ไลฟ์สไตล์

กำเนิด "เสรีไทยสายนิสิตจุฬาฯ" หน่วยอาสากว่า 300 คน ทำเพื่อเอกราช-อธิปไตยไทย

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 25 มี.ค. 2565 เวลา 14.57 น. • เผยแพร่ 25 มี.ค. 2565 เวลา 14.57 น.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่มีการศึกษาตามแบบตะวันตกเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

ในห้วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 เนื่องด้วยกำลังทหารที่มีจำกัดและเหตุปัจจัยอื่นๆ รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงตอบรับตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านและประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ แนวทางนี้ย่อมไม่เป็นที่เห็นด้วยจากหลายฝ่าย จึงเกิดการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า“เสรีไทย”

ขบวนการ “เสรีไทย” นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและรัฐบุรุษอาวุโส เป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา และ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ เป็นหัวหน้าเสรีไทยในอังกฤษ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บทความ “อนุสรณ์สถานกับความทรงจำ : นร.สห. 2488 เสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (นร.สห. ย่อมาจาก “นักเรียนสารวัตรทหาร”) โดยกำพล จำปาพันธ์ เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2560 อธิบายถึงบทบาทของเสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มต้นช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2488 ท่ามกลางสถานการณ์สงครามคุกรุ่น

ในช่วงเวลานั้น หลายฝ่ายไม่ได้มองว่าสงครามจะยุติลงในปีดังกล่าว พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ นายทหารสารวัตรใหญ่ที่เข้าร่วมเสรีไทย เข้าปรึกษาหารือกับนายปรีดี พนมยงค์ ว่าขบวนการเสรีไทยต้องมีหน่วยทหารลับพร้อมรบแบบสงครามกองโจร (Gurrilla War-fare) ทั้งการรบในป่า การรบในเมือง การใช้อาวุธทันสมัย การทำลายด้วยดินระเบิด มีระเบียบวินัยแบบทหาร และสามารถใช้อาวุธที่ฝ่ายพันธมิตรส่งมาให้ทางอากาศ ไม่ใช่เพียงประชาชนทั่วไปใครก็ได้ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกวิชาทหาร เพื่อใช้ดำเนินงานผลักดันฐานทัพญี่ปุ่นออกไปจากประเทศไทย จากความเชื่อว่า จำต้องเปิดสงครามสู้รบขั้นแตกหัก

จุฬาฯ ในเวลานั้นปิดการเรียนการสอนเพราะภัยสงคราม พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ มองว่า นิสิตชายจุฬาฯ พร้อมและเหมาะสมเข้ารับการฝึก เนื่องจากเป็นยุวชนทหาร ผ่านการฝึกวิชาทหารมาบ้างแล้วตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา เมื่อได้ไฟเขียวจากนายปรีดีแล้ว พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ จึงเข้าพบหม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอธิการบดีจุฬาฯ อนุญาตให้นิสิตไปช่วยราชการคับขันได้ แต่ให้เป็นความสมัครใจ ไม่เป็นการบังคับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การประชุมนิสิตชายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2488 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการส่งสัญญาณกันภายในโดยกระซิบบอกต่อๆ กัน ผู้เข้าร่วมประชุมราว 300-400 คน กำพล จำปาพันธ์ อธิบายไว้ว่า

“นิสิตตัดสินสมัครเข้าร่วมจำนวนมากถึง 300 กว่าคน ทั้งหมดเป็นคนหนุ่มอายุราว 18-23 ปี หลังจากตรวจโรคเสร็จแล้ว มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 298 คน แบ่งเป็น 2 หน่วย คือ หน่วยรบ 273 คน และหน่วยสื่อสาร 25 คน หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ยังได้ให้การสนับสนุนแก่นิสิต โดยอนุมัติเงินรายได้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมทบจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่นิสิตในระหว่างไปปฏิบัติราชการลับนี้ด้วย”

ในการจัดเตรียมพลนิสิตจุฬาฯ ภายใต้ “โรงเรียนนายทหารสารวัตร” นั้น กำพล จำปาพันธ์ อธิบายไว้ว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“โรงเรียนนายทหารสารวัตรได้เปิดเรียนเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2488 ในชั้นแรกโรงเรียนนายทหารสารวัตรก็ร่ำเรียนเหมือนอย่างโรงเรียนนายร้อย แต่มีหลักสูตรรวบรัดเพียง 1 ปี มีการสอนการบรรยายในห้องเรียน การฝึกเช้าเย็นเมื่อเรียนผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ก็จัดให้ไปเป็นผู้ฝึกสอนแก่เสรีไทยกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มนายสิบ สห. ที่มาจากนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จำนวนกว่า 397 คน (ภายหลังทั้ง 3 กลุ่มได้รวมตัวกันเป็น “สมาคมเตรียม ธรรมศาสตร์ จุฬา อาสาศึก” เพราะมีความสนิทสนมกันมาแต่สมัยสงคราม)[9]

