ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ระดมครู4แสนคน ช่วยเด็ก2ล้านคน ไม่หลุดระบบการศึกษา ​

ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 15.08 น.

ครู 4แสนคน พร้อมลุยเยี่ยมบ้าน คัดกรอง ป้องกันเด็กยากจน 2ล้านคน หลุดออกจากระบบ ด้านกสศ. เผย ปี 62จับมือ สพฐ–อปท.– ตชด. ให้ทุนนักเรียนเสมอภาค ช่วยแก้เหลื่อมล้ำ ไม่น้อยกว่า 8แสนคน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อวันที่ 18มิถุนายน ที่สวนเฉลิมหล้า สะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดแถลงข่าวโครงการรณรงค์ “จดหมายลาครู” ความร่วมมือแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คืนเด็กๆกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษากลับสู่โรงเรียน ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ “จดหมายลาครู” จาก 7พื้นที่ 4ภูมิภาค ทั่วประเทศ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า โครงการรณรงค์จดหมายลาครู ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของนักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งต้องลาออกไปหารายได้ เป็นเสาหลักของครอบครัว ซึ่งจากฐานข้อมูล กสศ.และกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กนักเรียนมากกว่า 2ล้านคน ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่มีปัญหาความยากจนและมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักเรียนไม่ไปโรงเรียน เช่น ความห่างไกลของสถานศึกษา ไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีค่าอาหาร หรือมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว  เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ในปีการศึกษา 2562กสศ.ได้ขยายความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขสำหรับนักเรียนทุนเสมอภาค ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดกรอง ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อขจัดอุปสรรคในการมาเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 510,000คนในปีการศึกษาที่ผ่านมา เป็นประมาณ 800,000คน

       

“สิ่งสำคัญยิ่งกว่าเงินอุดหนุน คือ การเยี่ยมบ้าน เพื่อค้นหา คัดกรองให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อนที่สุดตามเกณฑ์ของกสศ.โดยในปีนี้ จะเป็นการรวมพลังของคุณครูทั้ง 3สังกัด กว่า 4แสนคน  ถือเป็นกลไกที่ช่วยให้การลดความเหลื่อมล้ำมีประสิทธิภาพ เกิดผลยั่งยืนที่สุด และยังมีกระบวนการติดตามนักเรียน ที่ได้รับเงินอุดหนุนอย่างใกล้ชิดได้แก่ 1.การรักษาอัตราการมาเรียนให้เกินกว่าร้อยละ 80ตลอดปีการศึกษา 2.น้ำหนักส่วนสูง การมีพัฒนาการที่สมวัยตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อมั่นใจว่าเป็นการช่วยเหลือที่เด็กได้ประโยชน์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษากับ กสศ. ได้ หากพบเห็นเรื่องราวของเด็กๆเหล่านี้ สามารถแจ้งไปยังโรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่  รวมถึง สายด่วนกสศ. 02-0795475กด1” นพ.สุภกร กล่าว     

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2561สพฐ. และ กสศ. ร่วมมือกันสำรวจและคัดกรองนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สามารถช่วยบรรเทาอุปสรรค ปัญหาต่างๆ ในการไปเรียน  เพิ่มโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนได้จำนวน 510,040คน  เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขของกสศ.ยังช่วยให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนนักเรียนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15   ขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มีนักเรียนยากจนที่ได้รับจัดสรรช่วยเหลือเต็ม 100%จำนวน 388โรงเรียน อย่างไรก็ตามในปีนี้ สพฐ.ได้กำชับ ให้เขตพื้นที่การศึกษาทุกจังหวัด สถานศึกษา และคุณครูทั่วประเทศ ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและคัดกรองเด็กที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ เพื่อไม่ให้มีใครต้องตกหล่นอีกต่อไป  เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ายังมีนักเรียนกว่า 1แสนคนที่น่าจะเข้าข่ายได้รับเงินอุดหนุน แต่ไม่ได้รับโอกาสนี้

​ นายขจร  ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า เด็กยากจนด้อยโอกาสมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้ทุกวินาที หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจึงต้องทำงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้ทันท่วงที ในช่วงเดือนกรกฎาคม ครูสังกัดอปท.จำนวน 377โรงเรียน ใน 10จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี นนทบุรี สระแก้ว ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และยะลา จะลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน คัดกรองนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล - ม.ต้นจำนวนมากกว่า 120,000คน เพื่อแก้ปัญหาได้เป็นรายคน ตามบริบทพื้นที่ได้อย่างแท้จริง โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทางกสศ.อำนวยความสะดวกให้ ทั้ง 10จังหวัดนำร่องของ อปท. จะเป็นตัวแบบเพื่อขยายผลการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดอปท.ทั่วประเทศทั้งหมดในปีต่อไป

          ด้าน พล.ต.ต.วันชาติ คำเครือคง รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า นักเรียนในสังกัด กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) มีจำนวนทั้งสิ้น 26,552คน  จาก 218แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 78โรงเรียน ภาคตะวันออกฉียงเหนือ 52โรงเรียน ภาคกลาง 46โรงเรียน และภาคใต้ 42โรงเรียน  ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และด้อยโอกาส  จากนี้ครูในสังกัด ตชด. จะลงพื้นที่ เยี่ยมบ้าน เพื่อค้นหา คัดกรองอย่างรัดกุมให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่กำลังเดือดร้อนตามเกณฑ์ ของกสศ. เงินอุดหนุนนี้แม้จำนวนไม่มากแต่อย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ ทั้งในส่วนของค่าเดินทาง ค่าอาหาร ฯลฯ ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆกลุ่มนี้ ความร่วมมือระหว่าง บช.ตชด. และ กสศ.จะไม่ใช่งานเฉพาะหน้า ระยะสั้นแต่จะเป็นการช่วยเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ในระยะยาว และมีความยั่งยืน

