“ปูนา” จากอาหารพื้นบ้านราคาถูกที่หากินได้ทั่วไปตามวิถีชีวิตคนชนบท กลับกลายมาเป็นของอร่อยหายากในปัจจุบัน ทำให้ใครหลายคนมองเห็นช่องทางสร้างรายได้ หันมาเอาดีทางด้านการเลี้ยงปูนา จนประสบความสำเร็จมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ
คุณวัชระ เดือนขึ้น หรือ พี่หนึ่ง เจ้าของนิตยาฟาร์มปูนา อยู่ที่ 31/1 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก อดีตบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก อยากมีธุรกิจส่วนตัว ผันตัวมาเป็นเกษตรกรเริ่มต้นจากการเลี้ยงหอย เลี้ยงปลา แต่รายได้ไม่ตอบโจทย์ จนกระทั่งมีโอกาสได้เข้าอบรมเกี่ยวกับการเลี้ยงปูนา จากศูนย์ฝึกที่จังหวัดกำแพงเพชร ก็เกิดเป็นความชอบและตัดสินใจทดลองเลี้ยงปูนาเป็นอาชีพสร้างรายได้มาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 3 ปี
โดยพี่หนึ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเลี้ยงปูนาให้ฟังว่า เริ่มต้นจากการทดลองเลี้ยงในวงบ่อซีเมนต์เล็กๆ เพื่อสะสมประสบการณ์ลองผิดลองถูกมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี จนเกิดความชำนาญและเข้าใจถึงเทคนิคการเพาะเลี้ยงปูนาอย่างถ่องแท้ ถึงได้มีการขยายพื้นที่เลี้ยงเพิ่ม รวมถึงการที่ได้นำประสบการณ์ในตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี มาต่อยอดพัฒนารูปแบบบ่อสำหรับเพาะเลี้ยงปูนาที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในบ่อมีผลต่อคุณภาพและปริมาณด้วยเช่นกัน
**เทคนิคการเลี้ยงปูนาแบบมืออาชีพ
เบื้องต้นต้องรู้และเตรียมอะไรบ้าง**
พี่หนึ่ง บอกว่า ปัจจุบันที่ฟาร์มปูนาของตนเองมีรูปแบบการเลี้ยงปูนาแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ 1. เลี้ยงในรูปแบบบ่อปูนซีเมนต์จำนวน 6 บ่อ 2. เลี้ยงในรูปแบบบ่อดินขนาดความกว้างประมาณ 2 งาน 1 บ่อ และ 3. เลี้ยงรูปแบบบ่ออินทรีย์ โดยรูปแบบบ่อจะขึ้นอยู่ที่ความถนัดของแต่ละคน รวมถึงการสร้างเครือข่ายสมาชิก เนื่องจากความต้องการของตลาดมีสูง ที่ฟาร์มไม่สามารถผลิตปูนาออกขายได้ตลอดทั้งปี
การเตรียมบ่อเลี้ยงเบื้องต้น ในความจริงแล้วการเตรียมบ่อเลี้ยงจะไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัวว่าต้องเป็นบ่อแบบนี้ และมีความกว้างและยาวขนาดเดียวเท่าไหร่ แต่สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ของแต่ละคน โดยให้ยึดหลักว่าในพื้นที่ 1 ตารางเมตรต่อพ่อแม่พันธุ์ 20 คู่ ควรจะไม่มากไปกว่านี้
รูปแบบบ่อในการเลี้ยง
- บ่อปูนซีเมนต์ คือการนำอิฐบล็อกก่อขึ้นมาสูงประมาณ 2-3 ชั้น แล้วฉาบปูนบริเวณด้านในตามงบ หรือถ้าหากใครมีงบเยอะก็สามารถฉาบปูนข้างนอกเพิ่มเติมได้เพื่อความสวยงาม แล้วหลังจากนั้นให้หากระเบื้องมือสอง และใช้พืชน้ำ เช่น จอกแหนหรือผักตบชวา วางใส่ลงไปในบ่อ ซึ่งกระเบื้องไว้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่หลบภัยเนื่องจากช่วงที่ปูลอกคราบปูมักจะกินกันเอง ทำให้เกิดความเสียหาย ตรงนี้ก็จะช่วยทำให้ปูสามารถอยู่ด้วยกันได้ในบ่อเดียวกัน และในส่วนของพืชน้ำที่ใส่ลงไปทำการจัดสภาพแวดล้อมในบ่อให้เลียนแบบที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปู เพราะนอกจากที่ปูจะใช้เป็นอาหารแล้วยังใช้เป็นแหล่งหลบซ่อนได้อีกด้วย
- บ่ออินทรีย์ จะเป็นในรูปแบบกึ่งดินกึ่งน้ำ เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมสูงเพราะผู้เลี้ยงสามารถนำไปต่อยอดหรือสามารถนำไปออกแบบเลี้ยงเพื่อเพิ่มอัตราการรอดให้สูงขึ้น โดยบ่ออินทรีย์คือการออกแบบต่อยอดจากบ่อปูน มีการใส่ดินเข้าไปในบ่อปูน แล้วใช้อิฐแดงหรืออิฐบล็อก กั้นจำลองเพื่อให้เป็นลักษณะบ่อกึ่งบกกึ่งน้ำ จากนั้นเซ็ตดินให้มีความนุ่ม ให้ใกล้เคียงธรรมชาติของปูนาชอบฝังตัวอยู่ในดิน และยังช่วยให้ปูสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยตนเอง นี่จึงเป็นข้อดีของบ่ออินทรีย์ และปูจะทนต่อสภาพอากาศต่างๆ ได้ดีมากขึ้นด้วย
- บ่อดิน หรือ บ่อธรรมชาติ เป็นบ่อที่เคยเพาะเลี้ยงปลาและทำนาข้าวแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้มีการปรับแต่งพื้นที่เพื่อให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำ แล้วนำกระเบื้องเก่ามาล้อมทำอาณาเขตเพื่อไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำลายปูที่เลี้ยงไว้
อาหาร ของที่ฟาร์มจะมีตารางการให้อาหารที่หลากหลายทั้งอาหารเม็ดไฮเกรด ปลาซิวปลาสร้อยสับเป็นชิ้นเล็กๆ โครงไก่ต้ม เพื่อเน้นโปรตีน และผลไม้สุกชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มะพร้าว ช่วยเพิ่มความหอมมัน รวมถึงกล้วย มะละกอ มะม่วง เนื่องจากการเลี้ยงในระบบฟาร์มจะเน้นให้โตเร็ว จึงจะเน้นโปรตีนจากเนื้อปลา รองลงมาเป็นโครงไก่ต้ม ช่วยสร้างแคลเซียม และผลไม้เสริมวิตามิน โดยให้อาหารคาวสลับกับผลไม้ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้น้ำเน่าเสียไว และเป็นการช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ให้กับปูในทุกๆ ด้าน
เลี้ยงนานเท่าไหร่จับขายได้ หลังจากฟักเป็นตัว ใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนจึงโตเต็มวัย เริ่มจากพ่อแม่พันธุ์ที่เพาะเลี้ยงเริ่มต้น ไม่ว่าพ่อแม่พันธุ์จะมีอายุ 4 เดือน 8 เดือน หรือ 1 ปีก็แล้วแต่ เมื่อนำเอามาเลี้ยงในระบบฟาร์มจะแบ่งการเพาะขยายพันธุ์ได้ 2 รอบ หรือ 1 ปี จะออกลูกได้ 2 ครั้ง ต่างจากปูนาที่จับตามธรรมชาติที่จะผสมพันธุ์และวางไข่เพียงปีละครั้ง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม
**ช่องทางสร้างรายได้จากปูนา
ที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง**
เจ้าของบอกว่า ปัจจุบันที่ฟาร์มมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูนาออกมาหลากหลาย ทั้งในรูปแบบอาหารคาว อาหารหวาน อาหารแห้ง รวมถึงเครื่องปรุงรส โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากตลาดขายพ่อแม่พันธุ์มาถึงจุดอิ่มตัวมีรายได้คงที่ จึงได้หาช่องทางอย่างอื่นมาเพิ่มรายได้ ซึ่งมีการคิดไตร่ตรองตกผลึกออกมาได้ว่าจะต้องทำในรูปแบบของการแปรรูป โดยเริ่มจากการศึกษาหาข้อมูลว่าปูนาที่เลี้ยงอยู่สามารถที่จะนำมาแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง และก็ได้คำตอบว่าปูนาสามารถนำมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายเมนู ซึ่งปัจจุบันที่ฟาร์มสามารถสร้างรายได้จากปูนาได้มากมายหลายช่องทางดังนี้
- การสร้างรายได้จากการขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ในช่วงวัยอายุ 4-6 เดือน ราคาคู่ละ 60 บาท หรือเรียกว่าเป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์ ลูกค้าจะนำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อ และช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี ขายเป็นพ่อแม่พันธุ์ ในราคาคู่ละ 100 บาท เพื่อเสิร์ฟตามความต้องการของลูกค้าที่มีหลากหลาย บางคนต้องการปูรุ่นไปขุนต่อ หรือบางคนต้องการพ่อแม่พันธุ์อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อจะให้ได้ลูกเยอะขึ้นก็แล้วแต่ความต้องการ
- การขายไอเดีย คือการรับออกแบบบ่อ จากประสบการณ์ที่ทดลองเลี้ยงเองมาหลายปีทำให้มีความชำนาญเกี่ยวกับการทำบ่อเลี้ยง ว่าบ่อเลี้ยงลักษณะแบบไหนจะทำให้ปูสามารถขยายพันธุ์ได้ดี มีอัตราการรอดสูง และทนทานต่อสภาพอากาศในทุกฤดู เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะมีผลกระทบที่ทำให้เกิดการสูญเสีย
- การสร้างเครือข่าย จะเป็นในรูปแบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงและรับซื้อคืน โดยมีเครือข่ายทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เช่น พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ หรือถ้าหากเกษตรกรคนไหนสามารถหาตลาดได้เอง ก็สามารถทำขายส่งตลาดประจำของตนเองได้เลย
- รูปแบบอาหารคาวและหวาน มีการนำปูนาทั้งของที่ฟาร์มและจากเครือข่ายมาแปรรูปทำอาหารสด เช่น หลนปูนา ปูทอด 3 รส ปูทอดสมุนไพร ปูดอง ขนมจีนน้ำยาปูนาที่ขายดีมาก และในส่วนของหวานจะเป็นขนมเทียนมันปูนา
- รูปแบบของน้ำพริก เช่น น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรก น้ำพริกมันปู น้ำพริกเผา โดยทั้งหมดนี้มีส่วนผสมหลักอย่างปูนาเข้าไปอยู่ในทุกเมนู
- รูปแบบเครื่องปรุง 1. น้ำปลาร้าปูนา มีจุดเด่นที่สามารถนำมาปรุงอาหาร ทำส้มตำได้ไม่ต้องหาซื้อปูนามาใส่เพิ่ม เพราะน้ำปลาร้าปูขวดนี้เป็นแบบทูอินวันมาให้แล้ว 2. ผลิตภัณฑ์น้ำปลาปูนา ที่มีขั้นตอนการแปรรูปเบื้องต้นดังนี้
ขั้นตอนการแปรรูปน้ำปลาปูนา ทำยังไงบ้าง
- เริ่มต้นจากการคัดเลือกปูนาแก่ที่มีอายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้แล้ว จะนำเอามาแปรรูปทำน้ำปลาทั้งหมด
- เมื่อคัดเลือกปูได้ลักษณะที่ต้องการแล้วนำไปล้างทำความสะอาด
- จากนั้นนำปูไปหมักเกลือทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน (ในอัตราปูนา 10 กิโลกรัม สามารถแปรรูปออกมาเป็นน้ำปลาได้ประมาณ 100 ขวด)
- นำปูไปต้ม แล้วปรุงรสด้วยหัวน้ำปลา เกลือ และน้ำตาล ตามสูตร โดยต้มจนกว่าจะมีน้ำสีดำ และกลิ่นหอมของปูออกมา
- จากนั้นนำมากรองเอาเฉพาะน้ำ แล้วทิ้งไว้ให้เย็น
- นำไปกรองอีกครั้งเพื่อให้ได้น้ำปลาปูนาใสๆ ออกมา
- นำไปบรรจุใส่ขวดบรรจุภัณฑ์ที่เตรียมไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีการทำจะคล้ายกับการทำน้ำปลาทั่วไป แต่จุดแข็งของเราอยู่ที่วัตถุดิบปูนาที่ใส่แบบเน้นๆ ทำให้ได้กลิ่นหอม และรสชาติที่ไม่เค็มมากจนเกินไป ได้รสชาติที่กลมกล่อม และเป็นการสร้างมูลค่าจากปูแก่จับขายได้กิโลกรัมละ 100-150 บาท แต่พอนำมาแปรรูปเป็นน้ำปลา พร้อมบรรจุภัณฑ์ก็สามารถกำหนดราคาขายได้เองในราคาขวดละ 30-35 บาท ขนาด 200 มิลลิลิตร ได้ผลตอบรับจากลูกค้าดีมาก บางคนถึงกับยอมขับรถมาจากที่ไกลๆ เพื่อมาซื้อน้ำปลาปูนาของเราโดยเฉพาะ
การสร้างรายได้ ต้องยอมรับว่ารายได้ของที่ฟาร์มลดลงเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จากเมื่อก่อนทำรายได้จากการเลี้ยงและแปรรูปปูนาไม่ต่ำกว่าเดือนละ 100,000 บาท ตอนนี้ลดลงเหลือเดือนละ 50,000-60,000 บาท แต่ก็ยังอยู่ได้แบบสบายๆ สินค้าสามารถขายออกได้เรื่อยๆ เพียงรอให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเท่านั้น
**ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่
การเลี้ยงและแปรรูปปูนา
ตลาดยังมีความต้องการสูง**
“จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานานสามารถบอกได้ว่าการเลี้ยงปูนาตลาดยังไปได้อีกไกล เพราะหากมองภาพรวมในประเทศไทยแล้วมีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เพาะเลี้ยงปูนาอย่างจริงจัง ผมจึงมองว่าตลาดยังไปได้อีกไกล เพราะว่าปูนาสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารการกินได้หลากหลาย ยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งใครมีปูก็เหมือนมีทองเลยครับ” พี่หนึ่ง กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดการเลี้ยงและแปรรูปปูนาเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 093-137-6916 หรือติดต่อผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก : นิตยา ฟาร์มปูนา ยินดีให้คำปรึกษา