ไลฟ์สไตล์

แอนดี้ วอร์ฮอล และเรื่องเบื้องหลังความ pop art ของเขา

Sarakadee Lite
อัพเดต 20 ก.ค. 2563 เวลา 08.56 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 10.06 น. • สุกฤตา โชติรัตน์

แอนดี้ วอร์ฮอล (ค.ศ. 1928 – ค.ศ.1987) ชื่อนี้เป็นที่รู้จักดีในฐานะ ราชาแห่ง pop art หรือศิลปะประชานิยม ชื่อของ แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) และกระป๋องซุปเขย่าวงการศิลปะของโลกโด่งดังขึ้นในแวดวงศิลปะโลก หลังการจัดแสดงผลงานศิลปะภาพพิมพ์ชุดกระป๋องซุปแคมป์เบลล์ส (Campbell’s Soup) ซึ่งมีด้วยกัน ทั้งหมด 32 ภาพ ที่เฟอรัสแกลเลอรี นครลอสแอนเจลิส โดยในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ.1962 ที่ปิดงานแสดงได้จุดประเด็นให้เกิดการถกเถียงถึงคุณค่าของศิลปะ แนวป๊อปอาร์ตขึ้นมาอย่างกว้างขวาง เพราะหากมองเพียงผิวเผินกระป๋องซุปอาจเป็นเพียงภาพโฆษณา เป็นศิลปะเชิงพาณิชย์ (commercial art) ที่ไม่น่าจะมีราคาค่างวดมากนักแต่กลับสร้างราคาได้สูงลิบ โดยเฉพาะงานของแอนดี้ วอร์ฮอล

ภาพจาก The Andy Warhol Museum
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แอนดี้ วอร์ฮอล เดิมชื่อ แอนดรูว์ วอร์โฮลา (Andrew Warhola) เกิด ค.ศ. 1928 ที่เมืองฟอเรสต์ รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เขาได้จบปริญญาตรีด้านวิจิตรศิลป์ที่ Carnegie Institute of Technology เมืองพิตต์สเบิร์ก ที่นั่นเขาได้รู้จักกับ ฟิลิป เพิร์ลสไตน์ (Philip Pearlstein ค.ศ. ๑๙๒๔-) ซึ่งต่อมาได้อยู่ในกลุ่มอเมริกันพ็อปอาร์ตเช่นเดียวกัน แต่ภายหลังเพิร์ลสไตน์หันไปสร้างงานจิตรกรรมรูปเปลือยจนได้รับยกย่องว่าเป็น New Humanism

แอนดี้ วอร์ฮอล

ซูเปอร์มาร์เก็ตของ แอนดี้ วอร์ฮอล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อเรียนจบวอร์ฮอลทำงานโฆษณาและงานออกแบบให้กับห้างสรรพสินค้า St. Mark’s Place ทางตะวันออกของนิวยอร์ก หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่งและเริ่มมีชื่อเสียงเขาจึงเปลี่ยนชื่อจาก แอนดรูว์ วอร์โฮลา มาเป็น แอนดี้ วอร์ฮอล และเริ่มมีโอกาสแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกที่ ฮูโก แกลเลอรี (Hugo Gallery) ในนิวยอร์ก ช่วงปี ค.ศ. 1952

หลังจากเริ่มแสดงผลงาน วอร์ฮอลก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะของนิวยอร์กมากขึ้น พร้อมทั้งเขาเองก็เริ่มสร้างคาแร็กเตอร์ให้ผู้คนจดจำ นอกจากการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลให้สั้นลงเพื่อจดจำง่ายแล้ว เขายังย้อมผมสีฟางข้าวและปล่อยให้ผมยาวรุงรังอย่างไม่สนใจ แน่นอนว่าเขาสร้างและใช้คาแร็กเตอร์นั้นมาตลอดชีวิต

