Metaverse หรือ โลกเสมือนจริง เปรียบเสมือนการย่อโลกให้อยู่ในมือเรา มนุษย์สามารถเข้าไปมีชีวิต มีอาณาจักรของตัวเอง ทำกิจกรรม มีเพื่อน ชอปปิ้ง ได้ง่ายๆ และให้เราสะดวกสบายมากขึ้นมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทีมวิจัยโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์: วิถีการแปรเปลี่ยนนวัตกรรมและการประกอบการทางวัฒนธรรมในสังคมเสมือน ร่วมกับทีมนักพัฒนา Metaverse จาก Khon Kaen InfiniteLand เปิดตัวนวัตกรรมดิจิทัลจากทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่โลกเสมือน “หมอลำเมตาเวิร์ส” (Molam Metaverse) ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ใหม่ที่ทุกคนสามารถท่องโลกหมอลำผ่านพื้นที่โลกเสมือนจักรวาลนฤมิตร
ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า “หมอลำเมตาเวิร์ส” เกิดจากการตั้งคำถามพื้นฐานง่าย ๆ ที่ว่า ในยุคที่เมตาเวิร์สเข้ามามีอิทธิพลในกระแสสังคมดิจิทัล หมอลำจะเข้าไปอยู่ในพื้นเสมือนนั้นได้อย่างไร เราไม่ทราบหรอกว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เราอยากทดลอง ทดสอบ และอยากใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ช่วยให้เกิดแนวความคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยต่อยอดหมอลำให้ก้าวไปให้ทันยุคดิจิทัลให้ได้”
หมอลำเมตาเวิร์ส นับเป็นนวัตกรรมดิจิทัลจากทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ให้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักหมอลำสามารถเข้าถึงเข้าถึงหมอลำได้ง่ายขึ้น โดยการวิจัยครั้งนี้คณะผู้วิจัยมุ่งศึกษาทดลองกับ หมอลำหมู่ หรือ หมอลำเรื่องต่อกลอน เป็นหลัก
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- รู้จัก เมตาเวิร์ส Metaverse ผ่านหนัง Ready Player One ของสตีเฟ่น สปีลเบิร์ก
- 5G ในยุค Metaverse เน็ตยิ่งเร็ว ยิ่งต้องรู้ว่าเทรนด์ "เสมือนจริง" มาแรงจริง
- Use Cases ที่ทำ (ราย) ได้ ในโลก Metaverse มีอะไรบ้าง
ในพื้นที่โลกเสมือนหมอลำเมตาเวิร์ส ได้ออกแบบพื้นที่เชื่อมต่อกันเป็น 2 โซน
โซนที่ 1 เปิดโลกหมอลำ ภายใน “หมอลำเมตาเวิร์ส” (Molam Metaverse) โถงกลาง เป็นพื้นที่ให้คนได้เห็นภาพบรรยากาศหน้าเวทีหมอลำ มีอวาร์ตาร์ออกลีลาท่าเต้นอยู่หน้าเวทีการแสดงหมอลำ เสมือนการฉายภาพมโนมติให้เกิดจินตนาการสำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักหมอลำ ก่อนที่จะเข้าไปสัมผัสโลกของหมอลำในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ในพื้นที่โซนที่ 1 ยังจัดให้มีช่องทางการเชื่อมต่อเข้าถึงหมอลำคณะต่าง ๆ ผ่าน Social Network และการเข้าถึงฐานข้อมูล Cultural Map ที่เชื่อมโยง Supply Chain ต่าง ๆ ที่เกิดจากหมอลำ ในส่วนสุดท้ายของโซนที่ 1 จะเป็นจุดที่ Avatar สามารถว้าปเข้าไปเยี่ยมชมในโซนที่ 2
โซนที่ 2 หมอลำแกลอรี เป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับหมอลำ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ยุคแรก จุดกำเนิดของหมอลำหมู่ที่พัฒนามาจากหมอลำพื้น ยุคที่สอง ยุคที่พัฒนาจากหมอลำพื้นสู่หมอลำหมู่ ยุคที่สามคือยุคที่พัฒนาสู่คอนเสิร์ตหมอลำเรื่องต่อกลอน และส่วนสุดท้าย แสดงหมอลำ Avatar ที่นำเสนอการปั้นหุ่นอวาร์ตาร์ตัวแสดงสำคัญของหมอลำหมู่ ในส่วนสุดท้ายเป็นการนำเสนอนวัตกรรมดิจิทัลในพื้นที่จักรวาลนฤมิตร (Metaverse)