การเปิดโรงเรียนนายทหารสารวัตรในครั้งนั้น ใช่ว่าจะรอดพ้นสายตาความสังเกตของฝ่ายญี่ปุ่น นายพล นากามูระ (พลโท นากามูระ อาเกโตะ) แม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้จับตาดูโรงเรียนแห่งนี้อย่างใกล้ชิด แต่ นายปรีดี พนมยงค์ นายทวี บุณยเกตุ และ พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ก็ได้อาศัยสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับญี่ปุ่น จัดทำแผน “ลับ ลวง พราง” ตบตาญี่ปุ่นหลายรูปแบบเป็นต้นว่าได้มีการเข้าพบและพูดคุยอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีหน่วยทหารสารวัตร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระหว่างสงคราม และเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อแม่ทัพญี่ปุ่น ได้มีการเชิญ “หน่วยงิ” ของญี่ปุ่น[10] ให้มาถ่ายทำสารคดีไปเผยแพร่ว่า ไทยกับญี่ปุ่นร่วมวงศ์ไพบูลย์เดียวกันอย่างเหนียวแน่นอีกด้วย[11] ดังนั้นถึงแม้ว่า นายพล นากามูระจะสงสัยระแคะระคายเกี่ยวกับโรงเรียนนี้อยู่มาก แต่ก็ไม่อาจสั่งปิดโรงเรียนนี้ได้

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2488 พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ได้ทยอยส่งนักเรียนนายทหารสารวัตรทั้ง 298 นาย ไปยังค่ายสวนลดาพันธุ์ ตั้งอยู่ที่วัดเขาบางทราย อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี โดยอ้างว่าเพื่อไปฝึกภาคสนามสร้างความชำนาญ แต่ที่จริงค่ายสวนลดาพันธุ์หรือค่ายวัดเขาบางทราย ได้เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว โดยมีอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ทิ้งร่มลงมาไว้ให้ที่บ้านมาบตาพุด จังหวัดระยอง (สมัยนั้นยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงเป็นป่าหนาทึบอยู่) ถูกลำเลียงมาเก็บไว้ที่ค่ายวัดบางทราย เพื่อรอนักเรียนนายทหารสารวัตรอยู่ก่อนแล้ว[12]

นอกจากนี้ยังมีนายทหารอเมริกันหลายนายโดดร่มลงมาอยู่ที่ค่ายนี้โดยมี “พันตรี ฟรานซิส” เป็นหัวหน้า เมื่อนักเรียนนายทหารสารวัตร 298 นายมาถึงค่ายแล้ว การฝึกรบต่อต้านญี่ปุ่นจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง มีการแยกกำลังออกเป็นหน่วยย่อยๆ มีครูฝึกทหารอเมริกันรับผิดชอบควบคุมทุกๆ หน่วย มีการสอนใช้อาวุธทันสมัย ตลอดจนยุทธวิธีการรบโดย พันตรี ฟรานซิสอำนวยการสอนด้วยตัวเอง จนถึงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงคราม แต่การฝึกของนักเรียนนายทหารสารวัตรยังคงดำเนินต่อมาจนจบหลักสูตรในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 และได้เข้าร่วมพิธีการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488[13]

สงครามยุติแล้วก็จริง แต่สงครามก็ได้ทิ้งความวุ่นวายเหลวแหลกเอาไว้ให้ กล่าวกันว่าทหารญี่ปุ่นบางหน่วยดื้อแพ่งไม่ยอมแพ้ตามพระราชโองการของพระจักรพรรดิ โจรผู้ร้ายชุกชุมทั่วประเทศ ชาวจีนส่วนหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ก่อเหตุจลาจลยิงกันกลางเมืองหลวง นักเรียนนายทหารสารวัตรที่เตรียมไว้รบกับญี่ปุ่น ก็เลยถูกส่งมารบปราบปรามคนจีนที่ก่อความวุ่นวายนี้แทน โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ใช้ชื่อว่า “สารวัตรทหารตำรวจผสม” (สห.-ตร.-ผสม)[14]

