ไลฟ์สไตล์

พระตีหัวฝรั่งย่านวัดเกาะ ดราม่ายุคแรกช่วงบางกอก กรุงเทพฯ เริ่มเจริญด้วยการค้า-ต่างชาติ

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 17 มี.ค. เวลา 14.39 น. • เผยแพร่ 17 มี.ค. เวลา 04.52 น.
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

ก่อนที่คนยุคดิจิทัลมีโอกาสสัมผัสกับคลิปเหตุการณ์ “ดราม่า” กับคดีเกี่ยวกับความรุนแรง หรือจับโป๊ะแตกรายวัน สมัยยุคแรกเริ่มที่บางกอกเจริญช่วง ต้นรัตนโกสินทร์ ก็มีคดีอันลือลั่น ที่ได้รับความสนใจจากมวลชนไม่แพ้กัน อย่างกรณี “พระตีหัวฝรั่ง

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษก และขึ้นครองราชย์ เมื่อพ.ศ. 2325 ทรงมีพระราชดำริให้ข้ามมาสร้างพระนครใหม่ ทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก แต่บริเวณที่โปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่อยู่ของ พระยาราชาเศรษฐี และชาวจีนจำนวนหนึ่ง จึงโปรดให้ย้ายไปอยู่ที่สวนบริเวณวัดสามปลื้ม ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานแล้วจึงเกิดแหล่งการค้า จากนั้นก็เริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง ต้นรัตนโกสินทร์ จาก วัดสามเพ็ง (สะกดตามในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักคุ้นกับสำนวนว่า “สำเพ็ง”) มาจนถึง วัดสามปลื้ม และวัดเกาะ ล้วนเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกัน

จากการอธิบายของ สมบัติ พลายน้อย บอกเล่าว่า วัดเกาะมีนามเต็มว่า “วัดเกาะแก้วลังการาม” อยู่ริมถนนทรงวาดเหนือวัดปทุมคงคา เขตอำเภอสัมพันธวงศ์ เชื่อว่ามีแนวโน้มสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นอย่างช้า ย่านวัดเกาะเป็นพื้นที่อันมีชื่อเสียง นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตวรรณกรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งเริ่มต้นของการเข้ามาสอนศาสนาคริสต์ของชาวตะวันตก

วัดเกาะแห่งนี้เองเป็นพื้นที่ซึ่งมิชชันนารีอเมริกันใช้เป็นแหล่งที่มั่นในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์เป็นจุดแรก จากการสืบค้นของ สมบัติ พลายน้อย พบว่า มิชชันนารีพวกแรกที่เข้ามาในไทยครั้งแรก เข้ามาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2371 และมาพร้อมกับนายแพทย์เยอรมันจากตะวันตก คือ กุทซลาฟฟ์ (Gutzlaff) เข้ามาด้วย หลังจากนั้น ก็มีมิชชันนารีฝรั่งเข้ามาอีกอย่างต่อเนื่อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับมิชชันนารีอเมริกันนั้น ว่ากันว่า ไปตั้งสำนักในแถบวัดเกาะ หลักฐานจากการสืบค้นโดยสมบัติ พลายน้อย บ่งชี้ว่ามีศาสนทูตอย่าง ชาร์ล โรบินสัน และ ศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2377 (ค.ศ. 1834) ทั้งสองเช่าที่แปลงขนาดเล็กเหนือวัดเกาะด้านท้ายตลาด

จากการบอกเล่าของ นายแพทย์ แดน บี. บรัดเล นายแพทย์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นชาวอเมริกันอีกรุ่นที่เข้ามาพำนักในไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2378 ในสมัยรัชกาลที่ 3 กระทั่งเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2416 ช่วงแรกที่มิชชันนารีเข้ามาในไทย เดิมทีตั้งใจจะสอนศาสนากับชาวจีนในไทย จึงเชื่อว่าเป็นเหตุให้ใช้วัดเกาะเป็นที่พำนัก หลังจากตั้งโอสถศาลากันแล้ว (โอสถศาลาที่วัดเกาะเชื่อกันว่าเป็นร้ายขายยาฝรั่งรุ่นแรกในไทยด้วย) น่าจะเริ่มแจกหนังสือสอนศาสนาให้ชาวจีน ประกอบกับรักษาโรคให้ชาวจีนอันเป็นการแสดงน้ำใจแรกเริ่ม

เมื่อจ่ายยาก็มักแนบข้อความในพระคัมภีร์พร้อมไปกับฉลากยา จำนวนผู้ป่วยที่มาให้หมอบรัดเล ตรวจรักษาต่อวันก็มีมากพอประมาณ ประชุมพงศาวดารบันทึกไว้ว่า วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2378 มีผู้ป่วยมาหาหมอบรัดเลกว่า 100 คน ซึ่งหมอบรัดเล ขอให้คนป่วยสวดมนต์ และอ่านพระคัมภีร์ก่อนที่จะจ่ายยารักษาโรคด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถึงการเข้ามาตั้งถิ่นสร้างฐานในไทยจะเอื้อประโยชน์แก่ชาวบ้าน แต่กลับไม่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าขุนนางข้าราชการไทย เชื่อว่ามาจากการที่ไม่ได้ขออนุญาตกับทางราชการ อย่างไรก็ตาม พวกมิชชันนารีไม่ทันได้เดินเรื่องอย่างเป็นทางการก็เกิดเรื่องใหญ่โต

