ไลฟ์สไตล์

ไทย VS. ญี่ปุ่น “บ้านพี่เมืองน้อง” เริ่มใช้รถไฟพร้อมกัน สมัย ร.5

TheHippoThai.com
เผยแพร่ 21 มิ.ย. 2561 เวลา 13.00 น. • เรื่อง/รูป: POGGHI

ไทย VS. ญี่ปุ่น  “บ้านพี่เมืองน้องเริ่มใช้รถไฟพร้อมกันสมัยร.5

เรื่อง/รูป: POGGHI

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เวลาที่ผมนึกย้อนกลับไปสมัยย่างเท้าก้าวสู่แดนอาทิตย์อุทัยครั้งแรกราวสิบปีก่อน สิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจได้มากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังทั้งหลาย คือ “รถไฟ” ระบบขนส่งที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชาวญี่ปุ่น

รถไฟที่ว่าไม่ได้เฉพาะเจาะจงต้องเป็นรถไฟชินคันเซ็นอันทันสมัยหน้าตาเหมือนหุ่นยนต์จาก Transformer ปลอมตัวมา แต่ยังรวมถึงรถไฟธรรมดาๆเรียบง่ายที่คนญี่ปุ่นใช้บริการในชีวิตประจำวันนี่ล่ะ แค่ได้เห็นเส้นทางรถไฟทั้งบนดิน-ใต้ดินสร้างไว้ไขว้ขวางพาดพันกันราวกับใยแมงมุมก็ตื่นเต้นแล้ว แถมยังเพิ่มเลเวลความพีคไปอีกว่า ทุกขบวนนั่นวิ่งกันตรงเวลาเป๊ะๆไม่ขาดไม่เกินเลยแม้แต่นาทีเดียว! (จะมีไม่ตรงเวลาบ้าง ก็คงในกรณีที่มีอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ หรือเรื่องฉุกเฉิน ซึ่งโชคดีที่ผมเองยังไม่เคยเจอ)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กว่าศตวรรษที่แล้ว รถไฟในประเทศญี่ปุ่นเริ่มออกสตาร์ทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2415 รถไฟสายแรกวิ่งจากสถานี Shimbashi (ต่อมาเป็นสถานี Shiodome) ในกรุงโตเกียว มุ่งไปสู่ปลายทางที่โยโกฮาม่า เมืองท่าสำคัญที่ไม่ไกลจากเมืองหลวง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปฐมบทการรถไฟญี่ปุ่นคราวนั้น ตรงกับ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2439 รถไฟสายแรกในไทยก็เริ่มออกวิ่งตามไปติดๆ แต่ทว่าเข็มนาฬิกาว่าด้วยเรื่องโลกแห่งรถไฟในญี่ปุ่น คงเดินเร็วไปกว่าไทยหลายเท่า เพราะในระยะเวลาเท่ากันประมาณศตวรรษเศษ การรถไฟในประเทศญี่ปุ่นพัฒนาไปแบบไฮสปีด ในขณะที่ประเทศไทยยังมีวลีอมตะ ‘ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง’ ให้ได้ยินจนถึงทุกวันนี้

องค์ประกอบของความล่าช้าในการพัฒนารถไฟไทย คงมีรายละเอียดให้ถกเถียงกันมากมาย แต่ว่ากันตามตรง ผมก็เอาใจช่วยการรถไฟไทยอยู่เสมอ และรู้สึกยินดีทุกครั้งเมื่อเห็นการพัฒนารถไฟขบวนใหม่ๆ

อย่างไรก็ดี กุญแจสำคัญที่ประเทศไทยขาดหายไป คือ การสร้างสถานที่จุดไฟแรงบันดาลใจและเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับรถไฟอย่างจริงจัง 

ผมคิดว่า … ประเทศไทยไม่มี “พิพิธภัณฑ์รถไฟ ที่มีพลังสร้างแรงบันดาลใจได้มากพอ”

หากใครมีโอกาสแวะไปสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่เรียกกันติดปากว่าหัวลำโพงนั่นแหละ ด้านหน้าอาคารหลังคาโค้ง ทรงนีโอคลาสสิค มีห้องเล็กๆซ้ายมือเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย จัดตั้งโดย "มูลนิธิรถไฟไทย" ในห้องพื้นที่ประมาณ 20 ตารางเมตร จัดแสดงอุปกรณ์เก่าๆเกี่ยวข้องกับรถไฟไทยวางไว้แบบพอดีกับพื้นที่ แบ่งโต๊ะด้านหนึ่งไว้จำหน่ายสินค้าที่ระลึกซึ่งก็เป็นพื้นที่โต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล ส่วนด้านบนมีพระราชอาสน์ที่ประทับของในหลวงรัชกาลที่ 6 พร้อมกับสิ่งของจัดแสดงอีกนิดหน่อย

ด้วยพื้นที่อันน้อยนิดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ใช้เวลาสำรวจไม่เกิน 15 นาที ก็จบกระบวนการ ถามว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีไหม ผมตอบได้ว่าก็ดีในระดับหนึ่ง เป็นลักษณะจิ๋วแต่แจ๋วที่ช่วยฉายภาพประวัติศาสตร์ของการรถไฟไทยได้บางส่วน แต่ทว่าขนาดของพื้นที่ รูปแบบ และเรื่องราวการนำเสนอนั่นแหละครับ เป็นปัญหาอย่างที่ผมบอกไปว่า “ไม่มีพลังสร้างแรงบันดาลใจได้มากพอ” เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์เหงาๆ มีข้าวของในอดีตวางไว้ให้เราเดินชมเอง เหมือนเป็นห้องสะสมของเก่า

เอาล่ะ .. ขอชวนข้ามน้ำข้ามทะเล ลองไปดูงานที่ญี่ปุ่นกันบ้าง

เมือง “ไซตามะ” (Saitama) จังหวัดเล็กๆติดกับโตเกียว เป็นสถานที่ตั้ง "The Railway Museum" พิพิธภัณฑ์รถไฟของ JR East หรือ การรถไฟเจแปนที่ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออก ครอบคลุมในเขต Kanto , Koshinetsu , Shizuoka และ Tohoku ซึ่งเมื่อรวมทั้งหมดแล้วนับเป็นเครือข่ายรถไฟที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในโลก

ในฐานะบริษัทยักษ์ใหญ่เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี เมื่อปี 2007 JR East จึงเนรมิต The Railway Museum เป็นของขวัญชิ้นพิเศษแก่ชาวญี่ปุ่น และยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังที่สุดของเมืองไซตามะไปโดยปริยาย

ความดีงามของ "The Railway Museum" ที่ไซตามะ ไม่เพียงแต่การจัดแสดงนิทรรศการเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอุตสาหกรรมรถไฟในประเทศญี่ปุ่น แต่จุดขายคือรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ราวกับเรากำลังเข้าชมกึ่งพิพิธภัณฑ์ กึ่งสวนสนุก กึ่งอาร์ตสเปซ (ว่าด้วยรถไฟ) พ่วงด้วยการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะกับทุกวัย

การมีพื้นที่ใหญ่โตกว้างขวาง The Railway Museum จึงยกขบวนรถไฟรุ่นคลาสสิคของจริงมาจัดแสดงมาชมไม่ว่าจะเป็นรถจักรไอน้ำสมัยแรกเริ่ม รถไฟ Class C57 Steam Locomotive ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง รถไฟชินคันเซ็นรุ่นบุกเบิกอย่าง Series 21 Shinkansen ที่ปลดระวางไปหลายปีแล้ว เป็นต้น ซึ่งทุกขบวนที่จัดแสดง เราสามารถเดินชมได้อย่างใกล้ชิด หรือเข้าไปเดิน ไปนั่ง ในตู้โดยสารก็ได้

