ไลฟ์สไตล์

หลังฉากเส้นทางรักอมตะ "เกรซ แพทริเซีย เคลลี" จากดาราโฉมงามสู่เจ้าหญิงแห่งโมนาโก

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 15 ก.ย 2566 เวลา 02.13 น. • เผยแพร่ 14 ก.ย 2566 เวลา 00.50 น.
พิธีสมรสระหว่างเจ้าหญิงเกรซกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 แห่งราชรัฐโมนาโก วันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1956 ขณะที่ทั้งสองนั่งบนรถ Rolls Royce โบกมือทักทายประชาชน (Photo by AFP)

ในศตวรรษที่ 20 มีพิธีสมรสครั้งที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ พิธีสมรสระหว่าง เกรซ เคลลี นักแสดงชาวอเมริกัน กับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 แห่งราชรัฐโมนาโก (Rainier III, Prince of Monaco) รัฐที่ปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ทำให้เกรซเป็น “เจ้าหญิงแห่งโมนาโก”

ประวัติ เกรซ เคลลี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก (Princess Grace of Monaco) มีชื่อเดิมว่าเกรซ แพทริเซีย เคลลี (Grace Patricia Kelly) เกิดเมื่อ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1929 ที่เมืองฟิลาเดเฟีย มลรัฐเพนซิเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครอบครัวชาวไอริชคาทอลิกที่มีอันจะกิน ใน ค.ศ. 1947 เธอเข้าเรียนที่สถาบันสอนการแสดงที่เมืองนิวยอร์ก และทำงานเป็นนางแบบภาพนิ่ง เพื่อหาเงินจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยตนเอง กระทั่งเธอได้มีโอกาสแสดงละครเวทีบรอดเวย์เป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1949 ที่มีชื่อเรื่องว่า “The Father”

ไม่กี่ปีต่อมา เกรซ เคลลี มีโอกาสไปคัดตัวเป็นนักแสดงละครและภาพยนตร์ แม้จะเริ่มจากบทบาทสมทบเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เธอเปิดตัวในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ทางหน้าจอเป็นครั้งแรกในละครเรื่อง Fourteen Hours (1951) ไม่กี่ปีต่อมา เกรซก็ได้แสดงละครในบทบาทที่สำคัญ ๆ มากขึ้น เกรซมีชื่อเสียงโด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง Mogambo (1953) ซึ่งเธอได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Academy Award หรือที่รู้จักกันคือรางวัล Oscars

เกรซได้รับเสียงชื่นชมการแสดงของเธออันยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง “The Country Girl (1954)” และได้รับรางวัล Oscars สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกจากภาพยตร์เรื่องนี้ ในงานประกาศผลรางวัล Academy Award ครั้งที่ 27 ค.ศ. 1955 หลังจากเกรซแสดงภาพยนตร์เรื่อง The Swan (1956) และ High Society (1956) เธอได้ลาจอและไปสมรสกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เจ้าหญิงแห่งโมนาโก

เกรซ เคลลี ได้เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1955 เธอได้รับเชิญให้เข้าร่วมถ่ายภาพร่วมกับ เจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 ที่พระราชวัง แต่ขณะนั้นเกรซกำลังคบหาดูใจกับนักแสดงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นให้หลังเกรซกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 ก็เริ่มสานสัมพันธ์กันเรื่อยมา และตัดสินใจแต่งงานกันในที่สุด

เบื้องหลังการสานสัมพันธ์ครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากการถ่ายภาพในงานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนั้น ที่ Pierre Galante ผู้อำนวยการนิตยสาร “ปารีส แมตช์” (Paris Match) เป็นผู้ดำเนินการให้บุคคลทั้งสองมาถ่ายภาพคู่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เอ็ดวาร์ด ควินน์ (Edward Quinn) ช่างภาพซึ่งเป็นผู้ลั่นชัตเตอร์ภาพก่อนที่เรื่องราวจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ เล่าห้วงเวลาที่ทั้งคู่พบกันว่า เกรซ เคลลี ทักทายเจ้าชายอย่างสุขุมในแบบอเมริกัน เธอค้อมคำนับ งอเข่า และทั้งคู่ก็จับมือกัน