เหตุการณ์ที่ว่าคือคดี พระตีหัวฝรั่ง ปรากฏในประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 18 (ภาคที่ 31) โดยบรรยายว่า เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2378 ชาวต่างชาตินามว่า กัปตันเวลเลอร์ ผู้ทำงานอยู่กับ นายฮันเตอร์ (ในพงศาวดารบันทึกว่า “มิสเตอร์ฮันเตอร์”) วันเกิดเหตุทั้งคู่เดินเข้าไปในโอสถศาลา ในระหว่างที่นายฮันเตอร์ พูดคุยกับมิชชันนารี กัปตันเวลเลอร์ นึกสนุกขึ้นมาอยากยิงนกพิราบ จึงได้เดินเข้าไปในวัดเกาะ ยิงนกเข้าให้ในทันทีโดยดูบรรยากาศอันเป็นช่วงที่พระกำลังสวดมนต์เย็น

สมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า นกพิราบถูกยิงตาย 2 ตัว พระสงฆ์ที่ได้ยินเสียงปืนก็ออกมามุงกันที่ลานวัด กลุ่มภิกษุเทศนาตักเตือนว่า คนไทยถือกันว่านกในวัดเป็นสัตว์ของวัด การฆ่าสัตว์ในวัดยิ่งเป็นบาป แต่ไม่แน่ชัดว่า ชาวต่างชาติไม่เข้าใจภาษาหรือไม่พยายามฟังคำอธิบาย กัปตันเวลเลอร์ รายนี้ก็ไม่ยอมเลิก และยังดื้อจะยิงนกต่อ

สมบัติ พลายน้อย บรรยายในหนังสือ“เล่าเรื่องบางกอก” ว่า

“พระสงฆ์ทั้งนั้นเห็นว่าจะเจรจาด้วยสันติวิธีต่อไปมิดได้แล้ว ก็ลงมติเป็นเอกฉันท์ใช้อาญาวัดเอากระบองตีท้ายทอยกัปตันเวลเลอร์ถึงกับล้มสลบไป ปืนที่ใช้ยิงนกก็ถูกยึดและหายไปเสียด้วย”

ประชุมพงศาวดารบรรยายว่า “กัปตันเวลเลอร์ เกิดวิวาทขึ้นกับพระวัดเกาะถูกพระวัดเกาะตีปางตาย…”

ด้านนายฮันเตอร์ ที่อยู่ด้านนอก เมื่อรู้ว่าผู้ร่วมทางด้วยถูกกระทำจนสลบ ก็ฉวยปืนวิ่งเข้าวัดหวังช่วยกัปตันเวลเลอร์ ยังดีที่นายฮันเตอร์ ยังรู้สถานการณ์ ถึงจะต่อว่าพระสงฆ์ว่ารุมทำร้าย แต่ก็ยังไม่ได้ลงมืออะไร ระหว่างนั้น กัปตันเวลเลอร์คืนสติขึ้นมาพอดี นายฮันเตอร์จึงพยุงไปให้หมอบรัดเล ดูแลบาดแผล เข้าใจกันว่าอาการอาจไม่เบา เนื่องจากกัปตันเวลเลอร์สลบไปอีกหลายครั้งระหว่างที่หมอบรัดเล ทำแผลให้

เรื่องต่างชาติยิงนกไม่ได้มีแค่กรณีเดียว ในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังมีเรื่องชาวอังกฤษยิงนกในวัดโสมนัสวิหาร จนเกิดความวุ่นวายขึ้น ดังปรากฏความใน พระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 4 รวมครั้งที่ 5

ขณะที่กรณี ดราม่า กัปตันเวลเลอร์ เหตุการณ์นี้ สมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า พระรูปที่ลงมือถูกพระสังฆราชลงทัณฑ์ให้นั่งกลางแดดครึ่งวัน และยังมีทัณฑกรรมอื่นประกอบอีก จากนั้น พระสังฆราชประกาศห้ามพระสงฆ์เกะกะวุ่นวายกับพวกฝรั่งอีก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ดี บี บรัดเล, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม. ป่วน อินทุวงศ์ แปล. องค์การค้าของคุรุสภา, 2508

ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์คำ, 2555

บุบผา คุมมานนท์. “‘สำเพ็ง’ ศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 6, เมษายน 2525.

ปิยนาถ บุนนาค. “สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร”. สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2562

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พระตีหัวฝรั่งย่านวัดเกาะ ดราม่ายุคแรกช่วงบางกอก กรุงเทพฯ เริ่มเจริญด้วยการค้า-ต่างชาติ

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