ทั่วไป

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สั่งตรวจสอบข้อกฎหมาย-รวบรวมข้อร้องเรียน ‘รูปปั้นครูกายแก้ว’

TODAY
อัพเดต 18 ส.ค. 2566 เวลา 15.01 น. • เผยแพร่ 18 ส.ค. 2566 เวลา 07.55 น. • workpointTODAY

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เผย สั่งปลัดกทม. ตรวจสอบข้อกฎหมายและรวบรวมข้อร้องเรียน กรณีรูปปั้นครูกายแก้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ในวันนี้ (18 ส.ค. 66) ถึงกรณีรูปปั้น ‘ครูกายแก้ว’ ว่า ได้สั่งการให้ปลัดกรุงเทพมหานคร ติดตามในแง่ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นยังไม่ได้มีความผิดในแง่ข้อกฎหมายต่างๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่เอกชน แต่ด้วยความสูงของรูปปั้น อาจจะต้องดูในเรื่องของความปลอดภัยให้รอบคอบ รวมถึงสั่งการให้สำนักงานเขต ตรวจสอบและรวบรวมข้อร้องเรียนหรือข้อกังวลของประชาชน เพื่อจะได้เข้าพบและหารือกับเจ้าของรูปปั้น ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร

อย่างไรก็ตาม หากรูปปั้นดังกล่าวก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาเข้ามาได้ ซึ่งเรื่องนี้ กรุงเทพมหานครจะรับเรื่องไว้และพิจารณาประกอบกับข้อกฎหมายหรือข้อบัญญัติต่างๆ เพื่อหาแนวทางดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

[ย้อนที่มาที่ไป ‘รูปปั้นครูกายแก้ว’ ย่านรัชดาฯ]

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แฟ้มภาพ : พิธีบวงสรวง เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 66 ภาพ ชนากานต์ เหล่าสารคาม / Thai News Pix

9 ส.ค. 66 การจราจรบนถนนรัชดาภิเษกขาเข้า ติดขัดยาวสะสมถึงสะพานพระราม 7 เหตุจากรถพ่วง บรรทุกรูปปั้น ‘ครูกายแก้ว’ ที่เคลื่อนย้านมาจากโรงหล่อ จ.ราชบุรี เพื่อไปตั้งยังโรงแรมแห่งหนึ่งที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว เกิดติดคานสะพานลอยคนข้าม หลังจากแก้ปัญหาต่างๆ เสร็จสิ้นก็สามารถเคลื่อนย้ายรูปปั้นครูกายแก้ว ไปตั้งตามที่กำหนดไว้ได้สำเร็จ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากนั้นวันที่ 13 ส.ค. 66 มีพิธีบวงสรวงเบิกเนตรในวันที่ 13 ส.ค. 66 เวลา 19.00 น. มีประชาชนที่ศรัทธาเข้ามาร่วมพิธีจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย หนึ่งในผู้ที่ออกมาเขียนถึงคือ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานบอร์ดกรุงเทพธนาคม ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก ‘Tongthong Chandransu’ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 66 ระบุว่า

ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ปรากฏข่าวเรื่อง ครูกายแก้ว ว่าเป็นรูปเคารพที่ได้รับความนับถือในหมู่คนจำนวนหนึ่ง นัยว่าครูกายแก้วนี้เป็นครูบาอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ผมยังไม่เคยเห็นหลักฐานยืนยันได้แน่นอนว่าเล่าลือกันมาจากที่ไหน

ความเลื่อมใสในเรื่องอย่างนี้แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่สามารถบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจของสมาชิกในสังคมได้ในระดับหนึ่ง และถ้าไม่เกรงใจกันแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นระดับที่สูงมากเสียด้วย

“รูปอะไรก็ไม่รู้ที่กราบไหว้กันอยู่นี้ มองในทางศิลปะก็สอบไม่ผ่านแน่ จะว่าเป็นมนุษย์ก็เห็นจะไม่ใช่ จะเป็นสัตว์ก็ไม่เชิง ผมยังนึกไม่ออกว่าการไปบูชารูปปั้นอย่างนี้จะเป็นสวัสดิมงคลได้อย่างไร แถมเกรงว่าจะเกิดผลตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ สำหรับประเพณีบ้านเมือง สถานการณ์อย่างนี้คล้ายกับที่คนแต่โบราณท่านพูดว่า ผีป่าก็จะวิ่งมาสิงเมือง ยิ่งนัก เฮ้อ!” ศ.พิเศษ ธงทอง ระบุทิ้งท้าย

นอกจากนี้ ยังมี สภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนา ที่ได้ส่งหนังสือร้องเรียนผู้บริหารโรงแรมบริเวณหัวมุมแยกรัชดา-ลาดพร้าว เพื่อให้ย้ายรูปปั้น ‘ครูกายแก้ว’ ออกจากพื้นที่ เพราะเชื่อว่า ไม่เป็นสิริมงคล อาจทำให้ประชาชนที่สัญจรไปมาเกิดความวิตกกังวล

ดูข่าวต้นฉบับ