โลกเป็นเพียงเศษเสี้ยวในจักรวาลอันกว้างใหญ่ แต่มนุษย์ก็ไม่เคยยอมแพ้ที่จะไขปริศนาที่จักรวาลซุกซ่อนเอาไว้ ซึ่งล่าสุดดูเหมือนความพยายามของเหล่ามนุษย์ผู้ไม่ย่อท้อจะสัมฤทธิ์ผลขึ้นมาบ้าง หลังยานอวกาศของนาซ่า ส่งข้อมูลมาว่าพบเสียงฮัมปริศนาดังต่อเนื่อง บริเวณนอกระบบสุริยะของเรา
ยานอวกาศที่ส่งข้อมูลกลับมายังโลกคือ ‘ยานวอยเอเจอร์ 1’ ซึ่งเดินทางออกจากผืนโลกเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ.1977 เดิมทียานลำนี้ถูกออกแบบมาให้มีอายุใช้งาน 5-43 ปี แต่ปัจจุบันมันคงแหวกว่ายไปตามจักรวาลอันไกลโพ้น และส่งข้อมูลกลับมาให้มนุษย์โลก
ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ระบุว่า วอยเอเจอร์ 1 ได้เดินทางออกนอกขอบของระบบสุริยะ มายังจุดเขตอิทธิพลลมสุริยะ (Heliopause) จากนั้นเคลื่อนตัวไปที่มวลสารระหว่างดาว (Interstellar Medium) ซึ่งจุดนี้เองที่วอยเอเจอร์ 1 ตรวจพบการสั่นสะเทือนของคลื่นพลาสมา (Plasma Waves) ก่อนมันจะส่งข้อมูลกลับมายังโลก
"เสียงคลื่นพลาสม่าที่เราเพิ่งค้นพบเบาเกินกว่าที่จะได้ยินด้วยหูของมนุษย์ ถ้าเราฟัง มันจะดูเหมือนเสียงดนตรีที่เล่นโน้ตเดียวเล่นตลอดเวลา แต่จะเปลี่ยนไปเล็กน้อยหากตั้งฟังดีๆ" สเตลล่า ออกเกอร์ (Stella Ocker) นักศึกษาปริญญาเอก ด้านดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) กล่าว
ปัจจุบัน วอยเอเจอร์ 1 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 14.1 พันล้านไมล์ (22.7 พันล้านกิโลเมตร) หรือเทียบกับระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ประมาณ 152 เท่า ซึ่งหลังจากการเดินทางอันยาวนานถึง 44 ปี ยานโวเอเจอร์ 1 ได้กลายเป็นยานอวกาศที่ถูกส่งไปไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา
ปัจจุบัน ยานวอยเอเจอร์ 1 ยังคงเดินทางต่อไป แต่มีความเป็นไปได้สูงเชื้อเพลิงของมันจะหมดลงภายในทศวรรษนี้ แต่ถึงเช่นนั้นความสำเร็จของยานวอยเอเจอร์ 1 จะยังคงอยู่ต่อไป และจะกลายเป็นทั้งแรงกดดัน และความท้าทาย สำหรับผู้พัฒนายานอวกาศรุ่นใหม่ที่ต้องการเอาชนะระยะทาง และประสบการณ์การเดินทางของวอยเอเจอร์ 1
อ้างอิงจาก
https://www.reuters.com/lifestyle/science/faraway-nasa-probe-detects-eerie-hum-interstellar-space-2021-05-11/
https://edition.cnn.com/2021/05/11/world/nasa-voyager-1-intl-scli-scn/index.html?utm_source=fbCNN&utm_content=2021-05-11T19%3A00%3A36&utm_medium=social&utm_term=link&fbclid=IwAR1aUmQ3qltVtnG_rDqkUhXGtXPwuzJwtH8QBdW34907dwKcB10NuJzS3-E
#Brief #TheMATTER