาเล่าถึงเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ ที่น่าสนใจคือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวง

แหม่มแอนนา มีเชื้อสายลูกผสมที่เกิดในอินเดีย มีสถานะเด็กยากจน เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ. 1862 พร้อมลูกชายวัย 6 ขวบ (บางแห่งว่า 7 ขวบ) เธอเดินทางเข้ามาเพื่อเป็นครูพี่เลี้ยงในราชสำนักสยาม สมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหาครูพี่เลี้ยงเพื่อสอนพระราชโอรสและพระราชธิดา ให้เตรียมตัวรับมือกับตะวันตก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ข้อเท็จจริงนอกเหนือจากเรื่องปรุงแต่งแล้ว แหม่มแอนนามีโอกาสให้การศึกษากับเจ้าจอม และพระราชโอรส-พระราชธิดา ในรัชกาลที่ 4 แหม่มแอนนนาอยู่ในราชสำนักสยามนานเกือบ 5 ปี และเดินทางออกจากสยามใน ค.ศ. 1867

บันทึกของนักประวัติศาสตร์ระบุว่า เธอมีปัญหาสุขภาพ ป่วยด้วยโรคอหิวาต์ 2 ครั้ง อลิซาเบธ มาฮอน ระบุว่า เธอถูกคนทำร้าย 2 ครั้งและถูกขู่มากกว่า 1 ครั้ง

บันทึกความทรงจำ 2 เล่มที่แหม่มแอนนาเขียนขึ้นคือ “The English Governess at the Siamese Court” และ “The Romance of the Harem” ทำให้เธอมีชื่อเสียงกว้างไกล แต่นักประวัติศาสตร์ต่างวิเคราะห์กันว่าเนื้อหาหลายส่วนในเล่มเขียนเกินความเป็นจริง และผสมจินตนาการเพื่อสร้างสีสันในเรื่องราว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ่ยถึงพระราชธิดาแล้ว แหม่มแอนนาเล่าถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ซึ่งว่ากันว่าเป็นพระราชธิดาองค์โปรดของกษัตริย์ และยังเป็นนักเรียนคนโปรดของเธอ

แหม่มแอนนาเล่าถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของพระราชธิดาองค์โปรดไว้ในหนังสือ ซึ่ง สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ “The English Governess at the Siamese Court” เป็นฉบับภาษาไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า แหม่มแอนนาเอ่ยถึงเจ้าหญิงพระองค์นี้ว่าเป็นที่เสน่หาพระราชบิดาเป็นที่สุด ข้อความส่วนหนึ่งในโพสต์ของผู้แปลหนังสือ “The English Governess at the Siamese Court” ระบุว่า

“แหม่มแอนนา รับรู้เรื่องนี้ทั้งจากพระโอษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจากโอษฐ์เจ้าหญิงเอง และแหม่มแอนนาก็ประจักษ์ถึงความเสน่หาอาลัยอย่างที่สุดของผู้เป็นพระราชบิดาเมื่อ ‘เจ้าฟ้าหญิง’ สิ้นพระชนม์ด้วยอหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2406/ 1863 ในวัยเพียงแปดชันษา”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกเหนือจากเจ้าฟ้าจันทรมณฑลแล้ว ในหนังสือเล่มเดียวกัน แหม่มแอนนายังเล่าถึงพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ว่า เป็นนักเรียนคนแรกที่ “คิงมงกุฎ” (รัชกาลที่ 4) จูงมือมาส่งให้เธอในวันเปิดโรงเรียนในวังหลวง และแนะนำเธอกับพระราชธิดาผู้นี้ว่า “ครูสอนภาษาอังกฤษ”

สุภัตราโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวบรรยายว่า แหม่มแอนนาเล่าว่า คิงมงกุฎทรงปฏิบัติต่อพระราชธิดาองค์นี้อย่างอ่อนโยน และเธอเองก็ประทับใจกับผิวพรรณที่งดงาม รูปร่างอันบอบบาง กับแววตานิ่งสงบของพระองค์หญิงผู้มีวัย 10 ชันษาในขณะนั้น

ผู้แปลหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ยังเล่าว่า แหม่มแอนนามักพูดถึงพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ และเป็นหนึ่งในพระราชธิดาไม่กี่องค์ที่พระราชบิดาโปรดให้ติดตามและกล่าวถึงอยู่เสมอในจดหมายและบันทึกของพระองค์

“นอกจากโปรดให้ตามเสด็จแล้ว ในจดหมายเหตุต่างๆ ก็มีบันทึกไว้ว่าพระองค์ยิ่งเยาวลักษณ์ยังเป็นลูกสาวที่ปรนนิบัติพัดวีตราบจนพระบิดาสวรรคต”

อย่างไรก็ตาม พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ต้องอาญา “ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฎ์” ด้วยลักลอบพบปะและมีสัมพันธ์กับอดีตภิกษุจนตั้งครรภ์ และคลอดลูกคาตำหนัก เหตุเกิดใน ค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2429) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สุภัตราอธิบายว่า พระองค์หญิงฯ ที่ได้รับการสถาปนาพระยศเป็น “พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา” ในแผ่นดินนี้ จึงถูกลดพระยศเป็น “หม่อมยิ่ง” ถูกริบทรัพย์ ถูกนำไปจองจำ กระทั่งสิ้นชีพในปีนั้นเอง ในวัยเพียง 34 ชันษา

เนื้อหาเบื้องลึกเกี่ยวกับราชสำนักสยามจากปลายปากกาของแหม่มแอนนาที่ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ฉบับแปลภาษาไทยชื่อว่า “อ่านสยามตามแอนนา : การบ้านและการเมืองในราชสำนักคิงมงกุฎ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

มาโฮน, อลิซาเบธ เคอร์รี่. นางฉาวในประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

สุภัตรา ภูมิประภาส. “พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวง”. Facebook / Subhatra Bhumiprabhas. Online. 6 มีนาคม 2019.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 6
  • TP
    แต่งเติมทั้งนั้น
    08 ส.ค. 2563 เวลา 02.11 น.
  • แหม่มคนนี้ที่มาของวรรณกรรมเดอะคิงแอนไอ
    09 มี.ค. 2562 เวลา 10.00 น.
  • Long k.k 42
    ขึ้นหัวเรื่องเกินไป ได้ยินชื่อทำไมต้องสะดุ้ง กะเรื่องโบราณ จริงมั่งแต่งมั่ง
    07 ส.ค. 2563 เวลา 23.14 น.
  • Phong 4659
    แห่ม แก่ๆก็จะเอา
    08 ส.ค. 2563 เวลา 05.02 น.
  • NAPHAT
    เก่งทุกอย่าง รู้ทุกอย่าง ความลับนู่นนี่นั่น ยังกะตัวเอกในหนังเลยเนาะ
    08 ส.ค. 2563 เวลา 09.02 น.
ดูทั้งหมด