“หลังจากที่เกรซ จากไป เธอกล่าวกับคนอื่นว่า ‘เขาเป็นชายที่มีเสน่ห์มาก’ และนั่นคือตอนจบของเหตุการณ์ครั้งนั้น”

ตอนจบของเหตุการณ์นั้น น่าจะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการของทั้งคู่ โดยรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศบรรยายว่า ผู้ที่ทำหน้าที่สานสัมพันธ์ต่อคือ บาทหลวงทัคเกอร์ (Tucker) ผู้ใกล้ชิดพระองค์ ซึ่งส่งจดหมายไปหาเกรซ เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวขอบคุณเธอ “สำหรับการแสดงให้เจ้าชายทรงรับทราบว่าหญิงอเมริกันคาทอลิกเป็นอย่างไรและสร้างความรู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งตราตรึงพระทัยของพระองค์” หลังจากนั้นไม่ถึงปีทั้งคู่ก็เข้าพิธีสมรส

พิธีสมรสจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา 3 วัน ในวันแรกเป็นงานพิธีเป็นการภายใน ตรงกับวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1956 มีเพียงครอบครัวและเพื่อนสหายผู้ใกล้ชิดเท่านั้นที่ร่วมงาน วันถัดมาได้จัดพิธีสมรสทางกฎหมาย (Civil Ceremony) ณ ท้องพระโรง พระราชวังแห่งโมนาโก เกรซสวมชุดลูกไม้สีเบจพร้อมหมวกรัดรูป แต่เธอดูประหม่าอย่างเห็นได้ชัดตลอดพิธี

หลังจากพิธีสมรสทางกฎหมายเสร็จสิ้น ทั้งคู่ปรากฏตัวสั้น ๆ บนระเบียงของพระราชวัง มีประชาชนประมาณ 500 คนรอแสดงความยินดีอยู่ด้านล่าง คู่บ่าวสาวถูกห้อมล้อมด้วยดอกไม้สีแดงและสีขาวจำนวนมากซึ่งเป็นสีบนธงชาติของโมนาโก ก่อนจะโบกมือให้ฝูงชนสักครู่แล้วกลับเข้าไปข้างในพระราชวัง

ตามวัฒนธรรมของโมนาโกแล้วต้องทำพิธีสมรสทางกฎหมายก่อนพิธีสมรสทางศาสนา ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1956 จึงได้จัดพิธีสมรสทางศาสนา ณ วิหารเซนต์นิโคลัส (Saint Nicholas Cathedral) เจ้าหญิงเกรซสวมชุดแต่งงานสีขาวงาช้างที่ทำจากผ้าไหมและประดับด้วยลูกไม้ กล่าวกันว่าเจ้าหญิงงดงามเหมือนดาราฮอลลีวูดในภาพยนตร์ และชุดเจ้าสาวชุดนี้ก็ได้รับการออกแบบและตัดโดยช่างที่มีฝีมือของวงการแฟชันในยุคนั้นคือ เฮเลน โรส (Helen Rose)

ในพิธีมี Monsignor Marella จากกรุงปารีสเป็นผู้แทนของพระสันตะปาปามาทำพิธี ขณะกำลังทำพิธีทั้งคู่แทบจะไม่ได้มองหน้ากันเลย และได้คุกเข่าและหันหน้าไปทางแท่นบูชา เมื่อเสร็จพิธีแล้วทั้งสองนั่งรถไปตามถนนมอนติ-คาร์โล ในรถเปิดประทุนโบกมือให้ประชาชนที่มาร่วมแสดงความยินดีกว่าหลายพันคน