ด.ช.พงษ์ศกร อาสาพิทักษ์ไพร หรือ น้องแดง อายุ 13ปี โรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เจ้าของจดหมายลาเล่าถึงเหตุผลที่ต้องลาครู ว่า พ่อของตนเสียชีวิตแล้ว ทำให้ครอบครัวเหลือกันอยู่ 3คนไม่ได้มีเงินมากนัก ทุกวันนี้พี่คนโตไปทำงานรับจ้าง ตนอยู่กับแม่ แม่ต้องทำงานหนักหาเงิน พอช่วงเก็บลำไยตนเลยต้องหยุดเรียนไปช่วยแม่ ตอนที่เขียนจดหมายลาก็ไม่รู้จะได้กลับมาเรียนเมื่อไร แต่ถ้าตนยังไปเรียนก็จะไม่มีใครช่วยแม่จริงๆ จึงตัดสินใจลาเรียน จนกระทั่งครูบอยมาตามกลับไปเรียนก็เลยกลับมา เพราะถึงแม้ตนจะเรียนไม่เก่ง แต่ก็อยากจะเรียนหนังสือ ตนมีความหวังว่าโตขึ้นจะเป็นนักกีฬาฟุตบอล เพราะเป็นกีฬาที่ชอบมาก และในวันนี้ได้มีโอกาสกลับมาเรียนก็ตั้งใจว่าจะเรียนให้จบมัธยมศึกษาปีที่ 6และตามฝันให้สำเร็จ

 

นายนพรัตน์ เจริญผล ครูโรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจาก ด.ช.พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร หรือ ‘น้องแดง’ จบป.6โรงเรียนบ้านใบหนา พบน้องแดงเดินเล่นอยู่แถวโรงเรียน เกิดสงสัยว่าทำไมไม่ไปโรงเรียนจนทราบว่าเด็กไม่อยากไปเรียน เพราะเดินทางลำบาก และจะออกไปช่วยแม่รับจ้างทำงานที่บ้านฐานะยากจน ผนวกกับช่วงนั้นพ่อน้องแดงเพิ่งเสียชีวิต จึงคิดว่ายังไงก็ตามเราก็ต้องให้น้องแดงได้เรียนต่อ เลยพูดกล่อมให้กลับไปเรียนและย้ำว่าอย่างน้อยขอให้จบ ม.6มีประกาศนียบัตรติดตัวไป จนตอนนี้ปัจจุบันน้องแดงเรียนอยู่ ม.2โรงเรียนบ้านนาเกียน

 

ทั้งนี้ ส่วนครอบครัวของน้องแดงมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 500บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่รับจ้างทำไร่ แบกกะหล่ำปลี รายได้ไม่แน่นอน อย่างตอนนี้มีเด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาอีกประมาณ 2คน ตอนนี้พยายามติดตามเด็กๆกลับมาเข้าเรียนให้ได้ตามปกติ ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากความยากจนทำให้เด็กส่วนใหญ่ต้องหยุดเรียน และกว่า 80เปอร์เซ็นต์ในอำเภออมก๋อย เด็กนักเรียนมีฐานะยากจน

 

“ตอนนี้มีเด็กนักเรียนหลายคนเขียนจดหมายลาครูไปปลูกข้าว ไปเก็บเห็ดเผาะ เนื่องจากตรงกับช่วงฤดูปลูกข้าวพอดี เป้าหมายหลักต้องการนำเงินมาจุนเจือครอบครัว เด็กบางคนลาหยุดเรียนไป 1-2อาทิตย์ เมื่อกลับมาเรียนครูก็ต้องมาสอนย้อนหลังให้ จึงคิดว่าจำนวนเด็กยากจนน่าจะเพิ่มขึ้นและเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษาอีก” นายนพรัตน์ กล่าว

 

นพรัตน์ กล่าวว่า เงินอุดหนุนที่ได้รับจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ถือว่ามีความสำคัญมาก ในการเข้าไปช่วยเติมเต็มเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว เช่น มาม่า ปลากระป๋อง เป็นต้น และใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็น เงินอุดหนุนส่วนนี้จะเป็นกำลังใจให้เด็กและผู้ปกครอง ช่วยสนับสนุนให้บุตรหลานไปเรียนหนังสือต่อ.

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • น้องคะนิ้ง ไก่อบโอ่ง
    ขอบคุณครูอาจารย์..!!แต่ยาก..!!!ที่จะบังคับเด็กสมัยนี้..เรียนที่ดีๆเด็กก็ทำตัวหรู่..เรียนที่ไม่ดีเด็กก็ดิ้น..ทำตัวเองให้ทันกับสังคม..เด็กดีก็ดีไป...แต่ทุกวันนี้ล่ะ... จริงไหม?..
    18 มิ.ย. 2562 เวลา 18.10 น.
  • สายชล
    เด็กเรียนดีแต่ไม่ได้ไปต่อมีเยอะมาก ครูก็เฉยๆ ไม่ขวนขวายช่วยเด็กในการไปต่อ คุณไม่ต้องจ่ายแทน แค่สนใจสอบถามว่าทำไมไม่เรียน ประสานงานพยายามให้เค้าได้ไปต่อ ขนาดเด็กบางคนไปแข่งให้โรงเรียนประจำ ยังปล่อยให้เค้าหลุด
    18 มิ.ย. 2562 เวลา 16.22 น.
  • Cdr.Kitti42
    สังคมเหลื่อมล้ำกันมากขึ้นทุกวัน เพราะระบบทุนนิยม
    18 มิ.ย. 2562 เวลา 16.10 น.
ดูทั้งหมด