นอกจากนี้ สิ่งที่เหล่าคนรักโมเดลของเล่นต้องกรีดร้อง ก็คงเป็นบรรดาโซนจัดแสดงโมเดลรถไฟกับเมืองจำลอง ที่สร้างเอาไว้ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ไหนจะมีตัวอย่างรถไฟพร้อมกลไกเล็กๆน้อยๆตามจุดต่างๆ คอยตรึงความสนใจให้เราได้จุดละหลายนาที 

ความมีชีวิตชีวาของ The Railway Museum ยังเสริมด้วยSimulator Hall พื้นที่สำหรับการฝึกขับรถไฟด้วยตัวเอง ผ่านจอ Simulator ที่มีความสมจริงราวกับเราคือพนักงานขับรถไฟ (ซึ่งดูๆไปแล้ว เป็นโซนโปรดของเหล่าผู้ปกครองมากกว่าบุตรหลานเสียอีก) และโซนห้ามพลาดของเหล่านักช้อป คือ Museum Shop ที่ละลานตาไปด้วยสินค้าของที่ระลึก ในแบบฉบับญี่ปุ้น ญี่ปุ่น ที่น่ารักน่าสะสมมีพลังดึงดูดเงินเยนในกระเป๋าให้ปลิวออกไปได้อย่างรวดเร็ว

ด้วยอาณาเขตกว้างขวางสามารถทำโน่นทำนี่ได้หลากหลาย การนำเสนอที่เต็มไปด้วยสีสัน และใส่ใจที่จะเติมความสนุกลงไปด้วย The Railway Museum จึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์โชว์ของเก่า ผมสังเกตเห็นเด็กๆตัวน้อยชาวญี่ปุ่นนั้น ร้อยทั้งร้อยที่เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ต่างแสดงสีหน้าตื่นเต้น สนใจใคร่รู้ไปกับสิ่งต่างๆที่จัดแสดงอยู่เบื้องหน้า บ้างวิ่งวนไปดูตรงโน้นทีตรงนี้ทีด้วยความสนุก ส่วนผู้ปกครองนั้นก็ดูจะเพลิดเพลินไม่แพ้กัน

ทั้งหมดนี้ล่ะครับ ที่ผมรู้สึกว่า การสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์รถไฟ - The Railway Museum แห่งเมืองไซตามะ เป็นการคิดแบบก้าวกระโดด มองไปให้ไกลกว่ารูปแบบพิพิธภัณฑ์รถไฟเดิมๆ ซึ่งผมเชื่อเสมอว่าการเติมความคิด ความทรงจำให้เด็กๆแบบนี้ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจดีๆ ต่อยอดเป็นประโยชน์ในอนาคตได้ เสมือนขุมพลังแห่งแรงบันดาลใจที่มอบให้กับผู้เข้าชม

เมื่อคนญี่ปุ่นลงทุนกับแหล่งเรียนรู้ ลงทุนกับแหล่งสร้างแรงบันดาลใจ ผลตอบแทนจึงงอกเงยกลับมาเป็นการพัฒนาระบบรถไฟไม่เคยหยุดนิ่งดังที่เราเห็นกันทุกวันนี้นั่นเอง

 

รายละเอียดเพิ่มเติม
www.railway-museum.jp/en/ 

ความเห็น 152
  • K.Krittachai✌️
    คนในชาติมีวินัย กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ก็ทำให้ประเทศพัฒนาไปไกล..
    21 มิ.ย. 2561 เวลา 13.56 น.
  • Ice5cm/sec
    พ่ายสงคราม โดนนิวเคลียร์ มีสึนามิ แต่ก้าวกระโดดได้ต่างกันมาก
    21 มิ.ย. 2561 เวลา 13.48 น.
  • Pheeraphat S. ; MJ57
    อายคนญี่ปุ่นจังเลย
    21 มิ.ย. 2561 เวลา 13.49 น.
  • นายสมมาตร ศรีวัย
    เทียบกันไม่ติด..คนละยุคเลย
    21 มิ.ย. 2561 เวลา 13.46 น.
  • โคกกลอยการเกษตร
    เศร้าใจจังรถไฟไทย
    21 มิ.ย. 2561 เวลา 13.42 น.
ดูทั้งหมด