ไลฟ์สไตล์

สะมาริตันส์ : สายด่วนรับฟังเพื่อช่วยไม่ให้คนฆ่าตัวตาย

a day magazine
อัพเดต 22 ก.ค. 2561 เวลา 07.18 น. • เผยแพร่ 21 ก.ค. 2561 เวลา 18.19 น. • adaymagazine

“เคยคิดอยากฆ่าตัวตายไหม?”

คุณเคยถามประโยคนี้กับคนอื่น

หรือตัวเองมั้ย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตามข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทยพบว่าการฆ่าตัวตายของประชากรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นมีอัตราสูงขึ้นทุกปี ตัวเลขเหล่านี้สอดคล้องกับข่าวในช่วงปีหลังๆ ที่การฆ่าตัวตายกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้น หลายคนมีคนใกล้ตัวที่กำลังประสบปัญหาหรืออีกหลายคนก็กำลังเป็นคนที่ประสบปัญหานี้ด้วยตัวเอง

ถึงแม้ปัญหานี้จะดูเป็นสีดำ แต่แสงสว่างอย่างหนึ่งที่ส่องขึ้นมาคือการตระหนักรู้ของประชากร หลายคนหันมาสนใจและพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้พร้อมกับหาวิธีแก้ปัญหา การเยียวยามากมายเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือ

“02-713-6793”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยคือสมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์โดยมีความตั้งใจหลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย เบอร์ข้างต้นคือเบอร์โทรของสมาคมโดยคนที่รับสายจะเป็นอาสาสมัครหลากหลายอาชีพที่ผ่านการฝึกจากทางสมาคมมาแล้ว สายด่วนของสะมาริตันส์เปิดให้บริการมาแล้วหลายสิบปีและรับสายการฆ่าตัวตายมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ถ้าจะเอาจุดเปลี่ยนที่สมาคมเริ่มเป็นที่รู้จักคือคลิปของ ‘เป้-อารักษ์’ ที่พูดถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตของเพื่อนสนิท ‘สิงห์-Squeez Animal’ เมื่อไม่กี่ปีก่อน

หลักการที่สมาคมสะมาริตันส์ยึดถือเป็นแนวทางการเยียวยาปลายสายที่คิดฆ่าตัวตายคือ ‘การฟังอย่างสร้างสรรค์ (Effective Listening)’ พวกเขาเชื่อว่าการฟังอย่างถูกวิธีจะทำให้ผู้ที่มีความทุกข์ได้ปลดเปลื้องและคิดหาทางออกที่เหมาะสมกับตัวเองได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เราสนใจและมีข้อสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับพวกเขา วันนี้เราเลยชวนผศ.พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยมาอธิบายและตอบคำถามถึงที่มาที่ไปของสมาคมนี้สักหน่อย นอกจากการตอบข้อสงสัยแล้ว อาจารย์ยังถอดบทเรียนการฟังอย่างประสิทธิภาพให้กับเราอีกต่างหาก

ไม่แน่นะ, เบอร์โทรนี้อาจจะช่วยชีวิตใครก็ตามรอบตัวเราขึ้นมาสักวันหนึ่ง

หรืออาจจะช่วยชีวิตตัวของเราเอง

จุดเริ่มต้นจากการรับฟังในโบสถ์จนไปสู่การช่วยชีวิตคนรอบโลก

“จุดเริ่มต้นของสะมาริตันส์เริ่มที่ประเทศอังกฤษค่ะ ที่โบสถ์ St. Stephen Walbrook ใน London บาทหลวง Chad Varah ครั้งนั้นท่านบาทหลวงได้เรียนรู้ว่าการพูดคุยและรับฟังด้วยใจสามารถทำให้ปรอทอารมณ์ที่สูงๆ ของคนที่มีปัญหาลดลงมาได้โดยคนที่พูดคุยไม่จำเป็นต้องเก่ง แค่เป็นคนที่รับฟังคนด้วยหัวใจก็พอ ท่านเลยเปิดศูนย์สะมาริตันส์ขึ้นมาโดยใช้ระบบโทรศัพท์เพื่อมาพูดคุยและค่อยๆ ขยายไปทั่วประเทศ

“ทีนี้ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ท่านไปเรียนจิตแพทย์ที่ประเทศอังกฤษและเห็นคอนเซ็ปท์ของสะมาริตันส์และคิดว่ามันน่าจะดีต่อสังคมไทย ท่านเลยกลับมาเปิดศูนย์สะมาริตันส์ครั้งแรกที่กรุงเทพและขยายไปเชียงใหม่ เราเปิดให้บริการผ่านสายด่วนโทรศัพท์เบอร์ 02-713-6793 มาจนถึงตอนนี้

“ถ้าให้คำนิยาม สะมาริตันส์เป็นองค์กรอาสามัครที่มีเป้าหมายสี่อย่าง หนึ่งคือการรับฟังเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย สองคือเป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้ที่มีความไม่สบายใจ สามคือฟังโดยไม่เอากรอบของเราไปครอบใส่คนที่มาเล่า และสี่คือทำให้มั่นใจว่าผู้ที่เคยคิดฆ่าตัวตายยังคงอยู่กับเรา สี่ข้อนี้คือสิ่งที่สมาคมยึดถือมาตลอดจนถึงปัจจุบันค่ะ”

