หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับเดือนมกราคม 2561 ซึ่งเป็นผลงานข่าวและรายงานพิเศษของนักศึกษา นำเสนอประเด็นน่าสนใจถึงปัญหาของสัตว์ป่าที่ถูกยึดเป็นของกลาง แต่ต้องเผชิญปัญหาติดค้างในกรงนานนับปีในช่วงระหว่างคดี ซึ่งส่งผลให้สัตว์บางตัวเมื่อจะถูกปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ไม่สามารถปรับตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติได้ เพราะเคยชินกับการอยู่ในกรง
โดยรายงานพิเศษดังกล่าว เริ่มต้นเล่าถึง หมีหมาเพศเมียที่ชื่อ แอพอร์ต ซึ่งอยู่ในกรงมาแล้ว 6 ปี กินนอนอยู่ในกรงขนาด 4 ตารางเมตร ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จังหวัดชลบุรี หลังถูกยึดเป็นของกลางในคดีค้าสัตว์ป่าข้ามชาติที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2554 ในขณะที่ยังเป็นลูกหมี
ปัจจุบันคดีนี้อายุความเกิน 5 ปี มันจึงตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 มาตรา 58 แต่ยังคงอยู่ที่กรงเดิมแม้จะสิ้นสภาพของกลางแล้ว
ข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดเดือนตุลาคม 2560 ระบุว่า มีสัตว์ป่าของกลางในคดีอาญา 26,555 ตัว แบ่งเป็นสัตว์ปีก 383 ชนิด รวม 16,167 ตัว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 180 ชนิด รวม 5,406 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 67 ชนิด รวม 4,510 ตัว และสัตว์ในบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) 62 ชนิด อาทิ เสือ ลิงชิมแปนซี เต่ากระ ตะกวด นกกาฮัง นกแต้วแล้วท้องดำ รวม 472 ตัว กระจายไปตามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 25 แห่งทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สังเกตการณ์สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง พบว่า ที่นี่รับดูแลสัตว์ป่าของกลางโดยมากเป็นหมีควายและหมีหมา มีสัตวแพทย์ดูแลประจำ และมีการแยกกรง เมื่อครบกำหนด 5 ปี สัตว์ป่าของกลางตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินแล้วส่วนหนึ่งจะปล่อยในพื้นที่รั้วไฟฟ้าเพื่อให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาหมีควายและหมีหมารวม 129 ตัว ไม่เคยกลับสู่ธรรมชาติแม้แต่ตัวเดียว ต้องอยู่ในกรงขังของสถานีเพาะเลี้ยงฯ ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด
นายพสวัตน์ โชติวัตพงษ์ชัย หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง เปิดเผยว่า ที่ไม่เคยปล่อยหมีของกลางกลับบ้านแม้แต่ตัวเดียวเพราะมันชินกับการอยู่ในกรง ไม่ได้ถูกฝึกให้อยู่ในธรรมชาติ หากปล่อยไปอาจไม่รอด แม้จะมีโครงการปล่อยหมีกลับสู่ธรรมชาติภายในปี 2562 แต่ยังอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยความเป็นไปได้
นางสาวชุติกาญจน์ เขียวอิ่ม สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง กล่าวว่า ปกติเจ้าหน้าที่จะให้ข้าวต้ม โครงไก่ หรือหมูเป็นอาหาร ไม่ได้ฝึกให้มันหาอาหารกินเองในธรรมชาติ เมื่อมันอยู่ที่นี่เป็นเวลานาน บางตัวอยู่มานานกว่า 20 ปี จึงเคยชินกับการอยู่กรง
“แค่ปล่อยเข้าพื้นที่รั้วไฟฟ้ายังทำให้มันเครียด เพราะเคยชินกับการอยู่กรงขังเดี่ยว หากปล่อยกลับเข้าป่าจึงเสี่ยงที่มันจะไม่รอด แต่ดิฉันคิดว่า ควรเริ่มฝึกให้มันได้กลับสู่ธรรมชาติได้แล้ว” สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง กล่าว
ด้าน วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตเรื่องการจัดการของป่าในคดีอาญาของนางสาววราพร บุญสิน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2555 ระบุว่า ปัจจุบันไม่มีกฎหมายและข้อบัญญัติรองรับความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าของกลางในคดีอาญาทำให้รัฐต้องจัดการเช่นเดียวกับของกลางประเภทอื่น ๆ ไม่มีข้อบัญญัติให้มีหน่วยงานรับผิดชอบสัตว์ป่าของกลางโดยเฉพาะทำให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต้องรับผิดชอบดูแลและใช้งบประมาณของหน่วยงาน นอกจากนี้ ไม่มีการบัญญัติระยะเวลาควบคุมสัตว์ป่าของกลาง เมื่อคดีสิ้นสุดหรือสัตว์ป่าตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ชีวิตของสัตว์ป่าจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติหรือไม่ พวกมันจึงอยู่ในสภาพของกลางเป็นเวลานานเกินจำเป็น และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต้องรับภาระสัตว์ป่าของกลางซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วน นายเอ็ดวิน วิค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า กล่าวว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 มาตรา 58 ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ป่าของกลาง เพราะไม่เปิดช่องให้จัดการได้ก่อนครบอายุความ 5 ปี สัตว์ป่าหลายตัวถูกริบเป็นของกลางขณะที่ยังเล็กสามารถปล่อยกลับสู่ธรรมชาติได้ แต่มาตรานี้ยื้อเวลาจนทำให้พวกมันพฤติกรรมเปลี่ยนเป็นสัตว์ติดกรง จึงควรแก้ไขกฎหมายโดยด่วน
“มาตรานี้ทำให้หมีของกลางในสถานีเพาะเลี้ยงบางละมุงไม่ถึง 20 ตัว มีโอกาสคืนสู่ธรรมชาติ แต่การปล่อยพวกมันก็มีข้อจำกัดทั้งบุคลากรและงบประมาณ ต้องเงินใช้ไม่ต่ำกว่า 6-7 แสนบาทในการปล่อยหมี 1 ตัว จึงควรเปิดให้ภาคเอกชนหรือมูลนิธิเข้ามาช่วยดูแลสัตว์ป่าของกลางเพื่อแบ่งเบาภาระ เพราะปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่รัฐรับภาระดูแลของกลางทั้งหมด” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า กล่าว
ขณะที่ นายสุรศักดิ์ อนุเมธางกูร หัวหน้าฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า กลุ่มงานเพาะเลี้ยง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงว่า กรมอุทยานฯ ร่างกฎหมายฉบับใหม่เสร็จแล้ว โดยเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถนำสัตว์ป่าของกลางมาใช้ประโยชน์หรือปล่อยกลับสู่ธรรมชาติได้ทันทีหากหากผู้ต้องหาไม่นำหลักฐานมาแสดง และยังมีแนวทางให้เอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุน ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ไม่สามารถตอบแน่ชัดว่า จะใช้กฎหมายฉบับใหม่ได้เมื่อใด
สัตว์เล็กอายุสั้น ตายคากรงก่อนจบคดี
ขณะที่สัตว์ใหญ่ของกลางที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จังหวัดชลบุรี ต้องติดกรงชั่วชีวิต สัตว์ปีกและสัตว์ขนาดเล็กของกลางอื่น ๆ ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางพระ ในจังหวัดเดียวกันต้องถูกจองจำอยู่ในกรงขังจนสิ้นอายุขัยก่อนที่คดีความจะหมดอายุ
ปัจจุบันที่นี่รับภาระดูแลของกลาง 96 ชนิด จำนวน 1,949 ตัว อาทิ งู สุนัขจิ้งจอก กระรอก เหยี่ยว และสัตว์ปีกอีกหลายสายพันธุ์ ตัวอย่างกรณีนกกระติ๊ดขี้หมูที่มีอยู่ประมาณ 1,046 ตัว มีอายุเฉลี่ยเพียง 2 ปี ขณะที่คดีความเฉลี่ยต่อสู้กันยาวนาน 2-5 ปี พวกมันยังเป็นสัตว์ที่มีลักษณะนิสัยอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมได้ง่าย การขังในกรงทำให้เกิดความเครียดต่อตัวนก
อีกปัญหาคือ ความแออัด เนื่องจากสถานีฯ ต้องรับสัตว์ป่าของกลางเพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกันการขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าของกลางเดิมที่มีอยู่ ซึ่งลูกของสัตว์ป่าของกลางที่เกิดขึ้นมาใหม่ กฎหมายก็ให้ถือเป็นสัตว์ป่าของกลางด้วย เมื่อจำนวนสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีการนำสัตว์ป่าของกลางออกไปปล่อยสู่ธรรมชาติ จึงทำให้กรงเลี้ยงแออัด ไม่เพียงพอต่อจำนวนสัตว์ที่มี ในที่สุดต้องขังสัตว์รวมกันหลายสายพันธุ์
นอกจากนี้ กรงเลี้ยงหลายส่วนยังชำรุด สาเหตุเกิดจากการใช้กรงผิดประเภท เช่น เลี้ยงนกประเภทนกน้ำในกรงสำหรับนกธรรมดา เป็นต้น
ที่มา หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม 2561
ยังรอน้ำลดตอผุดอีกเยอะ
10 ก.พ. 2561 เวลา 05.57 น.
รถตู้™👼 พระสิวลี โธ่...จะขังเค้าไว้ทำไม...
ขังเพื่อ ....?
10 ก.พ. 2561 เวลา 05.20 น.
🌘 Lilith แล้วอะไร ทำไม ยังไง ปล่อยให้คดีนานได้ขนาดนั้น
10 ก.พ. 2561 เวลา 05.39 น.
NickyRATH สิ่งมีชีวิต เป็นอนาลอก ไม่ใช่ดิจิตอล มันเลยควบคุมความคิด พฤติกรรมไม่ได้เน๊อะ
เรื่องบางเรื่องคดีจบแต่เหตุที่เกิดหลังจากนั้น วุ่นวายสุดๆ
เฮ้ออออออออออออ
10 ก.พ. 2561 เวลา 05.01 น.
Bavo5 แค่นี้เล็กๆ แนะนำไปตรวจสอบไม้ของกลางที่ยึดได้ ไม่รู้แอบไปจำหน่ายถึงไหน? ผมเองก็ได้แต่คิดเวลาเจ้าหน้าที่ยึดของกลางมาเอาไปเก็บหรือรักษายังไง?
10 ก.พ. 2561 เวลา 05.34 น.
ดูทั้งหมด