ถาม: คนเราเดี๋ยวนี้ไม่นับถือศาสนา ถึงขั้นคิดว่าไม่มีศาสนาก็ไม่มีกรรม ไม่มีบาป ไม่ต้องรับผลกรรม อันนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่?
ตอบ: พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่อยู่บนหลักการแห่งเหตุผล คำถามเรื่องกรรมกับตัวบุคคล จึงต้องรู้ว่า "กรรม" ที่พูดกันอยู่นั้น ความจริงกรรมคืออะไร?
คำว่า "กรรม" ไม่ได้มีความหมายอื่นใดเลยนอกเหนือจาก "การกระทำ" การที่พูดว่าคนนั้นมีกรรม คนนี้มีกรรมเป็นเรื่องสามัญอย่างที่สุด เพราะแปลได้เพียงว่าผู้นั้นได้กระทำ หรือมีการกระทำอะไรอยู่เท่านั้น กรรมเป็นเพียงคำกลาง ๆ ตราบเมื่อเพิ่มคำว่า "ดี" หรือ "ชั่ว" ต่อท้าย ความหมายจึงชัดเจนว่า ผู้นั้นได้กระทำเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดีลงไป
พุทธศาสนาสอนว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกรรม การที่คนหรือสัตว์เป็นเช่นไรในเวลานี้หรือเวลาไหน ก็เป็นผลที่มาจากเหตุก่อนหน้าทั้งสิ้น บาลีเรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาท" ซึ่งเป็นหลักที่แสดงในรูปของกฎธรรมชาติ กล่าวคือ "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด, สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี, สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ" หมายถึงภาวะที่มีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) ซึ่งสิ่งทั้งหลายนั้น ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง ทุกชีวิต ทุกปรากฏการณ์ ล้วนมีเหตุและสิ่งที่เป็นไปตามเหตุนั้นเสมอ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้เองโดด ๆ การเกิดขึ้นมาและความเป็นไปเช่นนั้น มาจากเหตุปัจจัยก่อนหน้าทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าไม่มีศาสนาก็ไม่บาป ไม่ต้องรับผลกรรมจริงไหม คำตอบคือไม่จริง เพราะการที่บุคคลจะมีศาสนาหรือไม่มีศาสนาก็ตาม กฏของธรรมชาติก็เป็นอยู่อย่างนั้น หนึ่งบวกหนึ่งได้ผลลัพธ์เป็นสองเสมอ การกระทำใด ๆ ย่อมมีผลเกิดขึ้นวันยังค่ำ และผลที่ว่านี้ก็จะเป็นผลที่ "สมเหตุ" หมายถึงผลลัพธ์จะเชื่อมโยงกับสาเหตุนั้น ๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น เมื่อเราทุบโต๊ะ ผลลัพธ์ก็คือเสียงทุบ คือการเจ็บมือ หรือจะอะไรก็ตามที่มีเหตุมาจากการทุบโต๊ะ ความหมายของกรรมทางพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้
ส่วนการจะนับถือศาสนาหรือไม่นั้น อาตมาเห็นว่า ศาสนาจะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของใครก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ผู้ที่ได้ชื่อว่านับถือศาสนา ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าเขาจะเป็นคนดี ส่วนคนที่ไม่มีศาสนา ก็ใช่ว่าเขาจะเป็นคนดีไม่ได้
ต้องเข้าใจก่อนว่า การไม่มีศาสนากับการไม่มีศีลธรรม มันคนละเรื่องกัน ศีลธรรมเป็นความปกติ เป็นเรื่องสากล เป็นสามัญสำนึกที่พึงมี (จากการสั่งสอน หรือรู้ด้วยตัวเอง) หากสามัญสำนึกนี้มิได้เกิดกับบุคคลใด ต่อให้เป็นผู้ที่นับถือศาสนาก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี ในทางกลับกันคนที่ไม่มีศาสนา แต่เป็นผู้มีความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น แม้เขาจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดี มีศีลธรรม
ศาสนา หมายถึง คำสอน และการปฏิบัติตามคำสอนสำหรับผู้ที่นับถือศาสนานั้น ๆ แม้ปัจจุบันผู้ไม่มีศาสนาหรือผู้ที่เลิกนับถือศาสนาจะมีมากขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดจากโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกของวัตถุและบริโภคนิยม ทำให้การดิ้นรนแสวงหาปัจจัยตอบสนองความต้องการวัตถุนิยมเหล่านั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตมากกว่า เมื่อเขามองเห็นว่าศาสนาไม่ได้ช่วยอะไร ทุกอย่างเกิดจากตัวของเขาเอง ด้วยมันสมองและสองมือ จึงทำให้เขาหันมานับถือความสามารถของตัวเอง และกำหนดแนวทางชีวิตเอง
ส่วนคนที่ได้ชื่อเป็นผู้นับถือศาสนา แต่ไม่เคยใส่ใจในหลักธรรมคำสอนทางศาสนา มัวแต่ไปยึดติดกับพิธีกรรมอันเป็นเรื่องนอกรีตนอกรอย นับถือศาสนากันแต่เพียงในนาม ก็เปรียบกันไม่ได้กับคนที่ไม่มีศาสนาแต่นับถือตัวเอง นับถือความถูกต้อง เสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นสาระสำคัญในเรื่องศาสนาจึงมิได้ขึ้นอยู่ที่เขาจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนา อาตมากำลังสื่อว่าศาสนาเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตไปในทิศทางที่ดีที่ถูกต้อง ทั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับตัวบุคคล
เจริญพร
พระมหาทรงศักดิ์ จิรสุโภ
วัดปากน้ำ นนทบุรี
🏞🌾🐇 Completed พูดได้ถูกต้อง....เห็นภาพชัดเจน เดี๋ยวนี้คนงมงายกับพิธีกรรมมาก จนเข้าไม่ถึงหลักคำสั่งสอนว่าควรจะปฎิบัติตัวอย่างไร ในการนับถือศาสนาพุทธ
20 ก.ย 2561 เวลา 11.04 น.
Free man พระที่ดีมีอยู่เยอะบอกเลย เพียงแต่ไม่เป็นข่าวไง ขายข่าวได้แต่พระนอกรีต เพราะฉะนั้น ควรคิดดี ทำดี พูดดี แล้วตั้งจิตอธิษฐาน จะได้เจอพบเจอแต่พระดีๆเอง
20 ก.ย 2561 เวลา 11.20 น.
ห้าศาสนาหลักธรรมเดียวกัน
พระศาสดาทั้งห้า
ทรงมุ่งหวังให้บังเกิดโลกสันติภาพ
แม้คนจะมีการแบ่งภาคพื้น
แต่พุทธภาวะ (ดวงจิตธรรมญาณ)
ไม่มีการแบ่งแยกครับ
20 ก.ย 2561 เวลา 11.55 น.
ร.ต.สากล เนตินานนท์ บทความที่ว่ามาเป็นความเห็นที่ถูกต้องที่สุด เคารพในความเป็นผู้รู้อย่างแท้จริง
20 ก.ย 2561 เวลา 13.41 น.
Apiroon 195 แก้ที่ตนเอง คิดดีทำดีรับผลกรรมดี คิดไม่ดีทำไม่ดี รับผลกรรมไม่ดีพระดีพระเลวก็รับผลแห่งกรรมนั้นๆไม่เกี่ยวกับรวยหรือไม่รวยนะ
20 ก.ย 2561 เวลา 11.32 น.
ดูทั้งหมด