ใครๆ ก็ฟังได้ ใครๆ ก็เป็นอาสาสมัครได้

“หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเป็นอาสาสมัครที่มารับสาย หรือทำไมคุยกับคนไม่รู้จัก ทำไมไม่ไปคุยกับจิตแพทย์ คิดว่าบางคนจะรู้สึกไม่สบายใจถ้าไปพบแพทย์เพราะอาจคิดว่าตัวเองเป็นโรค แต่การโทรมาคุยกับเราแค่ไม่สบายใจก็โทรมาได้ อีกอย่างคือการคุยกับคนที่ไม่คุ้นเคยบางทีสบายใจกว่าเพราะเราก็จะไม่รู้ชีวิตเขามากเกินไป ประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่ไม่กล้าเล่าให้คนรู้จัก เขาสามารถเล่าให้เราฟังได้

“อาสาสมัครจะผ่านการฝึกทั้งทักษะการพูดคุย ทั้งหมดนี้จะผ่านกระบวนการที่มีพี่เลี้ยงคอยดูอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งวางใจว่าอาสาสมัครสามารถรับสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้ ดังนั้นไม่ว่าจะอาชีพไหน การศึกษาอะไรก็สามารถมาเป็นอาสาสมัครกับเราได้หมด"

ฟังอย่างสร้างสรรค์เพื่อช่วยคนฆ่าตัวตาย

จากบทเรียนของสะมาริตันส์ที่สอนให้กับอาสาสมัครและคำอธิบายของอาจารย์พนมพร เราถอด 6 องค์ความรู้การฟังอย่างสร้างสรรค์ออกมาได้ดังนี้

  • ให้ผู้เล่าเป็นอย่างที่ผู้เล่าต้องการ : หลายครั้งที่เวลามีคนมาปรึกษา เรามักจะมีชุดเหตุผลหรือความตั้งใจที่ขัดแย้งกับเขาในหัวจนเผลอนำออกมา บางครั้งคำพูดเหล่านั้นจะทำให้ผู้เล่าลำบากใจที่จะเป็นตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่สะมาริตันส์แนะนำคือไม่ตัดสิน ให้เขาเป็นเขาแม้จะขัดกับเรายังไงก็ตาม
  • ทำให้เขารู้ว่าเรามีเวลา : ในยามที่เขาท้อแท้ การทำให้เขาสบายใจในการเล่ามากที่สุดคือเรื่องที่ควรทำ ดังนั้นการให้เวลากับเขาเป็นเหมือนเบาะรองให้เขาสบายใจว่ายังไงจะมีเราคอยรับฟังอยู่เสมอ
  • พยายามจะเข้าใจความรู้สึกเขา แม้จะขัดกับเรา : นอกจากปล่อยให้เขาเป็นตัวของตัวเองแล้ว ความพยายามเข้าใจสิ่งที่อยู่ในหัวของเขาเป็นเหมือนยาวิเศษที่ทำให้เขารู้ว่ามีคนอยู่เคียงข้างเขาขนาดไหน
  • ให้คำถามเพื่อสะท้อนกลับ เพื่อประเมิน : การใช้คำถามกับคนที่จะฆ่าตัวตายเป็นเรื่องสำคัญมาก สะมาริตันส์บอกว่าให้ใช้คำถามปลายเปิดที่สะท้อนความคิด ค่อยให้เขาเล่าออกมาโดยเราเป็นเพียงที่ว่างให้เขามุ่งที่อารมณ์ของเขาเป็นสำคัญ

  • สร้างความสะดวกใจให้เขาสำหรับการพูดถึงปัญหา : บางครั้งการปรึกษาใครสักคน คนที่ปรึกษามักจะกังวลว่าเรื่องราวของเขาจะถูกเอาไปบอกต่อ การเป็น safe zone ให้กับเขาในวันแย่ๆ เป็นสิ่งที่ผู้ฟังควรทำและปฏิบัติกับเรื่องที่เขาเล่าด้วยความรู้สึกว่าเรื่องเหล่านั้น ‘จริงและสำคัญมาก’

  • สุดท้ายแล้วให้เขาตัดสินใจเอง : การฟังอย่างมีประสิทธิภาพจะทำหน้าที่ ‘สะท้อนกลับ’ บวก ‘ชวนเขาคิด’ ดังนั้นการแนะนำโดยตัดจบปัญหาของเขาอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรเท่าไหร่ การชวนเขาคิดจะทำให้เขาเข้าใจปัญหา เปรียบเหมือนการคลี่เอาก้อนความรู้สึกออกมาจากใจให้เรียบง่ายขึ้น เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือการทำให้เขาคิดได้เอง ทางออกนี้จะเหมาะสมและยั่งยืนกว่าในอนาคต

“เคยคิดอยากฆ่าตัวตายไหม?”

