ทั่วไป

กมธ.ดีอี ห่วงอาชญากรรมไซเบอร์ระบาดหนัก จ่อเชิญ “กสทช.” ถกวางมาตรการ

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics
อัพเดต 15 ก.ย 2562 เวลา 06.57 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2562 เวลา 07.00 น.
ภาพไฮไลต์

กมธ.ดีอี ห่วงอาชญากรรมไซเบอร์ระบาดหนัก “เศรษฐพงค์” เผย เตรียมเชิญ “กสทช.-หน่วยงานเกี่ยวข้อง” วางมาตรการตรวจสอบนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารจากประเทศยักษ์ใหญ่ หวั่นถูกล้วงข้อมูลโดยต่างชาติ ทำประเทศเสียหายร้ายแรง

วันที่ 15 ก.ย. พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกรรมาธิการดีอี ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ว่า ต่อจากนี้ กรรมาธิการดีอีจะเน้นเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากยุคปัจจุบัน ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและเพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตไม่ได้หยุดอยู่เพียงการเชื่อมต่อระหว่างคนเพื่อสื่อสารด้วยกันเท่านั้น แต่กำลังก้าวไปสู่การสื่อสารระหว่างทุกสิ่งทุกอย่าง (Internet of Thing: IoT) ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งรัฐบาลประเทศต่างๆ จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนของตนสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เนื่องจากจะทำให้โอกาสในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รองประธานกรรมาธิการดีอี กล่าวต่อว่า ผลที่ตามมาจากการเปิดให้มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ง่ายดายขึ้น ไปจนถึงอุปกรณ์ IoT นำเข้ามาใช้มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอาชญากรรมผ่านระบบไซเบอร์ โดยจะใช้โอกาสนี้เข้าแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่ผิดกฎหมายอย่างไร้ร่องรอยได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ที่สำคัญคือต้องมีการนำเข้าอุปกรณ์จากประเทศยักษ์ใหญ่ผู้นำด้านเทคโนโลยีในแถบเอเซีย ดังนั้นจึงต้องมีความระมัดระวังด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่อาจจะเกิดการควบคุมระบบข้อมูลจากต่างชาติ และหากมีการโจมตีทางไซเบอร์ก็สามารถนำไปสู่การควบคุมระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ จะเกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรง

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวทางกรรมาธิการดีอี โดยท่านประธานกัลยา รุ่งวิจิตรชัย เห็นด้วยที่จะให้มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนว่า คณะกรรมาธิการฯ จะต้องติดตามการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์อย่างเข้มงวด ซึ่งมีความหมายรวมถึงการตรวจสอบการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย ทั้งอุปกรณ์ด้านการแพทย์ที่ต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไปจนถึงระบบสื่อสารและดิจิทัลที่ควบคุมบริหารระบบการเงินการธนาคาร และระบบสื่อสารในการท่าอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกโจมตีและถูกแฮ็คระบบข้อมูลดังกล่าวได้ ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

“การพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบดิจิทัลของชาติจะต้องควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คณะกรรมาธิการดีอี ได้ให้ความสำคัญเร่งด่วนในการทำงานเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เรื่องนี้ทางกรรมาธิการฯ จะได้เชิญสำนักงาน กสทช. ซึ่งทำหน้าที่ในการให้อนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ด้านการสื่อสารทั้งหมด รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เพื่อร่วมกันพัฒนามาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เหมาะสมต่อไป” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว.

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Bond AIT
    เอาจริง รบ. นี้ ไม่ได้ห่วงอะไรพวกนี้เท่าไหร่หรอก แค่เอามาแอบแฝง จริงๆห่วงว่าคนจะตาสว่างจากหลายๆเรื่อง จากไอ้พวกลวงโลกทำไว้มาหลายสิบปีซะมากกว่า ทุกวันนี้จึงพยายามดิ้นรน ออก พรบ.คอม บล็อก ปิดกั้นโน่นนี่นั่น ยุคนี้คนตาสว่างมีเยอะขึ้นมาก นั่นแหละสิ่งที่ เทวดามาเฟียกลัว อิๆ
    15 ก.ย 2562 เวลา 22.01 น.
  • nawin
    ลำพังถ้าเฉพาะตัวอุปกรณ์ (Hardware) ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไร ที่น่าห่วงคือตัว Software ที่มาพร้อมอุปกรณ์ หรือใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เพราะไม่มีใครรู้ว่ามันได้ถูกโปรแกรมไว้ให้ทำงานอะไรบ้าง มันมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในระบบ IT ของผู้ใช้ในระดับใด และมีการส่งออกข้อมูลของผู้ใช้งานไปยังแหล่งใดหรือไม่ แม้แต่แอพพลิเคชันประเภทสื่อโซเชียลและแอพฯ อื่นๆ ที่สามารถดาวน์โหลดฟรีบนสมาร์ทโฟนก็พบว่ามีหลายแอพฯ ที่กำหนดเงื่อนไขสิทธิ์ของแอพฯ ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ค่อนข้างมาก
    15 ก.ย 2562 เวลา 09.32 น.
ดูทั้งหมด