เทศกาลฮาโลวีนเพิ่งผ่านพ้นไป
หลายคนอวดไอเดียการแต่งกายซึ่งเป็นไฮไลต์ของเทศกาลกันอย่างสุดเหวี่ยง แม้ในเงื่อนไขของการ 'เว้นระยะห่าง' ยุคโควิด-19 แต่เหล่าคนดังต่างก็งัดคอสตูมฮาโลวีนออกมาสวมใส่แบบจัดเต็ม เรียกว่าเป็นการคืนความสุขให้ทีมหน้าจออย่างเราได้พอชุ่มชื่นหัวใจ
แต่ในความสนุกก็ดันมี 'ดรามา' เกิดขึ้นเสียได้ เมื่อคอสตูมฮาโลวีนของบางคนทำให้คนบางกลุ่มไม่พอใจ และไม่ใช่แค่ปีนี้ เพราะประเด็น 'คอสตูมขัดใจ' นั้นเกิดขึ้นแทบจะทุกปี โดยเฉพาะในหมู่คนดังที่อยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลต์ด้วยแล้ว การแสดงออกของพวกเขาเหล่านั้นจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ
LINE TODAY ขอชวนคุณผู้อ่านเปิดตู้สำรวจคอสตูมฮาโลวีนที่ควรหลีกเลี่ยง ที่นอกจากจะขัดใจผู้พบเห็นแล้ว บางชุดยังขัดต่อศีลธรรมอันดี ไปจนถึงกระทบกระเทือนจิตใจผู้อื่น แทนที่ใส่แล้วจะปัง กลับเป็นคอสตูมชวนกร่อย หากเห็นบ่อยๆ อาจเกิด 'ดรามา' ขึ้นได้!
แต่งเป็นโควิด-19
เจ้าโควิด-19 น่าจะเป็นวายร้ายที่คนทั้งโลกเกลียดชังมากที่สุด เป็นโศกนาฏกรรมแท้จริงที่คร่าชีวิตผู้คนกว่าล้านคนในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี และเมื่อโควิดเป็น 'ตัวร้าย' สำหรับใครหลายๆ คนที่พรากชีวิตผู้คนที่เขารักไป การนำโควิดมาเป็นคอสตูมในงานปาร์ตี้ก็ดูจะเป็นตลกร้ายที่บางคนขำไม่ออกอยู่เหมือนกัน
แต่งเป็น 'คนดำ'
หยุดเดี๋ยวนี้! การแต่งหน้าทาผิวให้ดูเหมือนเป็นคนชนชาติอื่นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เช่นกันกับการแต่งกายที่แสดงถึงการเป็นคนชนชาติอื่น เช่น แต่งเป็นแรพเปอร์ผิวสี หรือแต่งเป็นตัวละครผิวดำ ดรามานี้คนดังหลายคนเคยพลาดมาแล้ว หนึ่งในนั้นคือ จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่เจ้าตัวเคยออกมาขอโทษ และยอมรับผิดต่อการกระทำในอดีตของตนเอง
แต่งเป็นคนข้ามเพศ
เคยมีประเด็นรุนแรงเกิดขึ้นที่ห้างวอลมาร์ท (Walmart) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อทางห้างออกชุดคอสตูมชื่อ 'คุณยายข้ามเพศ' (เป็นการเล่นคำว่า Tranny Granny โดยใช้คำว่า Tranny ที่มาจากคำว่า Transgender ที่แปลว่า กลุ่มคนข้ามเพศ มาผสมกับคำว่า Granny ที่แปลว่าคุณยาย) ก็เกิดเป็นประเด็นความไม่พอใจเกิดขึ้น เพราะคอสตูมดังกล่าวทั้งล้อเลียนเหล่าบุคคลข้ามเพศ ทั้งยังใช้คำที่อาจแสดงถึงการเหยียดเพศอีกด้วย
การแต่งกายล้อเลียนเพศสภาพของผู้อื่นย่อมไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก กลุ่มผุ้มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่ 'ตัวตลก' และการถูกล้อเลียนก็ไม่เคยตลกเช่นกัน
แต่งเป็นผู้ก่อการร้าย
หลายครั้งที่เราหลงลืมว่าเรื่องบางอย่างนั้นร้ายแรงเพียงเพราะเราไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์นั้น การก่อการร้ายก็เช่นกัน คอสตูมผู้ก่อการร้ายอย่าง โอซามา บิน ลาเดน หรือสมาชิกกลุ่ม ISIS เคยถูกคนบางกลุ่มนำมาสวมใส่เป็นเรื่องสนุก ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ยากจะให้อภัย เปรียบได้กับการนำเอาโศกนาฏกรรมมาล้อเล่น ซึ่งก็ไม่ตลกเลยสักนิดเดียว
แต่งเป็นอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่มีคนดังจำนวนมากที่มีดรามาเพราะเคยแต่งเป็น 'นาซี' ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย การใช้สัญลักษณ์ 'สวัสติกะ' หรือการแต่งเป็นฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการต้นเหตุของหนึ่งในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายที่สุดในโลก ต่างก็เลวร้ายไม่แพ้กัน
