ไลฟ์สไตล์

ปู่สังกะสา-ย่าสังกะสี มนุษย์คู่แรกของโลกตามคัมภีร์ปฐมกัปป์ ต่างจากกำเนิดโลกในไบเบิล?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 07 มิ.ย. 2566 เวลา 04.57 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2566 เวลา 10.34 น.
นกในป่าหิมพานต์มาฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า (ไม่รู้ว่ามีนกปู่สังกะสาไหม-ผู้เขียน) [ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2537]

มนุษย์ชายหญิงคู่แรกของโลกนั้น ถ้าถือเอาตามความเชื่อถือของฝรั่งสมัยโบราณ น่าจะได้แก่ อาดัม กับ อีวา ตามที่มีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลของทางฝ่ายคริสต์ศาสนา แต่ทางไทยเราไม่ว่าจะเป็น ไตรภูมิพระร่วง (เตภูมิกถา) หรือไตรภูมิโลกวินิจฉัย ซึ่งแต่งขึ้นในชั้นหลังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ แต่ในวรรณคดีลานนาและลานช้างโบราณมีกล่าวไว้ว่า ปู่สังกะสา กับ ย่าสังกะสี เป็นมนุษย์ชายหญิงคู่แรกของโลก โดยถือตามคัมภีร์ปฐมกัปป์

ปฐมกัปป์นี้ดูเหมือนจะเรียกชื่อควบคู่ไปกับ ปฐมปันนา หรือ ปฐมพันนา (พรรณนา) หรืออย่างไร ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจ เพราะเคยได้อ่านนานมาแล้ว (กว่าห้าสิบปี) และที่ได้อ่านนั้นก็ไม่ได้อ่านจากฉบับเต็มหรือฉบับใบลานดั้งเดิม เป็นแต่ได้อ่านจากที่มีผู้คัดลอกมาไม่สมบูรณ์ดีทีเดียว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

และเท่าที่ได้ทราบมา ทั้งวรรณคดีลานนาและลานช้างมีเรื่องของ ปู่สังกะสา และ ย่าสังกะสี นี้เหมือนกัน แต่จะเรียกชื่อคัมภีร์หรือหนังสืออย่างเดียวกันหรือไม่ก็ไม่ทราบ และผู้เขียนก็ไม่เคยได้อ่านฉบับของลานนาเลย เคยอ่านแต่ฉบับภาษาอีสาน (ซึ่งจะขอเรียกว่า ฉบับลานช้าง) ที่มีผู้คัดลอกมาดังกล่าวแล้ว จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีเนื้อเรื่องอย่างเดียวกันหรือมีส่วนที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง…

ปฐมกัปป์ คงจะไม่ใช่หนังสือชั้นเก่าถึงขนาดไตรภูมิพระร่วง และมีแนวการแต่งผิดแผกไปจากไตรภูมิฯอยู่ไม่น้อย แม้ว่าจะมีส่วนที่อิงอาศัยหลักความเชื่อคือทั้งทางพุทธและพราหมณ์อยู่ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอย่างเด่นชัด หนังสือนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและสมัยที่แต่ง และไม่เป็นที่แน่นอนว่ามีกําเนิดจากทางลานนาหรือลานช้างก่อน แต่พอจะสันนิษฐานได้อย่างคร่าว ๆ ว่า คงจะเป็นวรรณคดีร่วมสมัยของทางลานนาและลานช้าง ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ระหว่าง พ.ศ. 2000-2250 ซึ่งเป็นตอนที่การวรรณคดีของทั้งสองอาณาจักรกําลังเฟื่องฟูมาก หนังสือนี้เป็นที่สนอกสนใจของคนโบราณมาก มีการศึกษาเล่าเรียนกันอย่างจริงจังและแพร่หลายเช่นเดียวกับคัมภีร์สําคัญต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา

หนังสือปฐมกัปป์นี้ มีลักษณะคล้ายกับคัมภีร์ไบเบิลในส่วนที่เกี่ยวกับกําเนิดของโลก หรือ ตํานานการสร้างโลก (GENESIS) แต่มีเนื้อหาหรือรายละเอียดแตกต่างกันไปคนละทาง ตามความเชื่อของแต่ละฝ่าย และคงไม่อาจนํามากล่าวถึงในที่นี้โดยละเอียดได้ จึงขอกล่าวถึงในบางแง่บางมุมแต่โดยย่อ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สิ่งที่ตรงกันอย่างน่าประหลาดใน GENESIS แห่งคัมภีร์ไบเบิลกับปฐมกัปป์ก็คือ ก่อนที่พระเจ้าจะสร้างฟ้าหรือสวรรค์ (Heavens) และแผ่นดินหรือโลก (Earth) หรือก่อนมีฟ้าและดินนั้น ได้มีน้ำและลมอยู่ก่อนแล้ว หากจะตั้งสมมติฐานตามทางวิทยาศาสตร์ก็น่าจะเป็นว่า สสารจําพวกของเหลว (Liquid) และแก๊ส (Gas) นั้น มีมาก่อนสสารจําพวกของแข็ง (Solid) และดินนั้นเกิดทีหลังลม ตามคัมภีร์ปฐมกัปป์นั้นดินเกิดจากความแข้นแข็งของน้ำ

ในตอนต้น ๆ ของ GENESIS กล่าวว่า -and duriness was on the face of the deep; and the Spirit of God was moving over the face of the waters ในไบเบิลอธิบายว่า the Spirit of God หมายถึงลม และว่า And God said “Let there be a firmament in the midst of the waters and 4 it separate the waters from the waters. คํา firmament น่าจะหมายถึงสสารที่เปลี่ยนสภาวะเป็นของแข็ง (ดิน) แล้วนั่นเอง และมีข้อความต่อมาอีกว่า … And God said. “Let the waters under the heavens he gathed. together into one place, and let the dry land appear.”

