การให้ขนมขัดฟันเป็นรางวัลแก่สุนัข อาจไม่ได้เป็นการแสดงความรักและใส่ใจต่อการดูแลช่องปากของสุนัขได้มากเท่าการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดช่องปากของสุนัขด้วยการแปรงฟันเพื่อให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี และเพื่อสังเกตความผิดปกติ หรือโรคที่อาจมาเยือน และทำให้จากไปอย่างรวดเร็ว เช่น “โรคมะเร็งช่องปากสุนัขและแมว” ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสีย เพราะเซลล์มะเร็งของโรคมะเร็งช่องปากนั้นมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันยังคงไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด
อาจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์เศกรินทร์ พลอยเพ็ชร์ อาจารย์สัตวแพทย์ประจำกลุ่มวิชาศัลยศาสตร์สัตว์เล็ก ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบการตรวจ “โรคมะเร็งช่องปากสุนัข” ด้วยวิธีโปรตีโอมิกส์ (Proteomics) และเมแทบอโลมิกส์ (Metabolomics) จากน้ำลายของสุนัขและแมว เพื่อค้นหาสารชีวภาพที่บ่งชี้โรคมะเร็งช่องปากสุนัขได้เป็นครั้งแรก
โดยเป็นผลงานที่ได้ร่วมวิจัยกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา (University of Alberta) สหพันธรัฐแคนาดา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Journal of Veterinary Internal Medicine เมื่อเร็วๆ นี้
เป็นวิธีการตรวจมะเร็งช่องปากสุนัขจากตัวอย่างน้ำลายที่สามารถทำได้ครั้งแรก ซึ่งเป็นงานวิจัยต่อยอดมาจากงานวิจัยระหว่างศึกษาปริญญาเอก โดยผู้วิจัยหวังช่วยให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเกิดโรคมะเร็งช่องปากมักเกิดกับสุนัขที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ดังนั้นงานวิจัยอาจจะช่วยให้สามารถตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งช่องปากจากสุนัขกลุ่มนี้ได้
จุดเด่นของนวัตกรรมฯ อยู่ที่การเพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว จากเดิมที่ต้องตัดเนื้องอกส่งตรวจ แต่ด้วยวิธีการตรวจจากน้ำลายสุนัข ทำให้เจ้าของสามารถเก็บส่งตรวจได้ด้วยตัวเองจากที่บ้าน ด้วยการใช้สำลีพันปลายไม้เช็ดน้ำลายที่กระพุ้งแก้มของสุนัข และนำเอาตัวอย่างน้ำลายสุนัขไปแช่ในตู้เก็บความเย็น สามารถเก็บรักษาได้นานประมาณ 24-48 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส
การรักษาสุนัขที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งช่องปาก แม้การผ่าตัดจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในปัจจุบัน แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงหากตรวจพบมะเร็งในระยะที่มีขนาดใหญ่แล้ว ดังนั้นการตรวจพบโรคมะเร็งช่องปากสุนัขตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายลงได้เป็นจำนวนมาก
ดังนั้นหากสุนัขได้รับการดูแลช่องปากด้วยการหมั่นแปรงฟันตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติ หรือโรคมะเร็งช่องปากสุนัขได้อย่างรวดเร็ว โอกาสที่เจอโรคมะเร็งในระยะรุนแรงก็จะลดน้อยลง
สุนัขสายพันธุ์กลุ่มเสี่ยง
จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า สุนัขสายพันธุ์ต่อไปนี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากสูง
- ค็อกเกอร์ สแปเนียล (Cocker Spaniel)
- โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever)
- ปอมเมอเรเนียน (Pomeranian)
- พุดเดิ้ล (Poodle)
- สุนัขพันธุ์เล็กแบบผสม (Mixed Breed)
มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งช่องปากได้มากกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่น ดังนั้นสุนัขเหล่านี้จึงควรได้รับการดูแลและใส่ใจเรื่องสุขภาพช่องปากเป็นพิเศษ
วิธีแปรงฟันสุนัขและแมวที่ถูกต้อง
อาจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์เศกรินทร์ พลอยเพ็ชร์ ได้แนะนำวิธีการแปรงฟันที่ถูกวิธีสำหรับสุนัขและแมวไว้ดังนี้
- ควรใช้ยาสีฟันที่ใช้โดยเฉพาะสำหรับสุนัขและแมว
- ไม่ควรใช้ยาสีฟันของคน เพราะฟลูออไรด์และไซลิทอลที่อยู่ในยาสีฟันของคน อาจเป็นพิษต่อสุนัขและแมว ทำให้เกิดอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- นอกจากนี้ แปรงแบบปลอกนิ้วอาจไม่เหมาะสมในสุนัขพันธุ์เล็กและแมว เพราะขนาดที่ไม่พอดีกับช่องปาก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเหงือกสุนัขและแมว
- ควรใช้แปรงสีฟันสำหรับสุนัขและแมวที่มีขนาดเหมาะสมแทน เพื่อให้สามารถแปรงฟันสุนัขและแมวได้อย่างทั่วถึง
อาการมะเร็งช่องปากในสุนัขและแมว
หากพบความผิดปกติในสุนัขและแมว เช่น
- อาการอักเสบของเหงือก
- มีกลิ่นผิดปกติภายในช่องปาก
- มีเลือดและน้ำลายออกมากกว่าปกติ
- พบก้อนเนื้อในช่องปาก
- รูปทรงหน้าบิดเบี้ยว ฯลฯ
หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำส่งสัตวแพทย์ ซึ่งหากปล่อยไว้จนก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้นจนขวางลำคอ จะทำให้สุนัขกินอาหารไม่ได้ และอาจถึงแก่ชีวิตได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม
คาดว่าในอนาคตวงการสัตวแพทย์จะได้ใช้แถบตรวจโรคมะเร็งช่องปากจากน้ำลายสุนัข (Saliva Test Kit) ที่สามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนขยายผลสู่การพัฒนายาและวัคซีนเพื่อยื้อชีวิตสุนัขและแมวจากโรคมะเร็งช่องปากต่อไป.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ม.มหิดล ตรวจมะเร็งช่องปากสุนัขด้วยน้ำลายได้ครั้งแรก
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath