ทั่วไป

จีนเปิดใช้ ‘ห้องแล็บใต้ดินลึกสุด-ใหญ่สุด’ ในโลก หนุนตรวจจับสสารมืด

Xinhua
อัพเดต 07 ธ.ค. 2566 เวลา 21.34 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2566 เวลา 14.27 น. • XinhuaThai

× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป

(แฟ้มภาพซินหัว : อุโมงค์ทางเข้าของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิงแห่งประเทศจีน แคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 8 พ.ย. 2023)
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เฉิงตู, 7 ธ.ค. (ซินหัว) — จีนเปิดใช้งานห้องปฏิบัติการทางฟิสิกส์ ซึ่งตั้งอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 2,400 เมตร ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ธ.ค.) โดยห้องปฏิบัติการแห่งนี้ถือเป็นห้องปฏิบัติการใต้ดินขนาดใหญ่ที่สุดและตั้งอยู่ลึกมากที่สุดในโลก

คณะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าห้องปฏิบัติการใต้ดินแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ “สะอาด” สำหรับการแสวงหาสสารที่มองไม่เห็นหรือ “สสารมืด” (dark matter) โดยการตั้งอยู่ลึกลงไปใต้ดินอย่างมากจะช่วยสกัดกั้นรังสีคอสมิกส่วนใหญ่ที่เป็นอุปสรรคต่อการสังเกตการณ์

รายงานระบุว่าห้องปฏิบัติการใต้ดินลึกและรังสีพื้นหลังต่ำพิเศษสำหรับการทดลองทางฟิสิกส์แนวหน้า (DURF) ตั้งอยู่ข้างใต้ภูเขาจิ่นผิง แคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ ของซื่อชวน มีความจุของห้องรวม 330,000 ลูกบาศก์เมตร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ห้องปฏิบัติการฯ จัดเป็นระยะที่ 2 ของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิงแห่งประเทศจีน เริ่มต้นก่อสร้างเดือนธันวาคม 2020 และร่วมสร้างโดยมหาวิทยาลัยชิงหัว และบริษัท ยาหลง ริเวอร์ ไฮโดรพาวเวอร์ เดเวลอปเมนต์ จำกัด

ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ลึกลงไปใต้ดินช่วยให้ห้องปฏิบัติการฯ สัมผัสกับรังสีคอสมิกในปริมาณเล็กน้อยมาก คิดเป็นหนึ่งร้อยในหนึ่งล้านของปริมาณการสัมผัสรังสีคอสมิกบนพื้นผิวโลก

(แฟ้มภาพซินหัว : ด้านในของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิงแห่งประเทศจีน แคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 7 พ.ย. 2023)
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เย่ว์เฉียน อาจารย์มหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าห้องปฏิบัติการฯ มีจุดเด่นหลายประการ ทั้งปริมาณรังสีคอสมิกต่ำพิเศษ รังสีในสิ่งแวดล้อมต่ำมาก ความเข้มข้นของเรดอนต่ำมาก และพื้นที่สะอาดพิเศษ ซึ่งเกื้อหนุนการตรวจจับสสารมืด

ทั้งนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์อนุมานว่าสสารที่มองเห็นได้คิดเป็นเพียงราวร้อยละ 5 ของจักรวาล ขณะสสารมืดและพลังงานมืดคิดเป็นราวร้อยละ 95 ของจักรวาล

ปัจจุบันคณะนักวิจัยทีมแรกจาก 10 ทีม ซึ่งมาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของจีน เช่น มหาวิทยาลัยชิงหัว และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวทง ได้ประจำการอยู่ในห้องปฏิบัติการฯ เพื่อดำเนินการทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้ว

เย่ว์กล่าวว่าห้องปฏิบัติการฯ จะเป็นศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ใต้ดินลึกสหวิทยาการระดับโลก ซึ่งบูรณาการสาขาวิชาต่างๆ ทั้งฟิสิกส์อนุภาค ฟิสิกส์ดาราศาสตร์นิวเคลียร์ และชีววิทยาศาสตร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การพัฒนาการวิจัยในสาขาแนวหน้าที่เกี่ยวข้องของจีน

อนึ่ง ระยะที่ 1 ของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิงแห่งประเทศจีนก่อสร้างเสร็จสิ้นและเปิดใช้งานเมื่อสิ้นปี 2010 มีความจุห้องราว 4,000 ลูกบาศก์เมตร และประสบผลสำเร็จทางวิทยาศาสตร์หลายรายการ ซึ่งยกระดับการทดลองตรวจจับสสารมืดของจีนสู่ระดับสูงบนเวทีโลก

(แฟ้มภาพซินหัว : ระยะที่ 1 ของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิงแห่งประเทศจีน แคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 7 พ.ย. 2023)
(แฟ้มภาพซินหัว : อุโมงค์ทางเข้าของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิงแห่งประเทศจีน แคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 8 พ.ย. 2023)
(แฟ้มภาพซินหัว : ทิวทัศน์ภูเขาจิ่นผิงอันเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิงแห่งประเทศจีน แคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 15 ก.ย. 2023)
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • pongpipat
    เขาเหลียงซาน ชื่อคุ้นๆ
    08 ธ.ค. 2566 เวลา 01.55 น.
ดูทั้งหมด