ไอที ธุรกิจ

แผนสกัดเบี้ยวภาษีที่ดิน บัญชีดำห้ามโอน-ซื้อขาย

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 25 ธ.ค. 2562 เวลา 04.08 น. • เผยแพร่ 20 ต.ค. 2562 เวลา 13.30 น.

มหาดไทย-คลังแท็กทีมรับจัดเก็บภาษีที่ดิน 1 ม.ค. 63 สั่งธนารักษ์-กรมที่ดิน หนุนท้องถิ่นเต็มพิกัด ป้อนบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ 32 ล้านแปลงถึงมือ อปท. 7.7 พันแห่ง งัดไม้เด็ดสกัดค้างชำระภาษี ขึ้นบัญชีดำสำนักงานที่ดินทั่วประเทศห้ามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง คาดช่วงใช้มาตรการบรรเทาภาระภาษี 3 ปีแรก อบต. เทศบาล กทม. เมืองพัทยามีรายได้เพิ่ม 3-4 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ 13 มี.ค. 2562 และให้เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เท่ากับว่า อีก 2 เดือนเศษ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ รวมทั้งผู้มีหน้าที่ชำระภาษีแทน อาทิ ผู้จัดการมรดกหรือทายาท ผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ผู้แทนนิติบุคคล ผู้ชำระบัญชี เจ้าของร่วมคนใดคนหนึ่ง ฯลฯ ต้องยื่นเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหน้าที่จัดเก็บภาษี ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนอย่างกรมที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมธนารักษ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมบังคับคดี ฯลฯ ได้ทยอยประกาศบังคับใช้กฎหมายระดับรอง ตลอดจนระเบียบ คำสั่ง เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและปลูกสร้าง ใกล้เสร็จสมบูรณ์ 100% แล้ว

ท้องถิ่น 7.7 พันแห่งติวเข้ม

ในส่วน อปท. 7,776 แห่ง จาก 7,852 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา ยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตลอดเวลากว่า 1 ปี ตั้งแต่ช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ อยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดฝึกอบรมติวเข้มเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ฝ่ายปฏิบัติในส่วนการสำรวจ จัดทำแผนที่ภาษี ประเมินภาษี ศึกษาบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและอาคารชุด โดยเชื่อมโยงข้อมูลที่ดินทั่วประเทศ 32 ล้านแปลง หรือ 32 ล้านโฉนดกับสารบบที่ดินของกรมที่ดิน และเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และอาคารชุด ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมธนารักษ์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ค้างภาษีขึ้นบัญชีดำห้ามโอน

ล่าสุด กรมที่ดินทำหนังสือถึงสำนักงานที่ดิน และสำนักงานที่ดินสาขาทั่วประเทศ ให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายใหม่ที่ให้จัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ดังนี้

1. จัดส่งข้อมูลรูปแปลงที่ดิน และข้อมูลเอกสารสิทธิที่ดิน ประกอบด้วยข้อมูลทะเบียนที่ดิน และข้อมูลห้องชุดในแต่ละพื้นที่ให้กับ อปท. เพื่อใช้เตรียมการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2. ให้สำนักงานที่ดิน และสำนักงานที่ดินสาขาทั่วประเทศ มีหน้าที่แจ้งการโอน หรือจดทะเบียนการเช่า กรณีที่โอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง หรือจดทะเบียนการเช่าในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่อ อปท.เป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

3. ให้สำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินสาขา มีหน้าที่รับแจ้งรายการภาษีค้างชำระจาก อปท. เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง ภายในเดือน มิ.ย.ของทุกปี หรือภายในระยะเวลาที่ อปท. และสำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินสาขา จะตกลงกำหนดเวลาเป็นอย่างอื่น กรณีมีภาษีค้างชำระ กฎหมายห้ามสำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินสาขารับจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง

เข้มผู้ถือกรรมสิทธิ์-ครอบครอง

ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้วันที่ 17 ก.ย. 2562 สาระสำคัญ คือ ให้สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา แจ้งการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง หรือการจดทะเบียนเช่าในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อ อปท.ที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่เป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

เท่ากับว่า อปท. จะมีข้อมูลและรู้ความเคลื่อนไหวการเปลี่ยนมือผู้ถือกรรมสิทธิ์ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นปัจจุบัน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดเก็บภาษี

แจงยิบใครอยู่ในข่ายต้องจ่าย

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รวบรวมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยอธิบายว่า ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูก สร้างประกอบด้วย