ในคัมภีร์ปฐมกัปป์มีว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ลมชูนําน้ำกะเล่าซูปลา
ปลาชูหินหินชุดินจังบ่จมลงได้
ลมพัดให้เป็นดินสองแผ่น
แผ่นหนึ่งหญิงอยู่เฝ้าเป็นเจ้าแผ่นดิน
แผ่นหนึ่งชายอยู่เฝ้าเป็นเจ้าแผ่นดิน
ไกลกันล้ำพอประมาณฮ้อยโยชน์
แล้วจั่งติดต่อจ้ำกันเข้าแผ่นเดียว

หญิงกับชายที่กล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ปู่สังกะสา และ ย่าสังกะสี ในเวลาต่อมา

ในคัมภีร์ไบเบิลได้พูดถึงผู้สืบเชื้อสาย (Generations) ต่อจากอาดัมกับอีวาไว้อย่างละเอียดและยืดยาว แต่ในคัมภีร์ปฐมกัปป์ไม่มีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มีเรื่องที่เกี่ยวกับกําเนิดของชีวิตไว้อย่างละเอียดและยืดยาว เริ่มด้วย “สิบสองสูญตั้งวิญญาณญับเกิด” เรื่องกําเนิดของชีวิตวิญญาณนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากไตรภูมิพระร่วงอยู่มาก

สิ่งที่แตกต่างระหว่างคัมภีร์ไบเบิลกับปฐมกัปป์ที่สําคัญอย่างหนึ่งคือ ในคัมภีร์ปฐมกัปป์ได้กล่าวถึงการกลับชาติตามคติความเชื่อถือของทางฝ่ายพุทธศาสนา และการกลับชาติที่ว่านี้ก็คือ การกลับชาติมาเกิดของปู่สังกะสานั่นเอง

การกลับชาติของปู่สังกะสาตามที่กล่าวในคัมภีร์ปฐมกัปป์นี้ หากคิดตามทรรศนะทั่ว ๆ ไป ดูจะไม่คู่ควรหรือสมศักดิ์ศรีของปฐมบุรุษหรือผู้ชายคนแรกของโลกเลย ดูจะอาภัพและด้อยเกียรติภูมิอยู่มาก

ตามเรื่องมีว่าย่าสังกะสีตายก่อน ปู่สังกะสาตายที่หลัง ปู่สังกะสาเสียอกเสียใจและคร่ำครวญถึงเมียอยู่เป็นเวลาช้านาน เมื่อปูสังกะสาตายแล้วได้เกิดมาเป็นนกเล็ก ๆ ชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกในภาษาไทยอีสานว่า นกกะแดแคดเค้า ชื่อนี้ฟังไม่ค่อยรื่นหูนัก เฉพาะอย่างยิ่งคําสุดท้าย แต่ก็ไม่สามารถเลี้ยงพูดเป็นอย่างอื่นได้

ในพจนานุกรมไทยอีสาน – ไทยกลาง ของท่านเจ้าคุณสมเด็จมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสสเถระ) และในสารานุกรมภาษาไทยอีสานของ ดร.ปรีชา พิณทอง ก็มีชื่อนกชนิดนี้อยู่ด้วย นกกะแดแดดเด้า นี้ เป็นนกตัวเล็ก ๆ โตกว่านกกระจิบเล็กน้อย สีลายหม่น ส่วนท้องมีสีขาว ขายาว ชอบหากินอยู่ตามริมบึงหรือหนองใหญ่ ๆ เวลาบินไปมาส่งเสียงร้อง ปี๊บ ๆ ยาว ๆ นกชนิดนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากนกชนิดอื่นในขนาดเดียวกันคือ เวลายืนลําตัวตั้งเกือบตรง แต่ส่วนหางหรือส่วนท้ายของมันจะทําอาการกระดกขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เป็นนิตย์ (ทําอาการเหมือนคําสุดท้ายของชื่อมันนั่นแหละ)

ที่เป็นเช่นนี้ในปฐมกัปป์กล่าวไว้ว่า

อันว่าสังกะสาเจ้าเดาดากะพือปีก
กี้กกี้กฮ้องหาก้ำฝ่ายเมีย
เสียใจด้วยภรรยาตายจาก
ทางปากฮ่ำฮ้อง ทางก้นฮ่อนหา
เป็นแต่ปางปฐมพุ้นมีมาตั้งแต่เก่า
นกกะแดแดดเด้า เซาก้นอยู่บ่อเป็น

ทางก้นฮ่อนหา และ เซาก้นอยู่บ่อเป็น ก็คือทําอาการดังที่ว่ามาแล้วอยู่เป็นนิตย์นั่นเอง

แม้ว่าจะดูคล้ายกับนิยายปรัมปรา แต่หนังสือปฐมกัปป์ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษาอยู่ไม่น้อย เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับวรรณคดีโบราณของไทยทั่วไป เป็นการขยายขอบข่ายของการศึกษาวรรณคดีให้กว้างขวางขึ้น

ปฐมกัปป์ น่าจะเป็นหนังสือเก่าไม่น้อยไปกว่าพงศาวดารลานช้างที่เราได้เคยพิมพ์เผยแพร่กันมานานแล้ว หากจะมีการสืบค้นหามาพิมพ์ ทั้งฉบับลานนาและลานช้าง ก็คงจะมีประโยชน์อยู่ไม่น้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “นกปู่สังกะสา” เขียนโดย ทอง โรจนวิธาน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2537

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2562

ดูข่าวต้นฉบับ