เจ้าหญิงเกรซ กับชีวิตหลังแต่งงาน

เกรซ เคลลี กลายเป็น “เจ้าหญิงเกรซ” ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เนื่องจากเธอเป็นนักแสดงฮอลลีวูดที่มีชื่อเสียงมาก ด้วยหน้าตาและความสามารถที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวอเมริกัน แล้วได้ผันชีวิตสู่การเป็นเจ้าหญิงแห่งราชรัฐโมนาโก ประเทศเล็ก ๆ แต่ร่ำรวยมากในยุโรป เจ้าหญิงเกรซมีพระโอรสพระธิดาทั้งหมด 3 พระองค์ คือ เจ้าหญิงคาโรลีน (Caroline ประสูติ ค.ศ. 1957), เจ้าชายอัลเบิร์ต (Albert ประสูติ ค.ศ. 1958) และ เจ้าหญิงสเตฟานี (Stéphanie ประสูติ ค.ศ. 1965)

เจ้าหญิงเกรซ ถูกทาบทามให้กลับไปแสดงภาพยนตร์มาโดยตลอด กระทั่งมีรายงานว่าเจ้าหญิงเกรซจะร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง Marnie (1964) แต่ได้รับเสียงต่อต้านเรื่องบทบาทที่จะแสดงนั้นอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหญิง ดังนั้นเจ้าหญิงเกรซจึงปฏิเสธการแสดงนั้นไป อย่างไรก็ตาม เจ้าหญิงเกรซยังคงออกงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกุศล ศิลปะ และวัฒนธรรม และมีงานพากย์เสียงภาพยนตร์สารคดี เช่น The Poppy Is Also a Flower (1966) ที่นำออกฉายทางโทรทัศน์ของช่อง ABC

ใน ค.ศ. 1976 เจ้าหญิงเกรซได้ดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการของบริษัท Twentieth Century-Fox บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูด

วันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1982 ขณะที่เจ้าหญิงเกรซกำลังขับรถยนต์อยู่ในเขตโกตดาชูร์ (Côte d’Azur) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส เจ้าหญิงเกรซเจอภาวะโรคหลอดเลือดสมองตีบฉับพลัน มีอาการชักกระตุกจนเสียการควบคุมรถแล้วพุ่งตกเขาลึกหลายสิบเมตร ขณะที่เจ้าหญิงสเตฟานีซึ่งอยู่ในรถก็ได้รับบาดเจ็บแต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เจ้าหญิงเกรซมีอาการบาดเจ็บที่สมอง ทรวงอกและกระดูกขาหัก กระทั่งวันต่อมา 14 กันยายน ค.ศ. 1982 เจ้าหญิงเกรซจึงสิ้นพระชนม์

พิธีพระศพจัดในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1982 พระศพ เจ้าหญิงเกรซ ถูกฝัง ณ วิหารเซนต์นิโคลัส เจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 ไม่ได้แต่งงานใหม่ และเมื่อเจ้าชายสิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ. 2005 ก็ได้นำพระศพมาฝังไว้เคียงข้างเจ้าหญิงเกรซ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

Encyclopedia Britannica. (2019). Grace Kelly. Access 18/04/2019, from www.britannica.com/biography/Grace-Kelly

BBC On This Day. (2019). 1956: Prince Rainier marries Grace Kelly. Access 18/04/2019, from news.bbc.co.uk/onthisday/hi/dates/stories/april/19/newsid_2720000/2720723.stm

OLIPHANT, VICKIIE. “How Grace Kelly went from American actress to beautiful Princess after one chance meeting”.Express. Online. Published 27 JUL 2019. Access 22 AUG 2019.

หมายเหตุ : ปรับปรุงเพิ่มเติมจากเนื้อหาเรื่อง “19 เมษายน 1956 : พิธีสมรสแห่งทศวรรษ จากสามัญชนสู่เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก”

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Rainbowsun
    เป็นเจ้าหญิงที่สวยมากๆ
    27 มี.ค. 2564 เวลา 06.05 น.
ดูทั้งหมด