1.ที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล เช่น โฉนด ตราจอง ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์ น.ส.3 น.ส.3 ก และ น.ส.3 ข และที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เช่น ส.ป.ก.4 ก.ส.น. ส.ค.1 น.ค.1น.ค.3 ส.ท.ก.1 ก น.ส.2 (ใบจอง) เป็นต้น

2.สิ่งปลูกสร้าง หมายถึง โรงเรือน ตึก อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้ทรัพย์สินได้ อาทิ บ้านเดี่ยว บ้านเรือนแพ บ้านแถวหรือทาวน์เฮาส์ ห้องแถว ตึกแถว คลังสินค้า สถานศึกษา โรงแรม โรงมหรสพ สถานพยาบาล สำนักงาน ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชยกรรม สถานีบริการน้ำมัน โรงงาน ถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงบนดิน ไซโลเก็บอาหาร โรงสีข้าว คอนโดมิเนียม กระท่อม ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้เป็นสำนักงาน-ที่อยู่อาศัย สระว่ายน้ำ บ้านผีสิงในสวนสนุก บ้านบนต้นไม้ เต็นท์โครงหลังคาเหล็กถาวร เป็นต้น

ตัวอย่าง สิ่งปลูกสร้างที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี อาทิ ตู้ฝาก-ถอนเงินสด กังหันลมลานไกไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์สาธารณะ เครื่องเล่นในสวนสนุก เสาสัญญาณอินเทอร์เน็ต ถนน บ่อบำบัดน้ำเสีย รั้ว ลาน ทางเดินรถไฟ เสาไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

รายได้เข้าท้องถิ่น 4 หมื่น ล.

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2563 โดย 2 ปีแรกเป็นไปตามบทเฉพาะกาล อย่างไรก็ดี การบรรเทาภาระภาษีสำหรับผู้ที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นจากที่เคยเสียอยู่เดิม จะบรรเทาให้เป็นเวลา 3 ปี

“ตอนนี้มีรายละเอียดหมดแล้ว ทุกคนประเมินภาระภาษีตัวเองได้ตามบทเฉพาะกาล จะกำหนดอัตราจัดเก็บช่วงแรก2 ปี จากนั้นค่อยดูว่าจะอย่างไรต่อไป ส่วนการบรรเทาภาระภาษีจะอยู่ช่วง 3 ปีแรกซึ่งการบรรเทาจะคิดเฉพาะส่วนที่ถูกเก็บภาษีมากขึ้นกว่าที่เคยเสียอยู่ส่วนที่เคยเสียอยู่ก็จะเสียเหมือนเดิม สมมุติเคยเสียภาษีอยู่ 300 บาท ต้องเสียเพิ่มเป็น 500 บาทในส่วน 300 บาทก็ต้องเสียไปก่อน ส่วนอีก200 บาท ค่อยมาบรรเทา ปีแรก 25% ของ200 บาท ปีที่สอง 50% ปีที่สาม 75% คิดรวมกับ 300 บาทเดิม ดังนั้นภาพรวมภาษีไม่ได้น้อยลง” นายลวรณกล่าว

ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีแรก การเก็บรายได้ภาษีที่ดินของ อปท. ทั่วประเทศจะอยู่ที 3-4 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่เก็บได้ปีละ 2.9 หมื่นล้านบาท โดยรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้น มาจากที่ดินเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ส่วนที่รกร้างว่างเปล่าจะเริ่มต้นเก็บอัตราเท่ากับที่ดินเชิงพาณิชย์ จากนั้นจึงทยอยปรับเพิ่มขึ้น หากยังไม่มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน

สนามกอล์ฟลดหย่อน 90%

กรณีสนามกอล์ฟจะได้รับลดหย่อนภาษีให้ 90% เฉพาะในส่วนที่เป็นสนามกอล์ฟ เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนกีฬา แต่ส่วนคลับเฮาส์จะไม่ได้รับยกเว้นภาษี แต่จะมีการจัดเก็บภาษี ซึ่งการลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์นี้ ไม่ใช่เฉพาะกรณีสนามกอล์ฟ แต่รวมถึงกีฬาประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น สนามฟุตบอล เป็นต้น

“จะลดหย่อนให้เฉพาะส่วนที่เป็นสนาม โดยจะได้ลดหย่อน 90% คือ 100 บาท เสียแค่ 10 บาท ซึ่งรวมถึงที่ดินที่ใช้ในทางกีฬาอื่น ๆ ด้วย” นายลวรณกล่าว