ระหว่าง ค.ศ. 1956-1962 เป็นช่วงเวลาที่วอร์ฮอลแสวงหาแนวคิดในการสร้างศิลปะของตนเอง หาคาแร็กเตอร์ให้งานของตนเองอย่างจริงจัง และเขาก็ตั้งมั่นแล้วว่าเขาต้องการเป็นศิลปินมากกว่านักออกแบบโฆษณา แต่กลายเป็นว่าเขากลับได้รับรางวัลศิลปินด้าน commercial art ที่เขาพยายามวิ่งหนีเสียอย่างนั้น และตลอดเวลาของการทำงานในแวดวงโฆษณาวอร์ฮอลเองก็พยายามเน้นงานออกแบบให้เป็นศิลปะมากขึ้น เพราะเขาเชื่อมั่นในความเป็นศิลปินของเขา ด้วยเหตุนี้วอร์ฮอลจึงวาดภาพดินสอดำบนกระดาษ One Dollar Bill with Washington Portrait เป็นการประชดงานศิลปะเพื่อโฆษณาที่เขาใช้เลี้ยงชีพ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
กระป๋องซุป Campbell’s ที่กำลังนำมาแสดงในนิทรรศการ “Andy Warhol: Pop art at River City Bangkok”

วอร์ฮอลตอกย้ำความเป็นศิลปินด้วยการสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ๆ มาใช้ในงานโฆษณา เช่น งานภาพพิมพ์ Two Dollar Bills (front and rear) ด้วยเทคนิคซิลก์สกรีน ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเป็นที่ยอมรับว่าวอร์ฮอลเป็นผู้ริเริ่มขึ้น และแพร่หลายในแวดวงโฆษณาทั่วโลก และเทคนิคนี้ก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของวอร์ฮอลไปโดยปริยาย

ก่อนจะเป็นกระป๋องซุปบรรลือโลก ในปี ค.ศ.1960 วอร์ฮอลเริ่มนำเครื่องอุปโภคใกล้ตัว อย่าง กระป๋องซุป ธนบัตร ขวดน้ำอัดลม มาสร้างเป็นงานศิลปะ โดยการวาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ หรือใช้เทคนิคซิลก์สกรีนบนผ้าใบ หรือทั้งสองอย่างผสมกัน เช่นภาพ Campbell’s Soup วาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ เป็นภาพกระป๋องซุปสองใบ ใบซ้ายมือขนาดใหญ่เกือบเต็มกรอบผ้าใบในขณะที่ใบขวามือมีขนาดเล็กกว่า รูปแบบการวาดคล้ายภาพพิมพ์ ใช้เส้นและสีเรียบ ๆ อย่างภาพโฆษณาทั่ว ๆ ไป

งานเชิงพาณิชย์ที่กลายเป็นความคลาสสิกของวอร์ฮอล

ต่อมาภาพกระป๋องซุปแคมป์เบลล์ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวอร์ฮอล และเป็นภาพที่เขาทำขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายแบบ ทั้งที่เป็นกระป๋องเดียว และการนำภาพกระป๋องมาพิมพ์เรียงกันเป็นแถวนับร้อยใบ อย่างที่เราเคยเห็นกันบนชั้นวางของตามซูเปอร์มาร์เกต และCampbell’s Soup ก็ได้สร้างข้อถกเถียงขึ้นมาในสังคมว่า นี่เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตชาวอเมริกันที่ผูกพันอยู่กับอาหารสำเร็จรูป สอดคล้องกับพฤติกรรมของวอร์ฮอลเองที่เขามักกินซุปกระป๋องแทบทุกวันมานานกว่า 20 ปี ซุปกระป๋องจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาอย่างที่อเมริกันชนควรจะเป็น

ต่อมาวอร์ฮอลได้นำภาพกระป๋องซุปแคมป์เบลล์มาทำเป็นภาพพิมพ์ขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนชุด Campbell’s Soup I นอกจากภาพกระป๋องซุปแล้ว วอร์ฮอลยังนำสินค้าอื่น ๆ ที่มีอยู่ในซูเปอร์มาร์เกตมาสร้างเป็นงานศิลปะ เช่น ภาพขวดเครื่องดื่ม กล่องบรรจุอาหาร ลังสบู่ ผลงานทั้งหมดพิมพ์ด้วยเทคนิคซิลก์สกรีนลงบนไม้ที่ทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับของจริง

แอนดี้ วอร์ฮอล

ดาราดังผู้ผ่านความสร้างสรรค์ของ แอนดี้ วอร์ฮอล

นอกจากผลงานชุดโลกซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้วอร์ฮอลมากอีกชุดหนึ่ง คือรูปพร็อทเทรตของเหล่าดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน เริ่มจาก เอลวิส เพรสลีย์ ราชาร็อกแอนด์โรลและนักแสดงที่ได้รับความนิยมสูงสุด (หลังจากที่เขาเสียชีวิตเพียง 24 ชั่วโมง แผ่นเสียงของเขาขายได้ถึง 20 ล้านแผ่น) วอร์ฮอลสร้างภาพเอลวิสขึ้นด้วยเทคนิคโฟโตซิลก์สกรีน เป็นภาพเอลวิสกำลังเต้น และพิมพ์ซ้อนกัน 3 ครั้ง ทำให้ดูเหมือนภาพกำลังเคลื่อนไหวจริงๆ

ตามมาด้วย มาริลีน มอนโร นักแสดงชาวอเมริกันที่เริ่มต้นจากการเป็นนางแบบเปลือยสำหรับปฏิทินและโปสเตอร์ ต่อมาได้แสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก วอร์ฮอลนำภาพใบหน้าของมาริลีนมาสร้างเป็นงานซิลก์สกรีนบนผ้าใบไว้หลายชุด เช่น The Two Marilyn ภาพใบหน้าของมาริลีนสองหน้า ซ้ายมือเป็นภาพขาว-ดำ ขวามือเป็นภาพใบหน้าสีชมพู ริมฝีปากแดง ขอบตาสีเขียว ผมสีเหลือง พื้นหลังภาพสีเขียว ภายหลังวอร์ฮอลได้นำภาพมาริลีนมาทำใหม่อีกครั้ง ได้แก่ชุด Reversal Series: Marilyn ใช้สีในลักษณะกลับค่าของสี (negative) ที่ให้ความรู้สึกแปลกตาออกไป และนั่นทำให้คนทั่วไปที่ชื่นชอบ มาริลีน มอนโร ได้รู้สึกใกล้ชิดเธอมากขึ้น แทนที่จะเห็นเพียงในภาพยนตร์เท่านั้น

เอลิซาเบท เทย์เลอร์ เป็นดาราภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก เธอเป็นดาราที่มีใบหน้างดงามมาก วอร์ฮอลนำภาพใบหน้าของเอลิซาเบทมาพิมพ์ลงบนผ้าใบเช่นเดียวกับภาพใบหน้าของ มาริลีน มอนโร ซึ่งแสดงให้เห็นใบหน้าที่ได้รูป ริมฝีปาก และดวงตาที่งดงามของเธอได้เป็นอย่างดี

แจ็กเกอลีน ลี บูริเอร์ หรือ แจ็กกี้ เคนเนดี ภรรยาของอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี แจ็กกี้เป็นผู้หญิงสวยและมีชื่อเสียงโด่งดังอีกคนหนึ่งที่วอร์ฮอลนำภาพใบหน้าของเธอมาสร้างงานศิลปะ เช่น ภาพ Jackie Tripych ภาพพิมพ์สามภาพต่อกัน จากใบหน้าเล็กไปใหญ่ ภาพแรกพิมพ์สีดำบนพื้นหลังสีน้ำเงินหันหน้าไปทางขวา ภาพที่ 2 พิมพ์สีดำบนพื้นหลังสีเทา และภาพที่ 3 พิมพ์สีดำบนพื้นหลังสีฟ้า ส่วนภาพ Jackie III พิมพ์จำนวน 200 แผ่น เป็นภาพใบหน้าของแจ็กกี้สี่ด้านที่นำมาประกอบเป็นภาพเดียวกัน

การที่วอร์ฮอลนำภาพเหมือนของคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาสร้างงานศิลปะ นับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของบุคคลร่วมสมัยไว้ในงานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง โดยวอร์ฮอลล์ล่าวถึงความงามของสตรีที่เขานำภาพมาสร้างเป็นงานศิลปะว่า

“เมื่อเธองดงามในช่วงเวลาของเธอและดูมีเสน่ห์ เมื่อเวลาเปลี่ยนและรสนิยมเปลี่ยนไปเป็นเวลาสิบ ๆ ปี ถ้าเธอยังดูแลตนเองไม่ให้เปลี่ยนแปลง เธอก็ยังคงงดงามอยู่ได้”

