ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

วิถีผู้นำ... เพียงแค่เปลี่ยนความคิด  ชีวิตก็เปลี่ยน

ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่ 20 เม.ย. 2562 เวลา 01.30 น.

วันนี้ โลกบนไลน์ by Apiwut ของ “อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง “สลิงชอท กรุ๊ป” มีข้อคิดดีๆ สำหรับผู้บริหารมาเล่าให้ฟังอีกแล้ว จากประสบการณ์การโค้ช CEO ของบริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

“อภิวุฒิ” เล่าว่า ทุกครั้งที่ไปคุยกับซีอีโอท่านนี้ กลายเป็นว่าได้ความรู้กลับมามากมาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ซีอีโอเล่าให้ฟังว่า…

“ผมเป็นผู้บริหารที่ไม่เก่ง ภาวะผู้นำ (Leadership) ไม่ดี ตามหามาหลายปีว่าจะทำตัวยังไงดี จนกระทั่ง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา มีโอกาสดู VDO Clip สั้นๆ ของ Simon Sinek เขาบอกว่า คุณไม่มีวันเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพได้ ถ้ายังไม่ได้มองพนักงานเป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัว”

ท่านเลยได้ไอเดียว่า การจะเป็นผู้นำที่ดี ต้องเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ของตัวเองเป็นอันดับแรก เมื่อก่อนไม่เคยมองว่าพนักงานคือสมาชิกของครอบครัว มองว่าพนักงานคือลูกจ้าง จ่ายเงินเดือนให้แพงๆ ก็ต้องทำงานให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป และโดยไม่ได้ตั้งใจ เลยเน้นแต่งานกับตัวเลข ประชุมทุกครั้งก็ไล่บี้ผลงาน ใครทำไม่ได้ ก็ให้ออกไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พอปรับวิธีคิดใหม่ มองว่าลูกน้อง เป็นเสมือน “ลูก” หรือ “น้อง” วิธีการบริหารก็เปลี่ยนไปทันที เริ่มตั้งแต่การสัมภาษณ์ คราวนี้แทนที่จะคิดว่า สัมภาษณ์เพื่อรับมาเป็นพนักงาน มองใหม่เป็น “สัมภาษณ์เพื่อรับมาเป็นลูก”…​โห ความรู้สึกต่างกันเยอะเลย

พอพนักงานเข้ามา เราก็มีหน้าที่ทำให้เขาสำเร็จ รักเขา สนับสนุนและส่งเสริมเขา ถ้าทำผิดก็ดุด่าพอสมควร แต่พอคิดว่าเป็นลูก แค่นั้น…พฤติกรรมเปลี่ยนเลย

ท่านเล่าให้ผมฟังว่าเริ่มทำมาได้สักระยะแล้ว รู้สึกดีขึ้นมาก เพียงแค่ปรับความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อีกเรื่อง ท่านเล่าให้ฟังว่า มีเศรษฐีเจ้าของธุรกิจใหญ่ในเมืองไทย มาปรึกษาว่า ทำไงดี กลุ้มใจกับภรรยา

เรื่องมีอยู่ว่า…เศรษฐีท่านนี้เป็นน้องคนเล็ก แต่เป็นกำลังหลักในการบริหารธุรกิจกงสีของครอบครัว (ธุรกิจที่พี่ๆ น้องๆ ลูกๆ หลานๆ ร่วมกันเป็นเจ้าของ) ทำงานหามรุ่งหามคํ่า ทุ่มเทสุดๆ แต่เวลาแบ่งเงิน พี่ๆ น้องๆ รวมทั้งเขยและสะใภ้ ได้เท่ากันหมด ที่สาหัสไปกว่านั้นคือยังต้องดูแลอดีตสะใภ้ของพี่ใหญ่ที่เลิกลากันไปนานแล้ว อีกหลายคนด้วย

ภรรยาเลยสงสัยว่า “จะเหนื่อยแบบนี้ไปเพื่ออะไร ทำไมไม่ออกมาทำธุรกิจของตัวเอง แล้วให้พี่น้องคนอื่น ที่ไม่ได้ทำอะไรเลย มาบริหารบ้าง ?”

ท่านเล่าต่อว่า “ผมก็ไม่มีคำตอบ แต่เล่าเรื่องชีวิตผมให้ฟังแทน”

…สมัยเด็กๆ คุณพ่อก็ทำงานหนักในธุรกิจกงสีเช่นกัน ผมเห็นอาเจ็ก อาแปะ ที่เป็นพี่ๆ น้องๆ ของพ่อ ไม่ทำอะไรเลย ได้แต่นั่งๆ นอนๆ ทุกวันตอนเย็น ก็แอบหยิบเงินจากลิ้นชักกลับบ้านครั้งละร้อยสองร้อย (เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว ถือว่าเยอะมากกกกก) เลยถามพ่อว่า ทำไมต้องเหนื่อยอยู่คนเดียว …

พ่อบอกว่า เวลามีคนไปถามคนเฒ่าคนแก่ที่มีชีวิตเหลืออยู่ไม่มากแล้วว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ อยากแก้ไขอะไร เกือบร้อยทั้งร้อย ตอบว่า อยากดูแลความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิดให้ดีกว่าที่ผ่านมา

แล้วพ่อก็สอนว่า การทำงานให้ครอบครัว อาจไม่ได้ทำให้รํ่ารวยมากนัก แต่ความสัมพันธ์กับพี่ๆ น้องๆ ดี หากแยกตัวออกมาทำเอง เราอาจรวยขึ้นกว่านี้อีกนิดหน่อย แต่จะรวยเพิ่มขึ้นไปเพื่ออะไร หากพี่น้องแตกแยกกัน อากงอาม่าและบรรพบุรุษคงไม่สบายใจ แล้วพอใกล้ตาย ก็มาเสียใจว่า เราน่าจะรักษาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดให้ดีกว่านี้ อย่างนี้ ไม่มีประโยชน์ …

พอเล่าจบ เศรษฐียกมือไหว้ขอบคุณ แล้วบอกว่า “ผมได้คำตอบแล้ว !”

นี่คือ ข้อคิดดีๆ ของการบริหารงาน วิธีคิด และการทำงาน ที่อยากส่งต่อในช่วงวันสงกรานต์ วันครอบครัวของคนไทย 

หน้า 18 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3462 วันที่ 18-20 เมษายน 2562

ดูข่าวต้นฉบับ