ไลฟ์สไตล์

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระราชินีที่แข็งแรงและแข็งแกร่งที่สุด

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 01 มิ.ย. เวลา 14.06 น. • เผยแพร่ 03 มิ.ย. เวลา 13.25 น.

วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2567 วันมหามงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร์ ทรงพระวิริยะอุตสาหะ ทรงเป็นพระราชินีที่เป็นทหาร ทรงผ่านหลักสูตรการฝึก ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงและแข็งแกร่งเป็นที่ประจักษ์ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

โปรดเกล้าฯ เผยแพร่พระราชประวัติอบรมด้านการบิน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ย้อนกลับไปวันที่ 2 มิถุนายน 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2562 ด้านหลักสูตรการอบรมด้านการบิน

ทรงสำเร็จการฝึกและศึกษาตามหลักสูตรการบินของหน่วยฝึกการบินพลเรือน กองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ทรงทำการบินกับเครื่องบินแบบ Cessna T 41

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทรงสำเร็จการฝึกและศึกษาตามหลักสูตรศิษย์การบินทหารบกอากาศยานปีกติดลำตัว ชั้นมัธยม ของโรงเรียนการบินทหารบก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554 ทรงทำการบินกับเครื่องบินแบบ Cessna T 41

ทรงสำเร็จการฝึกและศึกษาตามหลักสูตรการบินของโรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ทรงทำการบินกับเครื่องบิน แบบ CT-4E และ PC-9

เสด็จฯไปทรงฝึกและศึกษาการบินเพิ่มเติม ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทรงผ่านการทดสอบและได้รับใบอนุญาตนักบินของสหภาพยุโรป ออกใบอนุญาตโดยสำนักงานการบินพลเรือน แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ใบอนุญาตนักบินส่วนบุคคล PPL(A) ทรงทำการบินกับเครื่องบินแบบ Cessna 172, Mooney M-20, Piper PA-34 Seneca ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี CPL(A) โดยมี Type Rating ของเครื่องบินแบบ Boeing 737 300-900 และใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก (ATPL-Theory)

ทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ปัจจุบันทรงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนักบินผู้ช่วย ทำการบินกับเครื่องบินพระราชพาหนะ Boeing 737-400 และ Boeing 737-800

ในหลวง-พระราชินี ทรงจักรยานเปิดสนามลู่ปั่นจักรยาน

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีสุทิดา เสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นพิธีทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดสนามลู่ปั่นจักรยาน “เจริญสุขมงคลจิต” บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ย่านบางพลี

ทั้งสองพระองค์ทรงจักรยานตามเส้นทางสนามลู่ปั่นจักรยาน “เจริญสุขมงคลจิต” ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร ตามพระราชอัธยาศัย โดยมีคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยกลุ่มผู้บริหารจากบริษัทที่สนับสนุนสนามปั่น กลุ่มนักปั่นจักรยาน SCB และ AOT จำนวน 450 คน ร่วมปั่นในขบวน

ทรงร่วมกิจกรรม “วิ่งเฉลิมพระเกียรติ CIB RUN”

วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2566 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน (เป็นการส่วนพระองค์) ไปทรงร่วมกิจกรรม “วิ่งเฉลิมพระเกียรติ CIB RUN เคียงข้างประชาชน” ณ สนามลู่ปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมี พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเฝ้าฯรับเสด็จ

การนี้ทรงร่วมวิ่งในระยะทาง 10 กิโลเมตร ใช้เวลา 61 นาที 45 วินาที จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้ กิจกรรม “วิ่งเฉลิมพระเกียรติ CIB RUN เคียงข้างประชาชน” ตำรวจสอบสวนกลาง CIB ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานเอกชน จัดงานวิ่งเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมมอบของขวัญส่งเสริมสุขภาพส่งท้ายปีให้กับประชาชน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักวิ่งได้ชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ท้าความฟิตวิ่งเคียงข้างโดยมีระยะทางวิ่ง 1.5 กิโลเมตร, วิ่งระยะ 4.5 กิโลเมตร, วิ่งระยะ 20 กิโลเมตร และวิ่งระยะ 23 กิโลเมตร

ทรงร่วมแข่งทีมเรือใบ ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เข้าร่วมการแข่งขันในทีมเรือใบ รุ่นไออาร์ซี ซีโร (IRC Zero) หมายเลขเรือ THA72 ณ หาดกะตะ ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยเรือ THA72 สามารถเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 ในการแข่งขันทั้ง 2 รอบ