ภาพบางส่วนจากนิทรรศการ “Andy Warhol: Pop art at River City Bangkok”

การเมือง ก็เป็นเรื่องของวอร์ฮอล

ผลงานระยะหลังของวอร์ฮอลแสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่า เขาสนใจปัญหาสังคมและการเมืองมากขึ้น เช่นภาพเหมือนของอดีตประธานาธิบดีจีน เหมา เจ๋อตุง ผู้นำการปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งวอร์ฮอลนำมาสร้างเป็นงานชุด Mao Tse Tung เป็นภาพครึ่งตัว ใบหน้าสีเหลือง ทับด้วยสีดำ หรือ ภาพ Mao เป็นภาพจำลองจากภาพถ่ายของเหมา เจ๋อตุง นอกจากนี้วอร์ฮอลยังนำภาพเหตุการณ์ทางสังคมมานำเสนอด้วย เช่น ภาพการล่าสังหารคนผิวดำในรัฐแอละแบมา ภาพเก้าอี้ไฟฟ้า ภาพนักโทษ และภาพระเบิดปรมาณู เป็นต้น หรือในช่วงปี ค.ศ. 1986 วอร์ฮอลได้สร้างงานชุดภาพเหมือนเลนิน ผู้นำคนแรกของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต และนั่นเป็นผลงานชุดสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิต

พลังการสร้างสรรค์ของวอร์ฮอลไม่ได้จบแค่ภาพสกรีน ภาพพิมพ์ แต่เขายังฝากงานศิลปะไว้หลายประเภท เขาได้ร่วมกับเพื่อนสร้างภาพยนตร์ใต้ดินอยู่หลายเรื่อง อาทิ Sleep ความยาว 6 ชั่วโมง ส่วนเรื่อง Empire เป็นภาพนิ่งของตึกเอ็มไพร์สเตต (Empire State Building) ความยาว 8 ชั่วโมง The Chelsea Girl เป็นฉากชีวิตในโรงแรมเชลซีในนิวยอร์ก และเพียงปีเดียวเขาได้สร้างภาพยนตร์ไว้มากกว่า 75 เรื่องเลยทีเดียว

แอนดี้ วอร์ฮอล

นอกจากความคิดเรื่องงานศิลปะ pop art ที่แปลกและค่อนข้างใหม่ในยุคนั้นแล้ว แนวคิดในการทำงานของวอร์ฮอลก็ถือได้ว่ามีความประหลาดสุดๆ ด้วยเช่นกัน เพราะเขาเป็นศิลปินที่ทำงานในระบบโรงงาน วอร์ฮอลย้ำตลอดว่า ศิลปินไม่จำเป็นต้องลงมือทำงานเองทั้งหมด แต่ศิลปินจะเป็นผู้กำหนดความคิดและรูปแบบ ดังนั้นห้องทำงานของแอนดี้ วอร์ฮอล จึงมีลักษณะเป็นโรงงานแทนที่จะเป็นห้องทำงานส่วนตัว ในห้องนั้นมีเด็กหญิงและชายเป็นผู้ช่วยถึง 18 คนเพื่อผลิตงาน โดยระหว่าง ค.ศ. 1962-1964 เขาสามารถผลิตงานสร้างสรรค์ได้มากกว่า 2,000 ชิ้น เรียกว่าเป็นการปฏิวัติการทำงานศิลปะเลยก็ว่าได้ แอนดี้ วอร์ฮอล ใช้ชีวิตบั้นปลายจึงอาศัยอยู่กับมารดาในนิวยอร์กและเลี้ยงแมวไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา วอร์ฮอลเสียชีวิตจากการผ่าตัดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1967 เป็นการปิดฉากชีวิตของศิลปินแนวหน้าของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ราชาป๊อปอาร์ตที่ชื่อแอนดี้ วอร์ฮอล

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับ พฤษภาคม 2546

Fact File

  • เตรียมตัวรับชม นิทรรศการ “ANDY WARHOL: POP ART” จะเปิดให้เข้าชมในวันที่ 12 สิงหาคม – 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ RCB Galleria ชั้น 2 River City Bangkok

The post แอนดี้ วอร์ฮอล และเรื่องเบื้องหลังความ pop art ของเขา appeared first on SARAKADEE LITE.

ดูข่าวต้นฉบับ