ใน “หมอลำเมตาเวิร์ส” (Molam Metaverse) จัดแสดงหมอลำและนักแสดงอวาตาร์ที่ทีมวิจัยได้ออกแบบขึ้น หมอลำอวาตาร์ที่นำเสนอประกอบด้วย พระเอก นางเอก ในยุคแรกและยุคปัจจุบัน โดยสังเกตได้จากลักษณะเครื่องแต่งกาย รวมถึงตัวอวาตาร์ที่เป็นศิลปินนักแสดงในส่วนต่าง ๆ ของคณะหมอลำ เช่น ตลก แดนเซอร์ เป็นต้น
นอกจากนั้น หมอลำอาวาตาร์ที่นำเสนอยังสามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยลีลาท่าทางการฟ้อนรำอย่างสนุกสนาน ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์เสมือนจริงแก่ผู้เข้าชมได้ใกล้ชิดกับหมอลำอวาตาร์ ประสบการณ์จากการทำหมอลำเมตาเวิร์สทำให้คณะผู้วิจัยได้สัมผัสกับประสบการณ์การออกแบบและทดลอง ซึ่งเชื่อว่ายังไม่มีที่ใดมาก่อน อีกทั้งทำให้นักวิจัยสามารถสร้างจินตนาการจากการทดลองนี้เพื่อต่อยอดไปยังการออกแบบส่วนอื่น ๆ ให้สมบูรณ์ในอนาคต
ช่องทางทดลองท่องโลกหมอลำเมตาเวิร์ส
- ผ่าน web browser ที่ Link: MoLam Metaverse | Spatial
- ผ่านแอฟพลิเคชัน spatial และใช้คำค้นว่า “Mo Lam” หรือ สแกน QR Code
เนื่องจาก Spatial.io มีข้อจำกัดหลายด้าน ทีมวิจัยจึงพัฒนา metaverse เพื่อรองรับการ scale up การ log on ใช้งานของ user จำนวนมากในเวลาเดียวกัน ที่ลิ้งค์ หรือ QR Code
การนำหมอลำเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สนับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่นักวิจัยได้ทำการทดลองออกแบบ ขณะที่เทคโนโลยีเมตาเวิร์สยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาจึงพบว่ามีข้อจำกัดหลายประการ
ข้อจำกัดจากการใช้ Spatial App
1. Application ที่มี Version ล้ำสมัยอาจพบปัญหาในการโหลด Avatar หรือ Object หรือฉากจึงแนะนำให้ Update Application ตาม link ดังนี้
- Android: https://play.google.com/store/apps/details…
- iOS: https://apps.apple.com/app/id1528403747
2. สัญญาณ Internet ที่แนะนำสำหรับการเข้าใช้งาน ควรเป็น 10Mbps download, 2Mbps upload หรือ ถ้าต้องการให้มีความเสถียรสูงที่สุดควรจะใช้ความเร็วสัญญาณ 50Mbps download, 10Mbps upload
ข้อจำกัดของ Verse ที่พัฒนาโดย InfinitLand ที่ไม่ได้ใช้ Spatial
1. สัญญาณ Internet ที่แนะนำสำหรับการเข้าใช้งาน 50Mbps download, 10Mbps upload
2. อุปกรณ์ที่ใช้งานควรมี RAM อย่างน้อย 6 GB ขึ้นไป
3. ยังไม่แนะนำให้ใช้กับอุปกรณ์พกพา เช่น มือถือ Tablet ฯลฯ โดยเฉพาะที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS ทั้งนี้ ไม่นับรวมระบบปฏิบัติการ OSX ของ MacBook หรือ PowerMac หรือ MacMini
หมายเหตุ: ความเร็วของ Internet และพื้นที่ความจุในคอมหรือโทรศัพท์มีผลต่อการเข้าถึงเมตาเวิร์ส และยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังเป็นข้อจำกัดของระบบเมตาเวิร์สซึ่งคิดว่าผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ที่มา : มหาวิทยาลัยขอนแก่น