หุ้น การลงทุน

ยื่นภาษีออนไลน์ 2566 วันสุดท้ายวันไหน ยื่นไม่ทันต้องทำอย่างไร มีโทษอะไรบ้าง?

The Bangkok Insight
อัพเดต 26 ก.พ. เวลา 12.53 น. • เผยแพร่ 27 ก.พ. เวลา 00.33 น. • The Bangkok Insight

ยื่นภาษีออนไลน์ 2566 วันสุดท้ายวันไหน หากยื่นภาษีไม่ทัน ยื่นภาษีล่าช้าเกินกำหนดต้องทำอย่างไร มีโทษอะไรบ้าง?

เรื่องหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือน หรือแม้แต่เหล่าฟรีแลนซ์ทั้งหลายห้ามลืมในทุกปี คือ การยื่นแบบภาษีเงินได้ และทุกปีกรมสรรพากรจะกำหนดเส้นตายในการยื่นแบบภาษี ถ้ายื่นด้วยตนเองแบบกระดาษ กรมสรรพากรจะเปิดให้ยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 แต่ถ้าเป็นการยื่นแบบภาษีทางออนไลน์ที่ www.rd.go.th ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2567

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ยื่นภาษีออนไลน์

ในการยื่นแบบภาษี แม้เงินได้สุทธิเราไม่ถึง 150,000 บาทที่ต้องเสียภาษี หากเราเข้าเกณฑ์ของกรมสรรพากร ก็ต้องยื่นแบบภาษี ซึ่งกรมสรรพากรกำหนดเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี คือ

  • บุคคลธรรมดาและผู้ถึงแก่ความตาย มีเงินได้พึงประเมิน ดังนี้
  • ประเภทเงินได้ (เงินเดือนเพียงอย่างเดียว) โสด 120,000 บาท สมรส 220,000 บาท
  • ประเภทเงินได้ (เงินได้ประเภทอื่น) โสด 60,000 บาท สมรส 120,000 บาท
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
  • กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

แปลว่า ต่อให้ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ก็ต้องยื่นแบบ ถ้าไม่ยื่น หรือยื่นช้า มีบทลงโทษ ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ยื่นภาษีออนไลน์

1. บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในกำหนด หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา

ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ภายในกำหนด แต่ไม่ได้ชำระเงินภาษี (กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ)

คือ ยื่นภาษีทันกำหนด แต่ไม่ได้ชำระเงินภาษีภายในกำหนด ก็ถือว่าไม่ได้ยื่นแบบ เราต้องไปยื่นแบบอีกทีที่สำนักงานกรมสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1

3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา

3.1 กรณีมีเงินภาษีที่ต้องชำระ กรณีนี้เหมือนข้อ 2 เราต้องชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ แม้จะไม่มีภาษีที่ต้องชำระ เรายังต้องเสียค่าปรับตามข้อ 1 อยู่ดี หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าถ้าไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้ คงรู้แล้วนะว่า คิดผิด ยื่นภาษีในกำหนดเวลาเถอะ จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับ

4. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในกำหนด แต่ยื่นเพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ

4.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
4.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

ยื่นภาษีออนไลน์

5. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี

กรณีนี้สำหรับคนที่มีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน (แต่ละงวดห่างกัน 1 เดือน) ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ ดังนี้

  • งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 31 มีนาคม (ปีนี้ 30 มิถุนายน)
  • งวดที่ 2 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1
  • งวดที่ 3 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2

ถ้าภาษีงวดใดงวดหนึ่งมิได้ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวด และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

6. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 มารู้ว่าจ่ายภาษีมากเกินไปหลังกำหนดการยื่นแบบ อยากขอคืนทำยังไง?

กรณีนี้สำหรับคนมีสิทธิขอภาษีคืน แต่ไม่ได้ทำเรื่องขอคืนไว้ตอนยื่นภาษีเงินได้ กรมสรรพากรก็ยังใจดีเปิดโอกาสให้คนที่เกิดเปลี่ยนใจอยากขอภาษีคืน ก็ขอได้ โดยให้ยื่นคำร้องขอคืนเงินตามแบบ ค.10 ณ สำนักงานกรมสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยแนบเอกสารแล้วแต่กรณี เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แบบ ล.ย.03 (ถ้ามี) ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา (ถ้ามี) ฯลฯ

ยื่นภาษีออนไลน์

7. กรณีรับคืนเงินภาษีอากรเกินไป และได้รับหนังสือทวงถามให้นำเงินไปคืน

โอกาสเกิดมีน้อยมาก แต่อย่าคิดว่าเป็น "ลาภลอย" เพราะกรณีนี้เป็น "ลาภมิควรได้" อย่าคิดว่าเป็นความผิดของกรมสรรพากรที่คืนภาษีให้เราเยอะเกินไปเอง เราต้องนำเงินไปคืนกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม หากเราไม่นำส่งเงินคืนที่ได้รับเกินไปภายในกำหนดเวลา ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัด

ขอบคุณ สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • Samsam
    เรื่ิองมากชิบ ภาษีก็มาล้างผลาญเสียดายสุดๆๆๆ
    27 ก.พ. เวลา 03.21 น.
  • I am a little wizard
    แล้วในกรณีที่ ปชช. เค้ายื่นภาษีไปแล้ว และได้คืนภาษี แต่เจ้าหน้าที่สรรพากร ไม่ดำเนินการอะไรให้เลย ไม่ตรวจสอบ ไม่ทำอะไรเลย โทรติดต่อก็ไม่ได้ โทรไปตัดสายทิ้ง ติดต่อไม่ได้ตลอดเลย ไปติดต่อเองที่สรรพากร ก็หาว่าเราเช็คเองในเวปสรรพากร ไม่ได้หรอ จะมาให้เสียเวลาทำไม ตอบเราแบบไม่พอใจ แบบนี้จะร้องเรียนได้ที่ไหน อ่ะ ผมยื่นภาษีตั้งแต่ต้นเดือน มค. จนป่านนี้ Status ในเวปของสรรพากร เอกสารของผมยังอยู่ที่เดิม ไม่ไปไหนเลย มีแต่รอตรวจสอบ
    27 ก.พ. เวลา 03.40 น.
  • noteศินาถ
    55555 นึกออกไหมว่า vat 7% ต่างชาติมาเที่ยวก็ต้องจ่าย พวกหนีเข้าเมืองก็ต้องจ่าย คนที่เสียภาษีของจริง ต้องเคยยื่น ภงด 90
    27 ก.พ. เวลา 03.31 น.
ดูทั้งหมด