ทั่วไป

เถรวาท วาทะของพระเถระ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 11 ส.ค. 2566 เวลา 16.02 น. • เผยแพร่ 11 ส.ค. 2566 เวลา 15.48 น.

ก่อนหน้ารัฐอโยธยา ศาสนาในไทย “พุทธ-พราหมณ์-ผี” แต่เฉพาะพุทธเป็น “พุทธแบบทวารวดี” ที่ยังไม่พบคำนิยามอธิบาย ซึ่งมักเข้าใจกันรวมๆ ว่า “พุทธแบบทวารวดี” เน้นใช้ภาษาสันสกฤตปนภาษาบาลี

รัฐอโยธยารับเถรวาทจากลังกา เน้นใช้ภาษาบาลี โดยรับผ่านเมืองมอญและเมืองพุกาม ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางศาสนา-การเมือง ระหว่างอโยธยากับมอญและพุกาม พบร่องรอยหลักฐานในพงศาวดารเหนือ และศิลาจารึก เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เถรวาท คืออะไร?

นักปราชญ์ทางศาสนาอธิบายเรื่องเถรวาท จะขอคัดจากหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) [พิมพ์ครั้งที่ 11/2 พ.ศ.2551 หน้า 123, 305-306, 469-470] ดังนี้

เถรวาท “วาทะของพระเถระ” (หมายถึงพระเถระผู้รักษาธรรมวินัยนับแต่ปฐมสังคายนา),

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พระพุทธศาสนาที่สืบมาแต่ยุคแรกสุด ซึ่งถือตามหลักธรรมวินัยที่พระอรหันตเถระ 500 รูป ได้ประชุมทำสังคายนาครั้งแรกรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าวางเป็นแบบแผนไว้เมื่อ 3 เดือนหลังพุทธปรินิพพาน ได้แก่พระพุทธศาสนาอย่างที่นับถือแพร่หลายในประเทศไทย พม่า ลังกา ลาว และกัมพูชา

บางทีเรียกว่าพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม และเพราะเหตุที่แพร่หลายอยู่ในดินแดนแถบใต้ จึงเรียกว่าทักษิณนิกาย (นิกายฝ่ายใต้)

หินยาน, หีนยาน “ยานเลว”, “ยานที่ด้อย” (คำเดิมในภาษาบาลีและสันสกฤต เป็น “หีนยาน”; ในภาษาไทย นิยมเขียน “หินยาน”)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เป็นคำที่นิกายพุทธศาสนาซึ่งเกิดภายหลัง เมื่อประมาณ พ.ศ.500-600 คิดขึ้น โดยเรียกตนเองว่า มหายาน (ยานพาหนะใหญ่มีคุณภาพดีที่จะช่วยขนพาสัตว์ออกไปจากสังสารวัฏได้มากมายและอย่างได้ผลดี) แล้วเรียกพระพุทธศาสนาแบบอื่นที่มีอยู่ก่อนรวมกันไปว่าหีนยาน (ยานพาหนะต่ำต้อยด้อยคุณภาพที่ขนพาสัตว์ออกไปจากสังสารวัฏได้น้อยและด้อยผล)

พุทธศาสนาแบบเถรวาท (อย่างที่บัดนี้นับถือกันอยู่ในไทย พม่า ลังกา เป็นต้น) ก็ถูกเรียกรวมไว้ในชื่อว่าเป็นนิกายหินยานด้วย

ปัจจุบัน พุทธศาสนาหินยานที่เป็นนิกายย่อยๆ ทั้งหลายได้สูญสิ้นไปหมด (ตัวอย่างนิกายย่อยหนึ่งของหินยานที่เคยเด่นในอดีตบางสมัย คือ สรวาสติวาท หรือเรียกแบบบาลีว่า สัพพัตถิกวาท แต่ก็สูญไปนานแล้ว) เหลือแต่เถรวาทอย่างเดียว เมื่อพูดถึงหินยานจึงหมายถึงเถรวาท จนคนทั่วไปมักเข้าใจว่าหินยานกับเถรวาทมีความหมายเป็นอันเดียวกัน บางทีจึงถือว่าหินยานกับเถรวาทเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ แต่เมื่อคนรู้เข้าใจเรื่องราวดีขึ้น บัดนี้จึงนิยมเรียกว่า เถรวาท ไม่เรียกว่า หินยาน

เนื่องจากคำว่า “มหายาน” และ “หินยาน” เกิดขึ้นในยุคที่พุทธศาสนาแบบเดิมเลือนรางไปจากชมพูทวีป หลังพุทธกาลนานถึง 5-6 ศตวรรษ คำทั้งสองนี้จึงไม่มีในคัมภีร์บาลีแม้แต่รุ่นหลัง ในชั้นฎีกาและอนุฎีกา, ปัจจุบัน ขณะที่นิกายย่อยของหินยานหมดไป เหลือเพียงเถรวาทอย่างเดียว แต่มหายานกลับแตกแยกเป็นนิกายย่อยเพิ่มขึ้นมากมาย บางนิกายย่อยถึงกับไม่ยอมรับที่ได้ถูกจัดเป็นมหายาน แต่ถือตนว่าเป็นนิกายใหญ่อีกนิกายหนึ่งต่างหาก คือ พุทธศาสนาแบบทิเบต ซึ่งเรียกตนว่าเป็นวัชรยาน และถือตนว่าประเสริฐเลิศกว่ามหายาน

