ทั่วไป

กทม.เห็นด้วย เปลี่ยนห้องเก็บขยะเป็น ‘สถานีแบตฯ’ จูงใจใช้มอ’ไซค์ไฟฟ้า - พลิกโฉมทางเชื่อม BTS ชิดลม

MATICHON ONLINE
อัพเดต 30 พ.ค. 2566 เวลา 11.28 น. • เผยแพร่ 30 พ.ค. 2566 เวลา 11.27 น.

กทม.เห็นด้วย 3 ข้อเสนอ คกก.ขนส่งกทม. เล็งเปลี่ยนโฉมทางเชื่อม BTS ชิดลม – พลิกห้องเก็บขยะเป็น ‘สถานีแบตฯ’ จูงใจคนใช้มอ’ไซค์ไฟฟ้า

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 พฤษภาคม ที่ห้องประชุม ชั้น 31 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2566 โดยมี คณะกรรมการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชน กทม. พิจารณาเห็นชอบในหลักการ 3 เรื่อง ได้แก่

1. ปรับปรุงทางเชื่อม BTS ชิดลมกับอาคารเกษรพลาซ่าฯ ให้ทันสมัย
2. เชื่อมสถานีแพรกษากับบิ๊กซีสมุทรปราการ โดยห้างต้องดูแลความสะอาด ปลอดภัย
3. ปรับปรุงห้องเก็บขยะบริเวณสถานีรถไฟฟ้าเป็นสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ จูงใจคนหันมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากขึ้น ระยะทดลองนำร่อง 1 ปี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับ การพิจารณาขออนุญาต 3 เรื่อง ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้

เรื่องแรก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขอปรับปรุงทางเชื่อมระหว่างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสชิดลมกับอาคารเกษรพลาซ่า โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ กรุงเทพฯ และอาคารอัมรินทร์พลาซ่า โดยทางเชื่อมดังกล่าวได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 สำหรับการขอปรับปรุงครั้งนี้เป็นการขอปรับปรุงเพื่อให้มีรูปแบบสวยงาม ทันสมัย เหมาะกับสภาพปัจจุบันมากขึ้น เช่น ความสูงจากผิวจราจรถึงใต้ท้องคานมากขึ้น เป็นต้น รวมถึงเป็นการเพิ่มความปลอดภัยต่อประชาชนทั่วไป

รศ.ดร.วิศณุกล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาที่พบบนทางเท้าของ กทม.คือ ทางเท้าแคบ เมื่อมีขาสะพานลอยหรือบันไดสะพานลอยมาตั้งจึงกระทบกับคนเดินเท้า เรามีแนวคิดแก้กฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายผังเมืองกรณีที่มีสิ่งปลูกสร้าง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สกายวอล์ก สะพานลอยข้ามถนน ฯลฯ โดยจูงใจให้เอกชนนำขาสะพานลอยหรือบันไดสะพานลอยไปไว้ในที่ของเขาเพื่อทำให้พื้นที่ทางเท้าสาธารณะกว้างขวางขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาว่ามีคนใช้บริการเยอะหรือไม่ประกอบด้วย โดยเรื่องแรกนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ ซึ่งการดำเนินการปรับปรุงให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักการโยธาต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรื่องที่สอง บริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ขอก่อสร้างทางเชื่อมระหว่าง ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแพรกษา กับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาสมุทรปราการ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและการเดินทางสัญจรจะได้มีความสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครสมุทรปราการ และเทศบาลฯ ได้มีหนังสือรับรองว่าอาคารมีความมั่นคงแข็งแรง และมีวิศวกรเซ็นรับรอง พร้อมได้อนุญาตให้บริษัทฯ ดัดแปลงอาคารอย่างถูกต้องตามระเบียบแล้ว

“ในส่วนของ กทม. จะมีอำนาจพิจารณาตรงจุดเชื่อมต่อเข้าสถานี โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ พร้อมกำชับพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขให้ทางห้างดูแลเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย รวมไปถึงควรมีข้อสงวนสิทธิ์การขอยกเลิก หรือตั้งเงื่อนไขระยะเวลาแจ้งขอยกเลิก เป็นต้น เนื่องจากเป็นประโยชน์สาธารณะ” รศ.ดร.วิศณุระบุ

รศ.ดร.วิศณุกล่าวต่อว่า เรื่องที่สาม บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขอปรับปรุงห้องเก็บขยะ (Refuse Room) บริเวณสถานีรถไฟฟ้า ของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มเติม เพื่อจัดทำเป็นสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) และจุดพักรถสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ สำหรับทำโครงการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปและวินมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของกรุงเทพมหานครในด้านสิ่งแวดล้อมดีและเดินทางดี ส่งเสริมกรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่ปลอดภัย เกิดระบบขนส่งมวลชนที่หลากหลาย สะดวก และคล่องตัวให้แก่ประชาชน ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วน และเป็นมหานครสีเขียวปลอดมลพิษ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและผู้รับบริการ

โดยในเรื่องนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ พร้อมสั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่งตรวจสอบว่าตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรามีสิทธิอนุญาตในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ เป็นไปตามสัญญาสัมปทานข้อใด เมื่อได้จุดที่จะดำเนินการแล้วต้องมีการขออนุญาตมาที่สำนักการโยธาด้วย เนื่องจากอยู่บนพื้นที่ทางเท้า (ใต้ทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้า) นอกจากนี้ ต้องพิจารณาด้วยว่าจะทำให้จราจรติดขัดหรือไม่ กระทบคนใช้ทางเท้าหรือไม่ โดยให้เป็นการทดลองนำร่องเพียงระยะเวลา 1 ปี เพื่อดูผลการดำเนินการก่อนว่ามีผู้ใช้บริการมากหรือน้อยอย่างไร โดยหากมีผู้ใช้บริการน้อยก็ไม่ควรทำต่อ หากมีผู้ใช้บริการมากจึงค่อยนำมาพิจารณาขยายผลต่อไป

ดูข่าวต้นฉบับ