เมื่อเสด็จถึงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จากนั้นเสด็จไปโรงแรมบียอนด์ กะตะ เพื่อประทับเรือ RIB เสด็จไปยังเรือใบ THA72 และทรงร่วมการแข่งขันในทีมเรือใบ รุ่นไออาร์ซี ซีโร (IRC Zero) ใช้เวลาแข่งขันประมาณ 2 ชั่วโมง 50 นาที

เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน ทรงประทับเรือ RIB ไปชายหาดกะตะ และเสด็จไปที่ฉายพระฉายาลักษณ์ ณ บริเวณชายหาดของโรงแรม เพื่อทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะนักกีฬาเรือใบ THA72 และคณะทำงานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า

หลังจากนั้น เสด็จไปห้องประทับรับรองและทรงประทับพักพระราชอิริยาบถตามพระราชอัธยาศัย ในเวลา 15.00 น. ของวันเดียวกัน เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีมอบถ้วยรางวัลพระราชทานแก่ผู้ชนะการแข่งขันเรือใบนานาชาติภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566

ทรงจักรยาน BMX อย่างปราดเปรียว

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จฯ ออกจากสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว พระลานพระราชวังดุสิต ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว สนามกีฬาโรงเรียนพิบูลธรรมเวทวิทยา อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เพื่อไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์นครไชยบวร ณ วัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน) อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร

และทรงเปิดโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และทรงเปิดสนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข” ณ บริเวณโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

การนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ชุดทรงจักรยาน BMX แล้วเสด็จฯ ออกจากห้องประทับรับรอง ไปยังพลับพลา ประทับพระราชอาสน์ โดย พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กราบบังคมทูลรายงาน และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงปั่นจักรยาน BMX

จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ออกจากพลับพลาพิธีไปยังสนามจักรยาน BMX ทรงจักรยาน BMX ตามพระราชอัธยาศัย การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจักรยาน BMX อย่างสนพระราชหฤทัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ชุดทรงจักรยาน เสด็จพระราชดำเนินไปยังลู่ปั่นจักรยาน ทรงบีบแตรสัญญาณปล่อยจักรยานในสนามจักรยานเป็นปฐมฤกษ์ แล้วทรงจักรยานร่วมกับคณะกรรมการโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติฯ ข้าราชการและประชาชนจังหวัดพิจิตร รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ด้วยระยะทาง 1 รอบสนาม หรือ 10.28 กิโลเมตร ทรงใช้ระยะเวลาทำการปั่น 32 นาที 46 วินาที

เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการสาธิตการปั่นจักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็ก ณ สนามจักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็ก (Balance Bike) ซึ่งมีความปลอดภัยสูง เหมาะสำหรับเด็กอายุระหว่าง 1-6 ปี สามารถขึ้นลงเนินได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีทางเรียบสำหรับเด็กที่ยังขาดความมั่นใจการขี่จักรยานเพื่อฝึกฝนเบื้องต้นด้วย และทอดพระเนตรสนามปั๊มแทร็ก (Pumptrack) ซึ่งเป็นสนามที่สามารถรองรับกีฬาได้หลากหลายชนิด เช่น จักรยานและสเกตบอร์ด เพื่อใช้ฝึกทักษะต่อยอดกีฬาในระดับสูงต่อไป

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระราชินีที่แข็งแรงและแข็งแกร่งที่สุด

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 9
  • Mew
    ทรงพระเจริญ🇹🇭
    01 มิ.ย. เวลา 15.23 น.
  • ผศ.บุญธรรม
    ขอพระองค์ท่าน ทรงพระเจริญ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงเป็นที่รักเป็นมิ่งขวัญ ของปวงชนชาวไทย ตลอดไป
    02 มิ.ย. เวลา 08.36 น.
  • วิชิต
    ทรงพระเจริญ
    03 มิ.ย. เวลา 21.51 น.
  • FHA SAI สุขๆทุกๆวัน❤️
    ปลื้มปิติ ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระเจริญ🙏💜💜❤️❤️
    04 มิ.ย. เวลา 02.45 น.
  • ☆ Mookmik「Tablet」☆
    ก็รุ่นเดียวกับองค์ภา ไม่แข็งแรงยังไงก่อน!!
    02 มิ.ย. เวลา 04.43 น.
ดูทั้งหมด