แจงเหตุผลเลื่อนราคาประเมิน

นายลวรณกล่าวด้วยว่า กรณีที่กรมธนารักษ์เลื่อนการประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมจะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นใช้วันที่ 1 ม.ค. 2564 นั้น เนื่องจากหากไม่เลื่อนใช้ราคาประเมินใหม่ จะสร้างความยุ่งยากให้ท้องถิ่นที่ต้องนำราคาประเมินใหม่มาใช้ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันต่อการเก็บภาษีที่ต้องเสร็จภายในสิ้นเดือน เม.ย. 2563

“วันนี้ท้องถิ่นเขาต้องทำการบ้านว่า ที่ดินแต่ละแปลง หรือโรงงานแต่ละแห่ง ต้องประเมินแล้วเสียภาษีเท่าไหร่ ซึ่งใช้ราคาที่ดินปัจจุบันมาทำจนเสร็จแล้ว แต่ถ้าพอวันที่ 1 ม.ค. 2563 จะไปเปลี่ยนราคาใหม่ สิ่งที่ทำมาก็จะผิดหมด ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกันก็ต้องชะลอไป 1 ปี เพราะถ้าไปประกาศราคาใหม่ ก็ต้องทำการบ้านกันใหม่ ก็จะไม่ทันเก็บภาษีภายในเดือน เม.ย.” นายลวรณกล่าว

3 ปีแรกที่ร้างเก็บเท่าเชิงพาณิชย์

ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่าอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บช่วงปี 2563-2564 หากเป็น

1. ที่ดินเกษตรกรรม มูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.01%, 75-100 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03%, 100-500 ล้านบาท เสียอัตรา 0.05%, 500-1,000 ล้านบาท เสียอัตรา 0.07% และ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียอัตรา 0.1% ซึ่งในกรณีบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นภาษีในช่วง 3 ปีแรก จากนั้นปีที่ 4 เป็นต้นไป จะได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในแต่ละ อปท. รวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นการถาวร

2. ที่อยู่อาศัย กรณีเป็นบ้านรวมที่ดิน หากเป็นหลังหลัก (มีชื่อในทะเบียนบ้าน) มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษี, 50-75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03%, 75-100 ล้านบาท เสีย 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไป เสีย 0.1%

กรณีสิ่งปลูกสร้าง หากใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลังหลัก มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี, 10-50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.02%, 50-75 ล้านบาท เสีย 0.03%, 75-100 ล้านบาท เสีย0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้น เสีย 0.1% บ้านที่ไม่ใช่หลังหลัก ไม่เกิน 50 ล้านบาทเสีย 0.02%, 50-75 ล้านบาท เสีย 0.03%,75-100 ล้านบาท เสีย 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไป เสีย 0.1%

3. อื่น ๆ (พาณิชยกรรม/รกร้างว่างเปล่า) มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.3%, 50-200 ล้านบาท เสีย 0.4%, 200-1,000 ล้านบาท เสีย 0.5%, 1,000-5,000 ล้านบาท เสีย 0.6% และ 5,000 ล้านบาทขึ้น เสีย 0.7% กรณีที่ว่างเปล่า หากไม่มีการทำประโยชน์ ภาษีจะเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี สูงสุดไม่เกิน 3%

อ่านเพิ่มเติม

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • ฮับ-เฮลท์
    ยังจะโดนกันอีกเยอะ รบ.นี้หาเงินจากการขึ้นภาษี รอดูมาม่า ไวไว อีกหลายอย่าง เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น รายได้ลดลง แต่รายจ่างเพิ่มขึ้นทุกอย่าง ดูน้ำแข็งร้านสะดวกซื้อ ๙ บาทต่อถูงแล้ว ไข่เบอร์ ๐ ในสะดวกซื้อ ๖-๗บาทเข้าไปแล้ว บริหารอย่างไรคนไทยถึงจะดีขึ้น คนส่วนใหญ่อยู่ยาก คนส่วนน้อย คนมีเงินเดือนประจำไม่เดือดร้อน เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรเงินเดือนก็เท่าเดิม
    21 ต.ค. 2562 เวลา 05.20 น.
  • หมายถึงยึดชื่อตามโฉนดใช่ไหม สมมุติบ้าน 10โฉนด ก็ยึดบ้านหลักตามทะเบียนบ้าน ที่เหลือ9โฉนดเสียภาษี ถ้า 1 คน 1โฉนด ไม่เสียใช่ไหม ถ้ามีชื่อในโฉนดมากกว่า 1 ก็ยึดบ้านหลักตามทะเบียนบ้าน แม่นบ่
    21 ต.ค. 2562 เวลา 03.59 น.
ดูทั้งหมด