บางส่วนก็ทำหน้าที่ประสานงานกับทหารสหประชาชาติที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย การปราบปรามดำเนินไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2488 เหตุการณ์จึงสงบ นักเรียนนายทหารสารวัตรทั้งหมดจึงได้กลับเข้ากรมกอง และในวันที่ 1 ธันวาคม 2488 นักเรียนนายทหารสารวัตรก็ได้รับพระราชทานยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ทำพิธีประดับยศ ณ กรมสารวัตรทหาร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2488[15] หลังจากนั้นนักเรียนทหารสารวัตรกลุ่มนี้ก็ได้สลายตัว บางส่วนกลับเข้าศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางส่วนสมัครเข้ารับราชการเป็นตำรวจ อีกส่วนเข้ารับราชการกรมศุลกากร และบางคนก็หันไปประกอบอาชีพส่วนตัว[16]”

ภายหลังจากนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหนังสือที่ ทม.0301/1670 ลงวันที่ 30 เมษายน 2534 อนุมัติให้ใช้สถานที่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488[17]

กำพล จำปาพันธ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างอนุสรณ์สถานว่า

“วัตถุประสงค์สำคัญของการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 จากเอกสารระบุไว้ว่าเพื่อ “เป็นกุญแจไขประวัติศาสตร์ให้คนทั่วไปทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานเสรีไทย”[20] ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าปัญหาความรับรู้ที่มีต่อขบวนการเสรีไทยในการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงทศวรรษ 2500 ถูกมองว่าสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะราษฎรสายพลเรือนอันมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำ ในการต่อต้านลัทธิเผด็จการทหารนิยมของฝ่าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม[21]

เมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 โดยกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับคณะราษฎรและเสรีไทยได้รื้อฟื้นกรณีสวรรคตมาโจมตีฝ่ายปรีดี ปรีดีกับพวกได้พยายามตอบโต้และแย่งชิงอำนาจคืนมาในเหตุการณ์กบฏวังหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492[22] โดยมีกำลังฝ่ายเสรีไทยและกองพันนาวิกโยธินทหารเรือของ พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ เป็นผู้สนับสนุน แต่เพราะขาดการประสานงานที่ดี อีกทั้ง พล.ร.ท. สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือไม่ได้ให้การสนับสนุน การก่อรัฐประหารครั้งนี้จึงล้มเหลว ส่งผลทำให้ขบวนการเสรีไทยถูกกวาดล้างอย่างหนักจากฝั่งรัฐบาล[23]

จากวีรบุรุษสงครามก็มาถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายในการเมืองไทย หลายคนจึงปกปิดตัวตนและความเกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทย จนเมื่อเวลาล่วงเลยมา สถานการณ์การเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คลี่คลายและผ่านพ้นไปแล้ว จึงได้มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นเรื่องราวของเสรีไทยขึ้นมาใหม่ แรกเริ่มเดิมทีแนวคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 ขึ้นในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ นร.สห. 2488 ว่า พล.ต.ต. หม่อมราชวงศ์ยงสุข กมลาสน์ ประธานชมรม นร.สห. 2488 ได้เสนอไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2502[24] แต่มาบรรลุผลใน พ.ศ. 2534 ช่วงที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณมาลา เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำหนังสือที่ระลึกควบคู่กับการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห.2488 จึงปรากฏความพยายามที่จะตอบโต้และลบล้างข้อหาบิดเบือนต่างๆ ต่อขบวนการเสรีไทยอันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมือง…”

อนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 มี ร.ต. อภัย ผะเดิมชิต เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2538 บริเวณนี้นิสิตจุฬาฯ นิยมเรียกกันว่า “ลานหิน” เป็นพื้นที่ซึ่งนิสิตมักใช้นั่งเล่นหรือทำกิจกรรมกันแบบประปราย ชื่ออย่างเป็นทางการของสถานที่นี้คือ “อนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488” 

*หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งและเรียบเรียงใหม่จากบทความ “อนุสรณ์สถานกับความทรงจำ : นร.สห. 2488 เสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2560*

เชิงอรรถ :

[9]อนุสรณ์ นร.สห. 2488, น. 23.