ถ้ายอมรับคำว่ามหายานและหินยาน แล้วเทียบจำนวนรวมของศาสนิก ตามตัวเลขในปี 2548 ว่ามีพุทธศาสนิกชนทั่วโลก 378 ล้านคน แบ่งเป็นมหายาน 56% เป็นหินยาน 38% (วัชรยานนับต่างหากจากมหายานเป็น 6%)

แต่ถ้าเทียบระหว่างประดานิกายย่อยของสองยานนั้น (ไม่นับประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีตัวเลขไม่ชัด) ปรากฏว่าเถรวาทเป็นนิกายที่ใหญ่มีผู้นับถือมากที่สุด; บางทีเรียกมหายานว่า อุตรนิกาย เพราะมีศาสนิกส่วนใหญ่อยู่ในแถบเหนือของทวีปเอเชีย และเรียกหินว่า ทักษิณนิกาย เพราะมีศาสนิกส่วนใหญ่อยู่ในแถบใต้ของทวีปเอเชีย

มหายาน “ยานใหญ่”, นิกายพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 500-600 ปี โดยสืบสายจากนิกายที่แตกแยกออกไปเมื่อใกล้ พ.ศ.100 (ถือกันว่าสืบต่อไปจากนิกายมหาสังฆิกะที่สูญไปแล้ว)

เรียกชื่อตนว่ามหายาน และบางทีเรียกว่าโพธิสัตวยาน (ยานของพระโพธิสัตว์) พร้อมทั้งเรียกพระพุทธศาสนาแบบเก่าๆ รวมทั้งเถรวาทที่มีอยู่ก่อนว่า หีนยาน (คำว่าหีนยาน จึงเป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ใช้เรียกสิ่งที่เก่ากว่า) หรือเรียกว่าสาวกยาน (ยานของสาวก),

มหายานนั้นมีผู้นับถือมากในประเทศแถบเหนือของทวีปเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทิเบต และมองโกเลีย บางทีจึงเรียกว่า อุตรนิกาย (นิกายฝ่ายเหนือ) เป็นคู่กับ ทักษิณนิกาย (นิกายฝ่ายใต้) คือ เถรวาท ที่นับถืออยู่ในประเทศแถบใต้ เช่น ไทยและลังกา ซึ่งทางฝ่ายมหายานเรียกรวมไว้ในคำว่าหีนยาน,

เนื่องจากเถรวาท เป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม จึงมีคำเก่าเข้าคู่กันอันใช้เรียกนิกายทั้งหลายที่แยกออกไป รวมทั้งนิกายย่อยมากมายของมหายาน หรือเรียกมหายานรวมๆ ไปว่า อาจริยวาท หรือ อาจารยวาท (ลัทธิของอาจารย์ ที่เป็นเจ้านิกายนั้นๆ),

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสังเกต คือ

เถรวาท ไม่ว่าที่ไหน ในประเทศใด ก็ถือตามหลักการเดิมเหมือนกันหมด

ส่วนมหายาน แยกเป็นนิกายย่อยมากมาย มีคำสอนและข้อปฏิบัติแตกต่างกันเองไกลกันมาก แม้แต่ในประเทศเดียวกัน เช่น ในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีนิกายใหญ่ 5 แยกย่อยออกไปอีกราว 200 สาขานิกาย และในญี่ปุ่นพระมีครอบครัวได้แล้วทุกนิกาย แต่ในไต้หวัน เป็นต้น พระมหายานไม่มีครอบครัว

เถรวาทไทย

เถรวาทไทย รับนิยาม “วาทะของพระเถระ” แล้วดัดแปลงให้หมายถึงวาทะของครูบาอาจารย์

ระบบการศึกษาสมัยใหม่ของไทย รับแนวคิดจากเถรวาทไทย ใช้ชื่อ “กระทรวงธรรมการ” (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระทรวงศึกษาธิการ) แต่ปรับเป็นคำสอนของครูบาอาจารย์ ห้ามคิดต่าง เพราะถือเป็นถูกต้อง “ยุติ” แล้ว นักเรียนนักศึกษามีหน้าที่ “ท่อง” และ “จำ” เป็นต้นตอของ “ท่องอาขยาน”

นักเรียนนักศึกษาที่คิดต่างจะถูกประณามว่า “แหกคอก”, “นอกครู” หนักข้อสุดคือ “ลูกศิษย์คิดล้างครู”

ในโลกสากล ครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาคิดต่าง แล้วหนักข้อกว่านั้นให้ “ขบถ” ต่อข้อมูลความรู้กระแสหลักอย่างมีข้อมูลใหม่แข็งแรง •

ดูข่าวต้นฉบับ