ไลฟ์สไตล์

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี-นักการศึกษาคนสำคัญ ตำหนิไม้เรียว-ผู้ใช้ไม้เรียว

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 22 เม.ย. เวลา 07.49 น. • เผยแพร่ 28 ธ.ค. 2565 เวลา 04.13 น.
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

คำพูดที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เป็นเสมือนแนวทางที่ในการอบรมเด็กที่ “ผู้ใหญ่” ในบ้าน ในเมืองของไทยเชื่อถือ และปฏิบัติสืบกันมา เครื่องมือที่ใช้ทำโทษอย่าง “ไม้เรียว” ก็ได้รับการยกย่องว่ามีส่วนช่วยสร้างคน เพราะทำให้จดจำได้ว่า สิ่งใดควรทำไม่ควรทำ

หากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ ครูเทพ กลับเห็นต่างออกไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (พ.ศ. 2419-2486) ชื่อเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เจ้าของนามปากกา “ครูเทพ” ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวงการศึกษา ที่เคยเป็นทั้งครูสอนหนังสือ เป็นผู้บริหารในตำแหน่งต่างๆ เช่น เจ้ากรมแบบเรียน, เสนาบดีกระทรวงธรรมการ, รัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ, ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ และยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเล่นฟุตบอลในโรงเรียนต่างๆ โดยเริ่มจากโรงเรียนฝึกหัดครู, ริเริ่มการอาชีวศึกษา ฯลฯ

เมื่อ พ.ศ. 2477 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแต่งกลอนชื่อว่า “ไม้เรียว” เพื่อนำเสนอมุมมองในการใช้ไม้เรียว ว่า “ให้โทษมากกว่าคุณ” ด้านผู้ใช้ไม้เรียวส่วนใหญ่มักมีโทสจริต ใช้อำนาจประหนึ่งศาลเตี้ย ทั้งยืนยันว่าการเฆี่ยนตี “เป็นยาพิษมิให้ใช้บำรุง” ดังกลอนบางส่วนที่ยกมานี้

ให้เหตุผลครอบงำย่อมทำได้ เด็ก ผู้ใหญ่ ครูศิษย์ ไม่ผิดที่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อบรมด้วยเหตุผลได้คนดี น้ำรักมีเมตตาเป็นยาพอ

เก็บไม้เรียวห่อไว้ในตู้เหล็ก สำหรับเด็กเกกมะเหรกและเหลือขอ

ทารกอ่อนเชาวน์ไวใช้ลูกยอ แล้วหุ้มห่อด้วยรักจักมีชัย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ครูเป็นผู้เพ่งจิตตวิทยา ใช้วิชาด้วยวิธีที่แจ่มใส

เพื่อศิษย์ล้วนร่าเริงบันเทิงใจ ได้เจริญเชาวน์ไวในชีวิต

การเฆี่ยนตีเป็นวิธีทำลายขวัญ โทษมหันต์ คุณมีกะจี้หริด

ห้ามก้าวหน้าพาหู่อยู่เป็นนิตย์ เป็นยาพิษมิให้ใช้บำรุง

ผู้เฆี่ยนตีโดยมากไม่อยากคิด โทสจริตครอบงำทำให้ยุ่ง

มีอำนาจก็จะใช้ไม่ปรับปรุง ตั้งศาลเตี้ยตามมุ่งแต่ใจตน

เหตุฉะนั้นการตีมีแต่ห้าม ไม่ต้องตามยุยงส่งเสริมผล

ก็สงครามใครตามไปปรือปรน มีแต่คนคอยห้ามสงครามไว้

โบราณว่าเสียดายไม้เป็นภัยแก่ ยุวชนนั้นแน่หรือไฉน?

เดี๋ยวนี้โลกเจริญมากหากเปลี่ยนไป เป็นขอให้เสียดายพร้อมออมไม้เรียว

อารยชนไม่ชอบหวาย, ฉันใด ลูกของเขาไม่ชอบไม้หวดเควี้ยวๆ

อันนี้เป็นเช่นกันฉันนั้นเทียว พึงเฉลียวเลือกใช้ให้ชอบ เทอญฯ

[สั่งเน้นข้อความโดยผู้เขียน]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลจาก :

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2565

ชลธิรา สัตยาวัฒนา. ครูเทพ, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 1 2526

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี-นักการศึกษาคนสำคัญ ตำหนิไม้เรียว-ผู้ใช้ไม้เรียว

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