[10] ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นขึ้นบกที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 และรัฐบาลไทยได้ทำความตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย โดยทำ “สนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” แล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2484 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผสมขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ติดต่อประสานความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2486 นายพล นากามูระได้ย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในไทย ก็ได้เปลี่ยนชื่อเรียกกองทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทยว่า “กองทัพงิ” หรือ “หน่วยงิ” (“งิ” แปลว่า “ความชอบธรรม”) โดยมีกองบัญชาการตั้งอยู่ที่สมาคมพ่อค้าชาวจีนแห่งประเทศไทยที่ถนนสาทรใต้ ฝ่ายไทยก็ได้เปลี่ยน “กองอำนวยการคณะกรรมการผสม” มาเป็น “กรมประสานงานพันธมิตร” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2486 ดูรายละเอียดใน โยชิกาว่า โทชิฮารุ. “หน่วยงิ (กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย) กับการจัดซื้อข้าวในประเทศไทย” แปลโดย อาทร ฟุ้งธรรมสาร. วารสารญี่ปุ่นศึกษา. ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (2001), น. 47-63.

[11] อนุสรณ์ นร.สห. 2488, น. 28.

[12] เรื่องเดียวกัน.

[13]ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), น. 15.

[14] เรื่องเดียวกัน.

[15] กระทรวงกลาโหม คำสั่งทหารที่ 300/14693 เรื่องให้นักเรียนนายทหารสารวัตรเป็นนายทหาร (ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2488).

[16]ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), น. 15.

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 175.

[18] อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ที่สนามหลวงฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ออกแบบโดย สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นรูปแบบผสมเจดีย์สุโขทัยและอยุธยา

[19] อนุสรณ์ นร. สห. 2488, น. 176.

[20]ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), น. 17.

[21] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศระหว่าง พ.ศ. 2481-2492. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535).

[22] ประทีป สายเสน. กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ : อักษรสาส์น, 2532).

[23] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. (กรุงเทพฯ : พีเพรส, 2551), น. 70.

[24]อนุสรณ์ นร.สห. 2488, น. 31.

[25]ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร.สห. 2488 (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), น. 18-19.

[26]อนุสรณ์ นร.สห. 2488, น. 32.

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 6
  • liquid paper
    ม. เอามาพูดตอนนี้ มันต่างกัน,...​เสรีไทยตอนนั้น มันสู้กับต่างชาติ แต่ "เสรีภาพ" ตอนนี้ มันทำลายบ้านเมือง เเละ ไม่เคารพ เบื้องบน พวกว่างงาน ปลุกระดมไปวันวัน ไม่รู้จักหน้าที่ และ ระเบียบบ้านเมือง.
    14 ส.ค. 2563 เวลา 21.57 น.
  • liquid paper
    มึ......,​ เอามาพูดตอนนี้ มันต่างกัน,...​เสรีไทยตอนนั้น มันสู้กับต่างชาติ แต่ "เสรีภาพ" ตอนนี้ มันทำลายบ้านเมือง เเละ ไม่เคารพ เบื้องบน พวกว่างงาน ปลุกระดมไปวันวัน ไม่รู้จักหน้าที่ และ ระเบียบบ้านเมือง.
    14 ส.ค. 2563 เวลา 21.56 น.
  • liquid paper
    มึ----....,​ เอามาพูดตอนนี้ มันต่างกัน,...​เสรีไทยตอนนั้น มันสู้กับต่างชาติ แต่ "เสรีภาพ" ตอนนี้ มันทำลายบ้านเมือง เเละ ไม่เคารพ เบื้องบน พวกว่างงาน ปลุกระดมไปวันวัน ไม่รู้จักหน้าที่ และ ระเบียบบ้านเมือง.
    14 ส.ค. 2563 เวลา 21.54 น.
  • liquid paper
    มึ-อึ--ง เอามาพูดตอนนี้ มันต่างกัน,...​เสรีไทยตอนนั้น มันสู้กับต่างชาติ แต่ "เสรีภาพ" ตอนนี้ มันทำลายบ้านเมือง เเละ ไม่เคารพ เบื้องบน พวกว่างงาน ปลุกระดมไปวันวัน ไม่รู้จักหน้าที่ และ ระเบียบบ้านเมือง.
    14 ส.ค. 2563 เวลา 21.53 น.
  • liquid paper
    มึ-อึง เอามาพูดตอนนี้ มันต่างกัน,...​เสรีไทยตอนนั้น มันสู้กับต่างชาติ แต่ "เสรีภาพ" ตอนนี้ มันทำลายบ้านเมือง เเละ ไม่เคารพ เบื้องบน พวกว่างงาน ปลุกระดมไปวันวัน ไม่รู้จักหน้าที่ และ ระเบียบบ้านเมือง.
    14 ส.ค. 2563 เวลา 21.52 น.
ดูทั้งหมด