“การพูดคุยกับคนที่มีความเสี่ยงอยากฆ่าตัวตาย เราสามารถถามเขาได้นะคะว่าเขาอยากฆ่าตัวตายไหม บางคนอาจจะสงสัยว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอกหรือเปล่า แต่เราคิดว่าถ้าคนไม่มีมันก็คือไม่มีแต่เราจำเป็นต้องถามสำหรับคนที่มีความคิดแต่ไม่ได้พูด บางทีเราถามแล้วได้คำตอบเป็นวิธีการฆ่าตัวตายเป็นฉากๆ เลยก็มี

“เคยมีอยู่เคสนึงที่โทรมาแล้วใช้มือข้างนึงถือปืนจ่อหัว มืออีกข้างถือโทรศัพท์ อาสาสมัครก็ใจสั่นแต่เราก็ค่อยๆ คุยไปทีละสเต็ป ค่อยๆ คุยจนเขาวางปืนและรู้เรื่องราวว่ามันเป็นยังไง เราช่วยเขาเคลียร์ทีละปัญหาจนสบายใจ เราจะคุยด้วยประโยคนุ่มๆ อาจจะไม่ได้เกิดการห้ามอย่างทันทีแต่เราจะใช้วิธีให้เขาค่อยๆ ระบายออกมา เขาเองจะค่อยๆ เห็นชีวิตตนเอง สิ่งที่เราต้องคิดอยู่ตลอดคือการที่เขาคุยกับเราอยู่ตอนนี้แสดงว่าเขายังไม่ตาย มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่ลงมือ เราจะคุยไปเรื่อยๆ จนดึงคุณค่าของตัวเองและคุณค่าของสิ่งที่ทำให้เขาอยู่ขึ้นมาในที่สุดค่ะ”

เยียวยาด้วยหัวใจต่อจากนี้และต่อไป

“ปัจจุบันสะมาริตันส์ยังคงเปิดให้บริการตั้งแต่เที่ยงถึงสี่ทุ่มทุกวัน คนที่มาคืออาสาสมัครทั้งหมด ทุกคนมาเพราะมีใจอยากช่วย พอเราพูดคุย เราทำให้อีกฝ่ายดีขึ้นโดยอยู่เป็นเพื่อนเขาช่วยคิดว่าจริงๆ แล้วหนึ่งปัญหามันมีหลายทางออก

“ในความคิดของดิฉันปัญหาการฆ่าตัวตายมีมานานแล้ว แต่กับสภาพสังคมปัจจุบัน เรายินดีรับสายในทุกกรณีถ้าไม่สบายใจเพื่อรับรู้ความรู้สึกแล้วสะท้อนข้อมูล เราเชื่อว่าเวลาไม่สบายใจ มันเหมือนตะกอนที่ฟุ้งไปหมด สะมาริตันส์จะช่วยให้ใจของผู้โทรกลับมานิ่งแล้วหาทางออกร่วมกันได้ค่ะ”

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 7
  • Nutto
    อยากให้ลงสื่อต่างๆเยอะๆ วิทยุ ทีวี เฟสบุค ทวิตเตอร์ หนังสือพิมพ์ โปสเตอร์ตามห้าง โรงหนัง โรงพยาบาล ห้องน้ำสาธารณะ สวนสาธารณะ รถไฟ รสบัส รถตู้ จะช่วยได้เยอะ เชื่อสิ คนเป็นซึมเศร้าเยอะ แต่ไม่รู้ตัวเอง
    22 ก.ค. 2561 เวลา 14.28 น.
  • G>o<¥
    เป็นสมาคมที่ดีมากๆค่ะ อยากไปเป็นอาสาสมัครที่นี่บ้าง
    22 ก.ค. 2561 เวลา 15.39 น.
  • @...
    ผมคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ถ้าหากได้มีการทำการประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปในแบบรูปธรรมกว้างๆก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะตรงจุดนี้ก็อาจเป็นจุดหนึ่งที่สามารถช่วยเหลื่อต่อผู้ที่กำลังประสบกับปัญหาต่างๆที่คิดว่าตนเองนั้นหมดหนทางได้.
    22 ก.ค. 2561 เวลา 19.44 น.
  • Toom
    น่าจะมีเป็น เบอร์ Call center และเพิ่มเบอร์ มือถือ อีกสักหลายเบอร์ จะสะดวกสำหรับคนยุคนี้อะค่ะ
    15 ก.ย 2561 เวลา 12.06 น.
  • anntn2012
    ไหนๆ ก็จะตาย รวม ข่าว พวกโรงงาน ปล่อยน้ำเสีย สิ (ตายทั้งทีให้ มี ประโยชน์) ไม่ต้อง ฆ่า ตัวตาย ด้วย (ชาวบ้าน จะได้ ทำบุญให้) พวกบ่อน้ำเสีย ต่างๆ อ่ะ เพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนเยอะแยะ เอาเลยๆ
    23 ก.ค. 2561 เวลา 10.14 น.
ดูทั้งหมด