ไม่เพียงเท่านั้น การแต่งเป็นเหยื่อก็เลวร้ายไม่แพ้กัน ดรามาบังเกิดเมื่อร้านค้าหลายร้านออกคอลเล็กชันคอสตูม 'แอนน์ แฟรงก์' (Anne Frank) เด็กผู้หญิงชาวยิวที่บันทึกเหตุการณ์เมื่อเธอซ่อนตัวจากเหล่าทหารนาซี แต่สุดท้ายก็ถูกจับไปที่ค่ายกักกันและเสียชีวิตที่นั่น เหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของคอสตูมดังกล่าว แต่หลายร้านก็ยังดันทุรังขายต่อ พร้อมปรับคอสตูมดังกล่าวให้กลายเป็นชุดปาร์ตี้ของเด็กผู้หญิงยุคสงครามโลกแทน ซึ่งจนแล้วจนรอดเราก็ยังไม่เข้าใจว่าการแต่งเป็นคนยุคสงครามมันน่าสนุกตรงไหน
แต่งเป็นผู้ป่วยทางจิต
โรคทางจิตเภทอย่างโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์ ถูกนำมาพูดถึงอย่างจริงจังในสังคมยุคปัจจุบัน การไปพบจิตแพทย์เพื่อหาทางรักษาไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ถึงกระนั้นเรายังเห็นการเหมารวมว่าผู้ป่วยจิตเภทเป็น 'คนเสียสติ' อยู่ทั่วไปตามสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งยังมีชุดผู้ป่วยวางขายเป็นคอสตูมเพื่อความสนุกสนาน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงผู้ป่วยทางจิตนั้นไม่ได้มีแค่ในละคร และการแต่งกายเลียนแบบผู้ป่วยนั้น ย่อมต้องสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยจริงๆ ที่ไม่ได้มองความเจ็บป่วยเป็นเรื่องตลกเลย
แต่งเป็นบุคคลสำคัญทางศาสนา
เพิ่งเป็นประเด็นดรามาไปหมาดๆ เมื่อเน็ตไอดอลสาวไทยแต่งกายเป็น 'พระ' ในเทศกาลฮาโลวีน นำมาซึ่งการถกเถียงของคนในสังคมถึงความเหมาะสมของพฤติกรรมดังกล่าว
ไม่ใช่แค่ที่ไทย แต่ที่สหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน จากผลสำรวจ OnePoll Survey ที่สอบถามผู้ปกครองกว่า 2,000 ครอบครัวว่าคอสตูมฮาโลวีนชุดใดที่เห็นว่าไม่เหมาะสม และสมควรถูกสั่งห้ามขาย
ปรากฏว่าผลสำรวจอันดับสุดท้ายคืออันดับที่ 10 โดยมีคะแนนเสียง 18% ตอบว่าเป็น 'ชุดเกี่ยวกับศาสนา' เหตุผลเพราะเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวเกินไป และยินดีจะให้ลูกๆ สวมใส่ชุดของตัวละครจากหนังสือหรือภาพยนตร์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม หากจะสวมใส่ชุดโดยอิงจากศาสนาและความเชื่อ ก็ควรทำด้วยความเคารพ ไม่ทำเพื่อล้อเลียนศาสนาที่คุณไม่ได้ศรัทธา โดยดรามาที่เคยเกิดกับคนดังมาแล้วคือกรณี เฮดี้ คลุม (Heidi Klum) ที่เคยแต่งเป็นเจ้าแม่กาลี จนโดนทัวร์ลงยับมาแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแต่งกายในชุดคอสตูมเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของเจ้าของคอสตูม ยิ่งแปลกยิ่งปัง ยิ่งครีเอทีฟ ยิ่งดี แต่ในเมื่อชุดบางชุดแสดงออกถึงทัศนคติของผู้สวมใส่ การเลือกสรรชุดที่ปลอดอคติและเป็นมิตร น่าจะเป็นทางออกที่หลีกเลี่ยง 'ดรามา' ได้ดีที่สุด
อ้างอิง
ปลาเงิน ผีในตัวละครมีตั้งเยอะตั้งแยะ ไม่ไปแต่งกัน ไปแต่งแบบที่หมิ่นเหม่มันก็แบบนี้แหละ คิดว่าจะดัง ดันกลายเป็นดับซะงั้น
04 พ.ย. 2564 เวลา 00.59 น.
ด.น. ญาติเราอยู่ศรีธัญญา ได้ยินหรือเห็นคุณเป๊กกี้ทีไร
...อนาจใจมาก เอาชื่อมาทำเป็นตลก ทุเรศจริงๆ 😔
04 พ.ย. 2564 เวลา 01.08 น.
บุญชัย คนเรามีโอกาสพลาดได้ บอกก่อนแต่งมันไม่ "เซอร์ไพรส์" ผลลัพธ์มี2อย่าง "ดังระเบิด" หรือ ดับอนาจ" ก็ต้องยอมรับสิ่งที่จะตามมา ยิ่งแถยิ่งเละ
04 พ.ย. 2564 เวลา 00.33 น.
หนึ่ง คนเราถ้ามีจิตสำนึกที่ดี ก็ย่อมที่จะรู้ถึงในสิ่งควรจะทำ ว่าสิ่งใดมันเหมาะสมหรือว่าสมควรหรือไม่.
04 พ.ย. 2564 เวลา 06.27 น.
KomsitDeeying 555 วันฮาโลวีน ไม่ใช่กิจกรรมของเราชาวสยาม ครับ แต่สามารถ อ้างวันเหล่านี้ในการทำมาหากินได้ครับ
04 พ.ย. 2564 เวลา 13.59 น.
ดูทั้งหมด